“ไพรมารีโหวต” ความขัดข้อง ของพรรคการเมืองไทย

หมายเหตุ – ความเห็นจากพรรคการเมืองต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในประเด็นการส่งผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรค จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่าไพรมารีโหวต ส่วนผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดพิจารณาด้วย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

กฎหมายพรรคการเมืองที่พิจารณาใน สนช. ทั้งเรื่องทุนประเดิมการจัดตั้งพรรค และมีค่าสมาชิกพรรคนั้น คิดว่ากฎหมายนี้เขียนโดยผู้หวังดี แต่ไม่มีประสบการณ์เรื่องพรรคการเมือง คงจะทำให้การปฏิบัติหลายเรื่องของพรรคการเมืองยุ่งยาก แต่พูดนี่ไม่ได้หมายถึงเป็นปัญหากับพรรค แต่ห่วงความยุ่งยากซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียโอกาสในหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อกฎหมายออกมาก็ต้องปฏิบัติตามนั้น

จะยกตัวอย่างคือเรื่องการจัดระบบบัญชีรายชื่อ ขอให้เป็นเรื่องที่สมาชิกพรรค สาขาพรรค ลงคะแนนแล้วเรียงลำดับ โดยบอกว่านี่เป็นวิธีการให้เกิดการมีส่วนร่วม ที่ผมกลัวที่สุดตัวนี้ก็คือ คนใหม่จะเข้าการเมืองช่องทางนี้แทบไม่ได้เลย สมมุติผมรู้สึกว่ามีคนที่หน่วยก้านดี คนดัง จะชวนเข้าพรรคจำนวน 2 คน ท่านทั้งสองคนอาจจะบอกว่าไม่ถนัดถ้าให้ไปลง ส.ส. เขต แต่ถ้าจะให้ลงบัญชีรายชื่อ สิ่งแรกที่ทั้งสองคนจะถามผมก็คือ ให้อยู่ลำดับที่เท่าไร ถ้าผมบอกว่าอยู่ลำดับที่ 100 ทั้งสองคนก็อาจบอกว่าไม่เอา แต่ถ้าให้อยู่ลำดับที่ 30 ทั้งสองคนอาจจะบอกว่าสนใจ หรือเอาด้วยแน่นอน

Advertisement

แต่วันนี้คำตอบที่ผมจะให้กับทั้งสองคนก็คือว่า ต้องให้สาขาพรรคไปลงคะแนน แล้วสาขาพรรคจะรู้จัก 2 คนดีเท่ากับที่คนในพรรครู้จักหรือไม่ แล้วจะไปอยู่ลำดับที่เท่าไร เมื่อเป็นอย่างนี้ผมจะไปหาคนใหม่ๆ เข้ามาอย่างไร จึงน่าเสียดายตรงนี้

ในแง่ของหวังดีก็คือ ผู้ยกร่างมองว่าไม่ต้องการให้กรรมการบริหารพรรคไปครอบงำกำหนดทุกอย่าง ทำไมไม่ให้สมาชิกมีส่วนร่วม แต่ความจริงเมื่อไปดูในระบบสากล จะพบว่าทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จริงอยู่บางเรื่องให้สมาชิกมีส่วนร่วม แต่บางเรื่องก็เปิดโอกาสให้กรรมการบริหาร ต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงานบ้าง

ผมยังเคยยกตัวอย่างเมื่อปี 2547 ได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ช่วยหาคนมาลงสมัครผู้ว่าฯกทม. โดยตัดสินใจเลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เข้ามา กรรมการบริหารก็เห็นชอบ แต่จำได้ว่าวันที่ผมเลือกนายอภิรักษ์ สาขาพรรคทั้งกรุงเทพฯ โทรมาต่อว่าบอกว่าไม่รู้จัก ไปเอาใครมา จึงได้นึกว่าถ้าระบบนี้ถูกใช้ตั้งแต่วันนั้น ก็จะไม่มีโอกาสได้คนอย่างนายอภิรักษ์เข้ามาสู่การเมือง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ได้ ต้องหาวิธีบริหารจัดการกันไป เพียงแต่คงจะยุ่งยากหน่อย แต่ไม่เป็นไร ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจากผู้ได้รับเลือกจากสาขาพรรคประจำจังหวัด (ไพรมารีโหวต) เหมาะสมกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่องและพัฒนามาโดยตลอด ถือเป็นระบบที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่สำหรับประเทศไทยพอประชาชนเริ่มเข้าใจระบบ ก็เกิดการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง สุดท้ายมาเลือกระบบไพรมารีโหวต ทั้งที่ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่อนุญาตให้นักการเมืองประชุมหารือกัน แล้วจะให้พรรคการเมืองเอาเวลาที่ไหนไปเตรียมตัว เพราะการเลือกระบบนี้ไม่ใช่จะจัดการได้ภายใน 1-2 วัน เหมือนกับต้องให้พรรคเริ่มนับหนึ่งใหม่ อีกทั้งการหาสมาชิกลงสมัครในแต่ละเขตก็ยังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ นี่ถือเป็นข้อจำกัด

ถามว่าระบบนี้ดีหรือไม่ ต้องบอกว่าดี แต่ยังไม่เข้ากับบริบททางการเมืองของไทย เพราะไพรมารีโหวตเหมาะกับประเทศที่มีประชาธิปไตยแข็งแรง นักการเมืองเตรียมพร้อมในการส่งผู้สมัคร มีการทำงานพรรคต่อเนื่อง มีเวลาหาตัวบุคคลที่เหมาะสม รวมถึงประชาชนต้องเข้าใจระบบดีด้วย

พรรคการเมืองเกิดความยุ่งยาก เพราะต้องเปลี่ยนทุกอย่าง เมื่อกฎหมายเข้ามาสู่ที่ประชุม สนช. และการแปรญัตติ คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายก็ไปเปลี่ยน ทำให้นักการเมืองปรับตัวไม่ทัน ถ้าจะใช้ระบบนี้ นักการเมืองต้องมีเวลาทำความเข้าใจและอธิบายความกับลูกพรรค รวมถึงประชาชนที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่วันนี้นักการเมืองคุยกันก็ไม่ได้ ประชาชนชุมนุมเกิน 5 คนก็ไม่ได้ ทั้งที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญผ่านสภา ก็ควรจะปลดล็อกให้พรรคทำงานได้แล้ว ต้องให้พรรคการเมืองมีเวลาหายใจและเตรียมตัวกับการเลือกตั้งได้แล้ว และอย่ามองพรรคการเมืองด้วยความหวาดระแวง เพราะอำนาจอยู่ที่ คสช.ทั้งหมด

หากออกนอกลู่นอกทางถูกมาตรา 44 จัดการอีก ในขณะที่กฎหมายออกมาใหม่ แต่พรรคทำอะไรไม่ได้เลย ลำพังจะอาศัยให้ฝ่ายรัฐบาลประชาสัมพันธ์ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

สิ่งที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ปรับเปลี่ยนไปจากร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คือการส่งผู้สมัคระบบเขตหรือระบบบัญชีรายชื่อต้องผ่านระบบไพรมารีโหวต ซึ่งเข้าใจได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตใด จะต้องมีผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้นเป็นอย่างน้อย หากพรรคการเมืองใดประสงค์จะส่งผู้สมัครให้ครบ 350 เขต ครอบคลุมทั่วประเทศ พรรคการเมืองนั้นจะต้องมีสาขาพรรคหรือหากไม่มีสาขาพรรคก็ต้องมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดครบถ้วนทั้ง 350 เขตแล้วแต่กรณี

สำหรับสาขาพรรค กฎหมายบังคับให้ต้องมีอย่างน้อยภาคละหนึ่ง สาขา โดยบังคับว่าสาขาพรรคต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 500 คน ส่วนผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยเงื่อนไขในการตั้งจะต้องมีสมาชิกพรรคเกินกว่า 100 คนขึ้นไป จึงจะตั้งผู้แทนได้ ด้วยเหตุนี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากพรรคการเมืองประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตใด จังหวัดใด อย่างแรกคงต้องสำรวจตรวจสอบจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ในเขตหรือจังหวัดนั้นๆ ว่ามีครบถ้วนตามเงื่อนไขที่จะมีสาขาพรรคหรือผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดหรือไม่

สมมุติหากเขตหรือจังหวัดนั้นมีสมาชิกเพียง 50 คน ก็ส่งผู้สมัครในเขตนั้นไม่ได้ เพราะเขตนั้นไม่สามารถมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ มองว่าคงจะสร้างความโกลาหลอลหม่านกันพอสมควรในการสำรวจตรวจสอบสมาชิกพรรคว่ามีจำนวนครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ คงต้องวิ่งหาสมาชิกพรรคกันเป็นการใหญ่ พรรคใหญ่อาจมีผลกระทบน้อยและอยู่ในวิสัยจะแสวงหาสมาชิกให้ได้ครบตามจำนวนที่กำหนด แต่พรรคเล็กหรือพรรคที่จัดตั้งใหม่อาจมีความยากลำบากอยู่พอสมควร ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าระบบเลือกตั้งระบบใหม่ ทั้งตัวระบบจัดสรรปันส่วนผสมและกฎหมายพรรคการเมืองที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพรรคการเมือง

ส่วนตัวเห็นว่าความคิดในการนำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ควรค่อยเป็นค่อยไป ในระยะแรกไม่ควรนำมาใช้แบบเต็มรูปตามที่นำเสนอ และที่วิตกกังวลคือความคิดเรื่องไพรมารีโหวตเป็นของใหม่ การจะให้สาขาหรือตัวแทนพรรคเลือกผู้สมัครมาเขตละสองคน เกรงว่าจะเกินขีดความสามารถ จะเกิดปัญหาการล็อบบี้สาขาหรือผู้แทนพรรคการเมืองกันขนานใหญ่ เพื่อให้ตัวเองได้เป็นตัวแทนพรรค อาจเกิดความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรค การลดทอนอำนาจของกรรมการบริหารพรรคไปเป็นอย่างมาก ทั้งที่กรรมการบริหารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ทั้งในการควบคุมสมาชิกพรรค และผู้สมัครของพรรคการเมือง มิให้กระทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง

ดังนั้น ควรมีบทเฉพาะกาลที่ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัว เตรียมการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น กรณีคณะกรรมาธิการเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกไม่จำเป็นต้องมีผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดนั้นๆ ให้ครบทุกเขตก็ได้

ทรงศักดิ์ ทองศรี
รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ในเรื่องไพรมารีโหวต ส่วนตัวคิดว่าในเมื่อพรรคการเมืองมีสาขาพรรคแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว ก็ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัคร ก็ไม่น่าเสียหายอะไร ประกอบกับมีสมาชิกประจำเขตแต่ละภูมิภาคต้องให้เขามีบทบาทการนำเสนอตัวแทนของเขา ในเมื่อจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วไม่มีบทบาทอะไรเลย แล้วจะไปตั้งทำไม อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดการตัดสินใจก็ต้องให้อำนาจผู้บริหารพรรคเหมือนกันด้วย

ขณะเดียวกันผมยังมองประเด็นหนึ่งว่า ผู้สมัครกับความนิยมไปคนละทางกัน โดยไปสรรหาผู้สมัครที่ไม่ใช่คนเดิม ตรงนี้แหละจะเป็นปัญหา ตามความเข้าใจของผมหากมีผู้สมัครรับการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปสรรหาใคร เลือกคนเดิมแล้วให้พรรคตัดสินใจ ไม่มีปัญหาอะไร เป็นไปตามโครงสร้างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ในแง่หลักการไม่มีปัญหาและไม่ยุ่งยากอะไร แต่อาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยทำอาจจะยุ่งยากบ้าง แต่ถ้าปฏิบัติแล้วก็ไม่ยุ่งยาก เพราะสาขาพรรคการเมืองมีสมาชิกอยู่แล้ว ก็ไปสรรหาผู้สมัครประจำจังหวัดมา ดังนั้นคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่น่ากังวลใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image