นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยออกกฏหมายมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช 2505 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราช ว่าด้วยหน่วยงานใดมีอำนาจเสนอชื่อ แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช โดยมี นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้รับเรื่อง
นายไพบูลย์กล่าวว่า จากกรณีที่มหาเถระสมาคมมีการจัดประชุมลับในวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา และรับรองมติในวันที่ 11 มกราคม ต่อมาสำนักงานพระพุทธศาสนาได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้เรื่องยังอยู่ที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ตนมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว น่าจะขัดต่อบทบัญญัติของมาตรา 7 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ ให้มหาเถระสมาคมให้ความเห็นชอบ โดยความเห็นชอบของมหาเถระสมาคม ให้เสนอนามของสมเด็จราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุด ซึ่งหมายความอย่างชัดเจนว่า มหาเถระสมาคมเป็นผู้ที่ต้องให้ความเห็นชอบ โดยจะต้องมีผู้ที่มาเสนอเรื่องเข้ามา จะยกเรื่องขึ้นมาเห็นชอบเองไม่ได้ ซึ่งในที่นี้ชัดเจนว่าจะต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มเสนอนามให้มหาเถระสมาคมเห็นชอบ เมื่อตัวบทมี ความชัดเจน จะตีความกฎหมายเป็นอย่างอื่น เช่นยกประเพณีขึ้นมาอ้างไม่ได้ ต้องทำตามกฏหมาย ซึ่งหากการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายผลของมติมหาเถระสมาคม ในวันที่ 5 เป็นโมฆะ ถ้าจะให้ดำเนินการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจะต้องเริ่มต้นในขั้นตอนใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ริเริ่ม
อย่างไรก็ตามประเทศดังกล่าวยังมีข้อโต้แย้งจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีการวินิจฉัย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในการวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐในการปฎิบัติหน้าที่
นอกจากนี้เพื่อไม่ให้เดินดังกล่าวสร้างความเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่ตนจึงได้ทำสำเนสหนังสือ ที่ได้ยื่นต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิ ถึงนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาโดยตรง และขอให้ชะลอการดำเนินการ ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาส่งมาออกไปก่อน จนกว่าคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะได้ข้อยุติ
ด้านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไป ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะต้องพิจารณาว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ คือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามกฏหมายผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งหากเป็น ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะวินิจฉัยถึงการกระทำต่อไป