ศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก ตู่-จตุพร 6เดือน กล่าวหาอภิสิทธิ์ฆ่าประชาชน(คลิป)

ศาลฎีกายืนรอลงอาญา 2 ปี “จตุพร” หมิ่นฯ “อภิสิทธิ์” กล่าวหาสั่งฆ่าประชาชน

เมี่อเวลา 10.00 น.วันที่ 2 มีนาคม ที่ห้องพิจารณา 710 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ อ.1008/2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา

โดยโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 – 15 กุมภาพันธ์ 2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้กล่าวปราศรัยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ด้วยเครื่องกระจายเสียง ต่อหน้าประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับฟังและชมโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล ที่มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ทำนองว่า โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี ที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังว่า โจทก์เป็นคนมีจิตใจโหดเหี้ยม สั่งฆ่าประชาชน หนีทหาร เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326, 332 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า ที่โจทก์หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารนั้น พยานเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจน ขัดแย้งกันในบางส่วน ถือว่าจำเลยติชมด้วยความสุจริต เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามความเหมาะสม

Advertisement

ส่วนที่จำเลยปราศรัยว่า โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีสั่งปราบปรามและฆ่าประชาชน เห็นว่า จำเลย มีเจตนาเพื่อยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ได้ติชมด้วยความสุจริตใจ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 7 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย

ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า ประเด็นที่นายจตุพร จำเลยปราศรัยว่านายอภิสิทธิ์ โจทก์หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร เพราะจำเลยเชื่อข้อมูลผลการสอบสวนของจเรทหารบก เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารและการสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยฯ ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการ แม้ภายหลังโจทก์จะชี้แจงแล้วว่าได้ผ่อนผันทหารพร้อมมีหลักฐานประกอบ แต่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ไปดำเนินการเพื่อแก้ไขรายงานผลการสอบสวนให้ถูกต้อง นอกจากนี้ในช่วงเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านได้ตั้งกระทู้ถามในรัฐสภา เพื่อตรวจสอบโจทก์ในประเด็นดังกล่าว ในฐานะที่เป็นนักการเมืองเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทให้ยกฟ้อง

ส่วนประเด็นที่จำเลยปราศรัย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ระบุว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โจทก์มีการวางแผนจัดตั้งมวลชนมาปะทะกับคนเสื้อแดงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการล้อมปราบคนเสื้อแดงนั้น ในชั้นพิจารณาจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่ามีการประชุมวางแผนดังกล่าวและภายหลังก็ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ซึ่งคำปราศรัยดังกล่าวเกินเลยจากความเป็นจริงก็เพื่อให้มวลชนเสื้อแดงที่ชุมนุมเชื่อถือจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

Advertisement

นายจตุพร ประธานนปช. กล่าวภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ขอขอบคุณศาลที่เมตตา ซึ่งศาลได้ยกฟ้องกรณีที่ตนกล่าวหานายอภิสิทธิ์เรื่องหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ส่วนที่ตนพูดเรื่องปราบปรามประชาชนศาลก็ได้ลงโทษจำคุก 6 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ โดยคดีที่ตนถูกนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาท ขณะนี้มีทั้งหมด 6 กรณี ที่ปรากฏอยู่ใน 4 สำนวน และคดีส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์และฎีกา มีทั้งยกฟ้องและให้รอการลงโทษ มีอยู่เพียง 1 คดีที่ศาลไม่รอการลงโทษ ซึ่งคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

นายจตุพร ยังกล่าวถึงกรณีที่พระพุทธะอิสระยื่นหนังสือให้อัยการยื่นคำร้องถอนประกันในคดีก่อการร้าย ว่า ตนได้ปรึกษาทนายความแล้วคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า จะเดินทางไปยื่นคัดค้านคำร้องที่พระพุทธะอิสระขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวของตนในคดีก่อการร้ายปี 2553 ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่มีความกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิของตนที่แสดงความคิดเห็น และตนไม่ได้พูดว่าพระพุทธะอิสระต้องปาราชิก เพราะตนไม่ได้ให้ความนับถือและไม่ได้มองพุทธะอิสระเป็นพระอยู่แล้ว และก็ไม่เคยเห็นพระที่ไหนไปเปิดโรงแรมพร้อมเรียกเอาค่าเสียหายจากโรงแรม

นายจตุพรกล่าวอีกว่า ในวันที่ตนไปยื่นค้านคำร้องของพุทธะอิสระนั้น ตนจะทำหนังสือสอบถามความคืบหน้าในคดีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอส่งความเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยกว่า 50 คน ไปยังพนักงานอัยการ โดยมีการส่งตัวผู้ต้องหาไปให้พนักงานอัยการแล้ว 30 กว่าคน แต่ที่ผ่านมาอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลไปเพียง 4 คน จึงอยากทำหนังสือสอบถามอัยการว่าผู้ต้องหาที่เหลือ เหตุใดจึงยังไม่ส่งฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล ทั้งนี้พระพุทธะอิสระเองก็มีคดีความเกี่ยวกับการชุมนุมถึง 9 คดี ซึ่งมีคดีที่มีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต และจำเลยทั้ง 4 คนที่อัยการส่งตัวฟ้องไปก่อนหน้านั้นก็เป็นกลุ่มผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน ตนแค่อยากได้ความเป็นธรรม อย่างคดีก่อการร้ายของกลุ่มนปช.ตนก็ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุก ก่อนได้ประกันตัว แต่อีกฝ่ายกลับยังไม่ถูกดำเนินคดีความแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image