จาตุรนต์ซัด กม.พรรคฯ ทำลายพรรคการเมือง ออกแบบมารองรับคนนอกเป็นนายกฯ

‘จาตุรนต์’สับ กม.พรรคการเมืองจะทำลายบทบาทของพรรคการเมือง-ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอลง ชี้ระบบอย่างนี้เหมาะกับรัฐบาลที่มีคนนอกเป็นนายกฯ

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง กฎหมายพรรคการเมือง แท้จริงแล้วต้องการอะไร ว่าที่ สนช.กำลังแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เกี่ยวกับค่าสมาชิกก็ดี ทุนประเดิมพรรคก็ดีนั้น ดูเผินๆ ก็เหมือนกับว่า สนช.จะรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง แต่จริงๆ แล้วประเด็นที่จะแก้ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย เรื่องสำคัญที่ยังคงอยู่และเป็นปัญหาใหญ่ คือ การกำหนดเงื่อนไขสำหรับการประกาศนโยบายต่างๆ การให้กรรมการบริหารพรรครับผิดกรณีสมาชิกพรรคทำผิดกฎหมาย และการให้น้ำหนักกับสมาชิกพรรคและสาขาพรรคในการกำหนดผู้สมัครหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งโดยรวมแล้ว จะทำให้พรรคการเมืองหาสมาชิกได้ยากพร้อมๆ กับไม่ประสงค์จะให้มีสมาชิกมากๆ ทำให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีสมาชิกน้อยและไม่เป็นพรรคของมวลชน พรรคเล็กๆ และพรรคใหม่เกิดยากและอยู่ยาก นอกจากนี้ จะเกิดปัญหาในการบริหารพรรคการเมือง อาจเกิดความขัดแย้งภายในพรรคจนไม่เป็นอันทำงาน และที่สำคัญมาก คือ บทบาทพรรคการเมืองในการรวบรวมความต้องการของประชาชนมาสังเคราะห์เป็นนโยบาย เพื่อเสนอให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งและเอาไปกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล จะลดน้อยลงหรือหายไป

นายจาตุรนต์ระบุอีกว่า การกำหนดให้กรรมการบริหารต้องรับผิดต่อการทำผิดกฎหมายของสมาชิกนั้น เป็นการผิดธรรมชาติและไม่มีองค์กรอื่นทำกัน พรรคการเมืองไม่มีและไม่ควรมีอำนาจตามกฎหมายที่จะจัดการกับสมาชิกพรรค ในกรณีที่สมาชิกพรรคไปทำผิดกฎหมายบ้านเมือง นอกจากการให้พ้นสมาชิกภาพ แต่กรรมการบริหารกลับต้องรับผิดเมื่อสมาชิกทำผิดกฎหมาย เหมือนกับทหารคนหนึ่งไปทำผิดกฎมายแล้วให้ ผบ.ทบ.ต้องรับผิดไปด้วย หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทำผิดกฎหมายแล้วให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรับผิดไปด้วย การให้สมาชิกและสาขาพรรคมีอำนาจบทบาทในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ นั้น อาจจะเหมาะสำหรับระบบที่ต้องการให้พรรคการเมืองอาศัยสมาชิกจำนวนมากๆ เคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา แต่เมื่อกฎหมายพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งถึงขั้นบังคับว่า พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การให้น้ำหนักสาขาและสมาชิกในการกำหนดผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับจะทำให้ขัดแย้งกับประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค อาจจะเกิดกรณีที่สาขาพรรคและสมาชิกพรรคจำนวนไม่กี่คนต้องการคนที่ตนคุ้นเคยหรือนิยม แต่ประชาชนในเขตนั้นหรือจังหวัดนั้นไม่ชอบเลย ขณะที่กรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. หรือรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งต้องการให้ได้ ส.ส.มากๆ อาจจะทำโพลสอบถามประชาชนทั้งเขตเลือกตั้ง และพบว่าประชาชนนิยมคนที่สมาชิกไม่ได้เสนอ ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งในพรรคและทำให้พรรคไม่เป็นที่นิยมของประชาชนก็ได้

“สำหรับการกำหนดเงื่อนไขในการประกาศนโยบายที่จะต้องใช้เงินตามมาตรา 51 นั้น จะทำให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดในการเสนอนโยบายอย่างมาก นโยบายหลายๆ อย่างเวลาจะนำไปปฏิบัติจะต้องมีการวางแผนบริหารงานและจะต้องเข้าสู่กระบวนการจัดทำคำขอและการอนุมัติงบประมาณที่ต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการนั้นๆ และความเป็นไปได้ในการจัดสรรทรัพยากรในภาพรวมทั้งโดยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แล้ว การกำหนดให้พรรคการเมืองคำนวณความคุ้มค่าและแจกแจงแหล่งที่มาของงบประมาณและรายละเอียดของแต่ละโครงการจึงไม่สอดคล้องกับการบริหารงานที่เป็นจริง และยิ่งให้ กกต.เป็นผู้ตัดสินว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ก็จะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น การเสนอนโยบายจำนวนมากที่ต้องใช้เงิน อาจทำไม่ได้หรือไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายหรือทิศทางที่ดีและเป็นประโยชน์ โดยรวมแล้วร่างกฎหมายพรรคการเมืองนี้ จะทำลายบทบาทของพรรคการเมืองทั้งหลายและทำให้ระบบพรรคการเมืองซึ่งเป็นกลไกสำคัญของระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยอ่อนแอลงอย่างมาก ระบบอย่างนี้เหมาะกับรัฐบาลที่มีคนนอกเป็นนายกฯ ซึ่งนโยบายต่างๆ จะถูกกำหนดโดยข้าราชการประจำที่จะทำตามนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลักโดยไม่ต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชน แต่ถ้านายกฯมาจากการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลขึ้น พรรคการเมืองจะต้องสาละวนอยู่กับปัญหากฎหมายและความขัดแย้งในพรรค ที่สำคัญจะไม่สามารถกำหนดนโยบายตามที่สัญญากับประชาชนไว้ เนื่องจากกระบวนการที่พรรคการเมืองประกาศนโยบายต่อประชาชนแข่งกันจะถูกขัดขวางตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งแล้ว” นายจาตุรนต์ระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image