ประชาธิปไตย คือประชาชนกำหนด : เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เดือนตุลาคม 2559 จะครบกำหนด 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นิสิต นักศึกษา และประชาชนชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จัดการปัญหากรณีอดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร บวชเป็นเณร เข้ามาประเทศไทยไปจำวัด ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ระหว่างชุมนุมที่บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแสดงละครล้อเลียนการแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐมขึ้น เป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ 2 ฉบับนำภาพนั้นมาตีพิมพ์และขยายความให้เข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์หมิ่นเหม่ต่อสถาบัน

ผลที่สุด การชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่คืนวันที่ 5 ตลอดถึงเย็นวันที่ 6 มีเจ้าหน้าที่ล้อมปราบและเข้าไปจัดการกับผู้เข้าร่วมชุมนุม เป็นเหตุให้มีนิสิต นักศึกษา และประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก

กระทั่งเย็นวันเดียวกัน กำลังทหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะประกาศรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล จากนั้นแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisement

นายธานินทร์ประกาศนโยบายแผนคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนว่าต้องใช้เวลา 12 ปี เป็นแผนพัฒนาประชาธิปไตยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 โดยกำหนดเป็น 3 ระยะ

ระยะ 4 ปีแรก เป็นระยะฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศที่ทางเศรษฐกิจและการเมือง

ระยะ 4 ปีที่สอง เป็นระยะที่ประชาชนมีส่วนบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น จัดให้มีรัฐสภาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่าเทียมกัน

Advertisement

ระยะ 4 ปีที่สาม ขยายอำนาจสภาผู้แทนราษฎรขึ้น ลดอำนาจวุฒิสภาลง

ยังไม่ทันที่แผนประชาธิปไตย 12 ปีของนายธานินทร์จะเริ่มต้น ปรากฏว่าทั้งกลุ่มทหารหนุ่มและประชาชนไม่พอใจ แสดงการต่อต้านประชาธิปไตย 12 ปี ในที่สุดคณะรัฐประหารที่ประกาศตัวเป็นเปลือกหอยให้รัฐบาลนายธานินทร์ที่เป็นตัวหอย หรือ “รัฐบาลหอย” เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520

เมื่อ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 จากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกสองสามครั้ง กระทั่งเกิดความวุ่นวายจากการชุมนุมของประชาชนสองฝ่าย ทหารนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทารบก จึงเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันนี้ วันที่รัฐบาลประกาศประชาธิปไตย 5 ปี คืนอำนาจให้ประชาชนเต็มใบ ว่าอย่างนั้น เมื่อเวลาล่วงเลยมา 40 ปี

พลเอกประยุทธ์เรียกการเดินสู่ระบบเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนว่า “โรดแมป” ในระยะ 5 ปีเพื่อให้รัฐบาลเดินตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเสร็จสิ้นจัดการส่งให้ประชาชนพิจารณาตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ก่อนลงประชามติ 31 กรกฎาคม 2559 และให้มีการเลือกตั้งกลางปี 2560

โดยรัฐบาลรัฐประหารเชื่อว่าประชาธิปไตยต้องเป็นไปตามกำหนด และหวังว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ และลืมไปว่าความเป็นประชาธิปไตยมิใช่ใครจะกำหนดขึ้นได้โดยง่าย หากประชาชนไม่ยอมรับการประกาศให้เป็นประชาธิปไตยจากกระบอกปืน

แต่ประชาชนเชื่อว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดจากเสียงของประชาชน ไม่ใช่เสียงปืน

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าประชาชนจะอดทนรอให้ถึงวันลงประชามติผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เพื่อแสดงพลังของประชาชนให้ผู้นิยมยึดอำนาจด้วยกำลังและปากกระบอกปืนเห็นถึงความต้องการที่แท้จริงต่อประชาธิปไตยที่ต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่การกำหนดของใครที่จะให้มีกำหนด 5 ปี หรือกี่ปีตามใจแป๊ะ

อนึ่ง วันพุธที่ 9 มีนาคม ขอเชิญฟังการอภิปราย งาน “ฉลอง 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก” อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 แสดงถึงความเป็นนักประชาธิปไตยแท้จริง แต่ไม่สามารถต้านอำนาจปืนได้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ท่าพระจันทร์ 12.30-17.30 น. ปิดท้ายด้วยปัจฉิมกถา โดย อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image