ส.นักข่าวต่างชาติผิดหวังแนวทางต่อวีซ่า ชี้ภาพสะท้อนบัวแก้วได้รับผลกระทบเอง

สัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศออกประกาศแนวทางการพิจารณาตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M หรือ “วีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติ” แก่สื่อมวลชนต่างประเทศโดยให้เหตุผลว่าป้องกันการหาประโยชน์จากการประกอบอาชีพอื่นแอบแฝง หรือใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรประจำตัวสื่อมวลชน ประกาศนี้ส่งผลกระทบและสร้างความกังวลแก่สื่อมวลชนต่างประเทศในไทย

ทีมข่าวสัมภาษณ์นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาชีพของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในไทยมานาน นายโจนาธาน ระบุว่า กังวลมากเกี่ยวกับผลกระทบจากประกาศของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทางการบอกว่ามีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกลุ่มที่พวกเขาคิดว่าไม่เหมาะสมต่อการทำหน้าที่รายงานข่าว

โจนาธาน ชี้แจงว่า กลุ่มสื่อโต้แย้งว่าสื่อสารมวลชนเปลี่ยนแปลงไปมาก ตอนนี้มีผู้ทำงานแบบอิสระมากกว่าที่ผ่านมา แทบทุกคนที่ทำด้านนี้ไม่ได้ทำงานกับบริษัทใหญ่แค่รูปแบบเดียวเท่านั้น ผู้สื่อข่าวที่ตกอยู่ในกลุ่มเป้าหมายกลับเป็นช่างภาพอิสระ หรือนักเขียนอิสระ บางครั้งก็เป็นนักข่าวที่ทำงานลักษณะที่ต้องย้ายพื้นที่ไปเรื่อยๆ

“บางคนทำงานในไทยมานาน แต่ตอนนี้พวกเขาถูกบอกว่าจะไม่ได้รับการต่อวีซ่า และมีเวลาสั้นมากที่จะหาวีซ่าแบบทางเลือกอื่นๆ ในมุมมองของผม เชื่อว่ากฎระเบียบเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายที่ผิดพลาด พวกเขาไม่ควรลดจำนวนผู้สื่อข่าวลง แต่ควรภูมิใจที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมากมองว่าไทยเป็นพื้นที่ที่ดีมากสำหรับการตั้งฐานการทำงานแม้ว่าจะมีรัฐบาลทหารก็ตาม ไทยยังเป็นศูนย์กลางของสื่อสารมวลชนในภูมิภาคซึ่งพวกเขาควรภูมิใจและพิจารณาถึงกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตในประเทศไทย ถ้ากลุ่มที่ทำงานแบบอิสระมีรายได้ไม่มั่นคงนัก ชีวิตของพวกเขาก็ยากลำบากอยู่แล้ว ตอนนี้คงมีเรื่องที่ทำให้ลำบากมากขึ้นอีก” นายโจนาธาน กล่าว

Advertisement

สื่อมวลชนต่างชาติมากประสบการณ์อธิบายต่อว่า กลุ่มสื่อยอมรับว่าผู้สื่อข่าวที่ผ่านกระบวนการ “ตรวจสอบ” แล้วจะได้รับวีซ่า และยินดีมากที่จะร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศตามระเบียบเพื่อให้สื่อมวลชนที่เหมาะสมได้รับวีซ่า แต่รู้สึกว่าการเลือกกลุ่มเฉพาะที่พวกเขาคิดว่าไม่ใช่สื่อมวลชนแต่ยังทำงานด้านสื่ออยู่เป็นกระบวนการที่ไม่เหมาะสมนัก

เมื่อถามว่ามองนโยบายนี้ว่ามีวาระบางอย่างหรือไม่ นายโจนาธาน ระบุว่า ไม่มั่นใจว่าวาระของนโยบายครั้งนี้คืออะไร แต่กระทรวงการต่างประเทศให้สัญญาว่าไม่ใช่การคัดกรองสื่อ และนี่เป็นกระบวนการบริหารจัดการแบบฉบับของพวกเขาเพื่อลดจำนวนสื่อที่ยังมีวีซ่าซึ่งต้องผ่านกระบวนการ โดยมีขั้นตอนต้องทำอีกหลายอย่าง รัฐบาลทหารต้องบริหารจัดการมากมายและไม่สามารถบริหารจัดการวีซ่าได้

“แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศออกมาบอกว่าต้องการตั้งเป้าหมายไปที่สื่อมวลชนซึ่งรายงานข่าว ‘ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด’ นั่นสื่อให้เห็นว่าพวกเขาต้องการพุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชนกลุ่มที่ทำงานวิพากษ์วิจารณ์ จนถึงตอนนี้สื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่กลุ่มที่ทำงานด้านการเมืองในกระแสหลัก แต่เป็นสื่อมวลชนที่ทำงานอื่นๆ เช่น ช่างภาพอิสระ

Advertisement

จากสิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาพุ่งเป้าหมายสื่อมวลชนที่ทำงานเชิงวิจารณ์ แต่ข้อความที่เราได้รับกลับหลากหลาย และเราในฐานะสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทยรู้สึกว่าไม่ใช่เป้าหมายที่ถูกต้อง

การพยายามจัดประเภทคนทำงานในกลุ่มที่อยู่นอกเหนือสายงานสื่อ เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติในโลกสมัยใหม่ซึ่งอุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนแปลงไป มีคนทำงานมากมาย หลายคนที่ไม่มีสังกัดก็ทำงานด้านสื่ออยู่” นายโจนาธาน กล่าว

โจนาธาน เล่าว่า หลังจากโต้แย้งไป สมาคมรู้สึกยินดีที่ทางการอยากหารือกับสมาคมฯซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวก พวกเขายังรับฟัง แต่ยังรู้สึกผิดหวังเล็กๆกับระเบียบเบื้องต้น มันทำให้สื่อมวลชนวิตกกังวล มันเป็นเรื่องไม่จำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งคนทำหน้าที่สื่อทั้งที่พวกเขาทำงานด้านนี้อยู่แล้ว ในมุมมองส่วนตัวมองว่ากระบวนการนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์มากนัก

“ถ้าพูดตรงๆ เรื่องนี้สร้างความเสียหายต่อกระทรวงการต่างประเทศมากกว่าตัวสื่อด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้รับรู้มุมมองความคิดของพวกเขาต่อสื่อทั้งที่บอกเราว่าพวกเขาไม่ได้มองแบบนั้น อย่างไรก็ตาม เรายังรู้สึกดีใจว่าพวกเขาอยากพูดคุยกับเราซึ่งถือว่าสถานการณ์คืบหน้าไปในเชิงบวก”

สำหรับแนวทางแก้ไข โจนาธานกล่าวว่า สมาคมฯพยายามแนะนำสื่อมวลชนเพื่อหาทางเลือก แต่ปัญหาที่พบคือขั้นตอนยังไม่ชัดเจน กระทรวงการต่างประเทศแนะว่าสามารถขอวีซ่าแบบบี หรือแบบธุรกิจได้ แต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่ามีอะไรที่จำเป็นต้องใช้บ้าง บางครั้งวีซ่าแบบบีต้องใช้เอกสารมากกว่า ขณะที่สื่ออยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีกระบวนการอื่นสำหรับสื่อมวลชนที่ไม่ได้ถูกรับรองให้ได้รับวีซ่าแบบอื่นหรือไม่ และเชื่อว่าอาจแก้ปัญหาได้ แต่ยังไม่เชื่อว่าการตัดลดจำนวนวีซ่าแบบเฉพาะกลุ่มเป็นเรื่องจำเป็น เพราะท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยควรภูมิใจกับจำนวนคนที่ทำงานด้านสื่อในประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนแง่มุมบางอย่างในประเทศได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image