แนวคิดประชาธิปไตยของอนุรักษนิยมไทย(1) : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

อนุรักษนิยมไทย ก็เหมือนอนุรักษนิยมทั่วโลก และเหมือนคนกลุ่มอื่นในสังคม อุดมการณ์ของพวกเขาย่อมแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่สภาพแวดล้อมทางการเมือง, เศรษฐกิจและสังคม

ที่จะพูดต่อไปนี้ จำกัดเฉพาะเรื่องอุดมการณ์ของอนุรักษนิยมที่สัมพันธ์กับประชาธิปไตย นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และคลี่คลายมาเป็นอุดมการณ์ที่ออกจะสับสนของพวกเขาในปัจจุบันได้อย่างไร แต่จะไม่กล่าวถึงสาเหตุว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ของอนุรักษนิยมไทย

ทำไมถึงต้องหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุผลก็เพราะว่านับตั้งแต่หลังสงครามเป็นต้นมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับเงื่อนไขใหม่ๆ ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาก และรุนแรงเสียจนกระทั่งว่าใครๆ ก็ต้องปรับตัวปรับอุดมการณ์ของตนเพื่อรองรับสิ่งที่เข้ามากระทบทั้งนั้น ซ้ำยังไม่หยุดอยู่แค่ระยะหลังสงคราม แต่ก็เกิดเงื่อนไขใหม่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้รวมถึงการปรับตัวเอง ก็ทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ขึ้นภายในสังคมด้วย

เมื่อเสร็จสงคราม อนุรักษนิยมไทยยอมรับประชาธิปไตย-เสรีนิยมเต็มที่ อย่างน้อยก็ด้วยท่าที ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งอ้างประชาธิปไตย-เสรีนิยมเป็นฝ่ายชนะสงคราม และเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของการเมืองระหว่างประเทศ และว่าที่จริงก็การเมืองภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะในประเทศเล็กๆ ของโลกที่สาม จึงยากที่ฝ่ายใดในไทยจะมีทีท่าเป็นอื่นไปได้

ว่าที่จริงแล้ว ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยได้เปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุน (สิ่งที่อ้างว่าเป็น) ประชาธิปไตย-เสรีนิยมมานานก่อนหน้านั้นแล้ว คือนับจากความล้มเหลวในการต่อต้านการปฏิวัติประชาธิปไตยด้วยกำลังอาวุธในกบฏบวรเดช ฝ่ายอนุรักษนิยมหันโต๊ะกลับ ตั้งตัวเป็นผู้กล่าวโทษคณะราษฎรว่าขัดขวางประชาธิปไตย ในขณะที่ตนเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้นฝ่ายอนุรักษนิยมจึงไม่ลำบากใจแต่อย่างไรที่จะแสดงตนเป็นพลังประชาธิปไตย-เสรีนิยมต่อสายตาของสัมพันธมิตร และที่สำคัญกว่านั้นคือต่อสายตาของคนไทย

Advertisement

ประชาธิปไตย-เสรีนิยมมีความสำคัญกว่านั้นอีกในสงครามเย็น ซึ่งเกิดขึ้นเกือบจะทันทีหลังเสร็จสงครามร้อน เพราะถูกจับให้เป็นขั้วตรงข้ามกับลัทธิคอมมิวนิสต์ของประเทศหลังม่านเหล็ก บทบาทของอนุรักษนิยมไทยในฐานะผู้สนับสนุน “โลกเสรี” ดูจะสมจริงเสียยิ่งกว่าผู้สนับสนุนฝ่ายใดทั้งสิ้น อย่างน้อยพวกเขาเคยสะดุ้งหวาดหวั่นและลงมือปราบปรามพวกบอลเชวิคมาแล้วในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยิ่งกว่านั้นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ย่อมเป็นภัยต่อสถานะทางสังคมของพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด

แต่พัฒนาการของสงครามเย็นทำให้จุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย-เสรีนิยมไม่จำเป็นอีกแล้ว มหาอำนาจฝ่าย “โลกเสรี” ยอมรับรองรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ซึ่งมาจากรัฐประหารของกองทัพอย่างน่าละอาย อะไรก็ตามที่ช่วยตรึงให้ประเทศไม่หันเหไป “เป็นกลาง” หรือเข้าร่วมในค่ายม่านเหล็กย่อมมีความสำคัญกว่า ในสภาวะเช่นนี้ ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยตกอยู่ภายใต้การท้าทายด้านอุดมการณ์สองด้าน

ในทางการเมือง นับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา ฝ่ายอนุรักษนิยมยืนอยู่ร่วมกับความไม่ประชาธิปไตย และความไม่เสรีนิยมของกองทัพ ถึงไม่พอใจผู้นำรัฐบาล (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ก็ยังดีกว่าที่จะปล่อยให้ปรีดี พนมยงค์ กลับเข้ามา และเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างเสรี แต่ปัญหาด้านอุดมการณ์ของฝ่ายอนุรักษนิยมก็คือ จะต้องปรับแต่งจุดยืนประชาธิปไตย-เสรีนิยมของตนอย่างไร จึงจะทำให้รองรับระบบทหารได้ โดยไม่ต้องทิ้งจุดยืนประชาธิปไตย-เสรีนิยมของตนไป

ควรเข้าใจด้วยว่า สงครามเย็นทำให้สหรัฐอเมริกาลงทุนด้านโฆษณาชวนเชื่อสูงมาก ว่าเฉพาะในประเทศ ไทย นอกจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์แล้ว สหรัฐยังเผยแพร่ประชาธิปไตยแบบอเมริกันอย่างกว้างขวาง ผ่านนิตยสาร, ห้องสมุด, หนังสือราคาถูก, ภาพยนตร์ที่ตระเวนฉายไปทั่วประเทศ ไม่เคยมีครั้งใดที่คนไทยจะถูกนำมาเผชิญกับความคิดประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางเข้มข้นเท่านี้มาก่อน แม้แต่หลังวันที่ 24 มิ.ย. 2475 คณะราษฎรก็ไม่เคยทำได้แม้เพียงกระผีกริ้นของยูซิส

ยิ่งกว่านี้ เพื่อปรับปรุงกลไกรัฐด้านต่างๆ ให้เข้มแข็งขึ้น สหรัฐยังให้ทุนการศึกษาต่อในสหรัฐอย่างกว้างขวางกว่าที่คนชั้นกลางไทยเคยประสบมา ความรู้ความคิดที่ได้จากสหรัฐ (ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม) กลายเป็นสื่อนำเอาความรู้และความคิดอื่นๆ จากสหรัฐหลั่งไหลเข้ามาอีกมาก อนุรักษนิยมอาจหวั่นไหวหรือตระหนกต่อการแต่งกาย, ท่าเต้น, และจังหวะของเพลงร็อก พวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เพลงร็อกรื้อทำลาย “ขนบ” อันศักดิ์สิทธิ์ (ของเพลงและดนตรี) ลง และหาก “ขนบ” ยังกำกับและหวงห้ามแม้แต่ความคุ้นหูมิให้เปลี่ยนได้ “ขนบ” จะกำกับอะไรได้อีกเล่า

ความท้าทายด้านอุดมการณ์ในสงครามเย็นอีกด้านหนึ่งของอนุรักษนิยมคือชาตินิยม ถึงจะปฏิเสธอย่างเป็นทางการอย่างไร ทุกคนก็รู้อยู่เต็มอกว่า ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสหรัฐ ในระดับที่สูงมากด้วย ลัทธิชาตินิยมซึ่งผู้นำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้น ให้ความสำคัญแก่อำนาจอธิปไตยของรัฐ ประเทศหรือรัฐใดจะเป็นชาติได้ก็ต่อเมื่อมีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ในส่วนประเทศไทยนั้น อธิปไตยแสดงออกที่พระมหากษัตริย์ เพราะทรงมีอิสรภาพ (ความหมายตามรากศัพท์ของคำนี้คือความเป็นใหญ่) โดยสมบูรณ์ ความมีอิสระจากอำนาจของต่างชาติคือหัวใจของความเป็นชาติ ดังนั้นชาติจึงเกิดจากปัจจัยภายนอกไม่ใช่ภายใน

ความสัมพันธ์กับสหรัฐในช่วงสงครามเย็นทำให้ต้องยอมรับอำนาจต่างชาติ ดังนั้นปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมจึงจำเป็นต้องอธิบายลัทธิชาตินิยมไปในทางที่จะรองรับสภาพของสงครามเย็นได้ (เปรียบกับคำอธิบายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือการใช้กำลังขับไล่อเมริกันออกไป หรือการ “กู้ชาติ”… ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นเปรียบเทียบก็เพื่อจะบอกว่า ความจำเป็นจะต้องอธิบายสภาพนี้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย และไม่จำเป็นว่าคำอธิบายต้องไปในทางเดียวกัน)

ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยม ตอบสนองการท้าทายด้านอุดมการณ์ในครั้งนี้อย่างชาญฉลาดยิ่ง และทำให้คำอธิบายนั้นดำรงอยู่สืบมาอีกนานในสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่า ตลอดช่วงสงครามเย็น ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมแทบจะผูกขาดนิยามประชาธิปไตย-เสรีนิยมไว้ฝ่ายเดียว (มีปัจจัยทางการเมืองภายใต้อำนาจของกองทัพร่วมอยู่ด้วย) จนกระทั่งนิยามที่คนกลุ่มอื่นผลิตขึ้นแข่งขัน ไม่อาจแพร่หลายได้ ผู้นำด้านภูมิปัญญาของฝ่ายอนุรักษนิยมในช่วงนี้ได้รับการยกย่องเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย”

นิยามประชาธิปไตย-เสรีนิยมของฝ่ายอนุรักษนิยมในช่วงนี้ อาจสรุปหลักการสำคัญได้ดังนี้

1) ประชาธิปไตยถูกทำให้เป็น “พื้นเมือง” แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะปรากฏเป็นครั้งแรกในเอกสารภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุด นั่นคือในจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 การทำให้ “ประชาธิปไตย” เป็นไทย เปิดโอกาสให้กำหนดคุณลักษณะสำคัญของมันได้โดยคนไทยเอง ไม่จำเป็นต้องยึดถือหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นของต่างชาติ นี่คือที่มาของ “ประชาธิปไตยแบบไทย”

2) จากการวิเคราะห์เนื้อความในศิลาจารึก สิทธิเสรีภาพไม่ได้เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ประทานมาจากเบื้องบน ด้วยกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ (น่าสังเกตด้วยว่า คุณค่าของสิทธิเสรีภาพที่เน้นย้ำในความคิดตะวันตก คือ ปลดปล่อยศักยภาพของปัจเจกบุคคลออกมาอย่างเต็มที่ เป็นผลให้เกิดความก้าวหน้าแก่สังคมโดยรวม ไม่ถูกกล่าวถึงไว้เลย สิทธิเสรีภาพเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขของผู้คน
ที่ได้ “มักเล่นมักหัว” ดังที่กล่าวไว้ในจารึกเท่านั้น) คุณค่าของเสรีภาพใน “ประชาธิปไตยแบบไทย” คือ เสรีภาพในการแสวงหาความสุข (pursuit of happiness) เท่านั้น คนไทยจำนวนมากไม่รู้สึกว่าเผด็จการกระทบต่อชีวิตของตน เพราะยังแสวงหาความสุขไปได้เป็นปกติ… ละครหลังข่าวยังดำเนินต่อไป

3) ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ “อำนาจ” ในสังคมประชาธิปไตยอย่างทั่วถึง อำนาจรัฐอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ พระราชอำนาจ และอำนาจของกลไกรัฐ อำนาจส่วนหลังนี้แหละที่อาจฉ้อฉลได้ ดังนั้น “กระดิ่งที่ปากประตู” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่องทางให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนร้องเรียนไปถึงพระราชอำนาจ ซึ่งจะลงมาจัดการให้เกิดความยุติธรรม และ/หรือสงบเรียบร้อยขึ้น

4) ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมแยกเสรีนิยมออกจากประชาธิปไตย ผู้ปกครองในจารึกหลักที่ 1 ให้หลักประกันสิทธิสำคัญ 3 ประการของเสรีนิยม คือ สิทธิเหนือทรัพย์สิน, สิทธิการสืบมรดก, และสิทธิการค้าเสรี สิทธิสำคัญ 3 ประการนี้ไม่มีส่วนในการกำหนดรูปแบบการปกครองว่าต้องเป็นประชาธิปไตย เพราะ “ประชาธิปไตยแบบไทย” ซึ่งอาจไม่ได้มีรูปแบบและเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยเลย ได้ให้หลักประกันด้านเสรีนิยมไว้อย่างมั่นคงแล้ว

ความคิดนี้พัฒนาต่อมา โดยขยายสิทธิตามลัทธิเสรีนิยมให้กว้างขึ้นรวมเสรีภาพของคนส่วนน้อย, เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า สิทธิเสรีภาพนี้พึงใช้ได้ภายใต้ข้อจำกัดที่รัฐได้วางเอาไว้ (“ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ดังที่เขียนใน รธน.บางฉบับ) แต่รัฐไม่ได้ถูกกำกับไว้ด้วยหลักการอื่นใดนอกจาก “ประชาธิปไตยแบบไทย”

5) แตกต่างจากความคิดเรื่องประชาธิปไตยที่มากับการปฏิวัติ 2475 ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมยืนยันว่าประชาธิปไตยเป็นกระบวนการ ไม่ใช่สภาวะสำเร็จรูปที่ใครจะนำมาให้ได้ในทันที (แม้แต่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็อาจทรงเริ่มกระบวนการนี้มาแล้วก็ได้ จะมากจะน้อยเถียงกันได้) ดังนั้นระบอบปกครองที่ไม่ประชาธิปไตยในปัจจุบัน ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการไปสู่ประชาธิปไตย “ที่สมบูรณ์” ในวันข้างหน้าได้

6) ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมในช่วงนี้ยังได้แปรเปลี่ยนความหมายของชาตินิยมให้อยู่ในความควบคุมได้มากขึ้น พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นศูนย์กลางของความเป็นชาติ แต่ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยดังในพระราชนิพนธ์ ร.6 อีกแล้ว หากในฐานะที่ทรงเป็นหลักหมายสำคัญของ “ความเป็นไทย” ชาติอาจต้องสูญเสียอธิปไตยบางส่วนให้ต่างชาติเพราะความจำเป็น แต่ “ความเป็นไทย” ยังอยู่บริบูรณ์ (ปัญญาชนบางคนในช่วงนั้นเชื่อว่า ถึงคอมมิวนิสต์จะยึดประเทศไทยได้ ในไม่ช้าระบอบคอมมิวนิสต์ก็จะเปลี่ยนเป็นแบบ “ไทยๆ” อย่างที่เป็นมานานแล้ว)

“ความเป็นไทย” ซึ่งเข้ามาแทนที่ “ชาติ” หมายถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นโดยเฉพาะของคนไทย เช่น ศิลปวัฒนธรรมที่ตกทอดมาแต่อดีต ลักษณะนิสัย ความคิด และความเชื่อบางอย่าง รวมแม้แต่รสนิยมด้านการกิน วิธีนิยาม “ความเป็นไทย” เช่นนี้จึงเป็นแนวโน้มที่ทำให้เข้าใจว่าอัตลักษณ์ไทยเป็นสาระที่หยุดนิ่ง สืบทอดแก่นแท้มาแต่โบราณโดยไม่เปลี่ยนแปลง แม้ภาพที่ปรากฏภายนอกอาจเปลี่ยนไปได้

หนึ่งใน “ความเป็นไทย” ที่สำคัญในความคิดของปัญญาชนอนุรักษนิยมในช่วงนี้คือเสรีนิยม แตกต่างจากสังคมตะวันตกซึ่งมักวางกฎที่ใช้บังคับแก่ทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน คนไทยจะไม่เป็นฝูงแกะกระโดดข้ามรั้วทั้งฝูงเหมือนฝรั่ง จะมีบางตัวมุดออกไป บางตัววิ่งไปออกทางประตู กฎในสังคมไทยจึงใช้ไปตามบุคคล, กาละ และเทศะ

เราอาจมองปรากฏการณ์นี้ได้ 2 ทาง หนึ่ง คือ กฎในสังคมไทยใช้บังคับตามสถานภาพหรือช่วงชั้นของบุคคล หรืออาจมองว่าเป็นลักษณะนิสัยเสรีนิยมที่ฝังอยู่ใน “ความเป็นไทย” ปัญญาชนอนุรักษนิยมเลือกจะใช้การมองอย่างหลัง และประกาศว่า “ทำได้ตามใจคือไทยแท้”

ชาตินิยมซึ่งนิยามใหม่เช่นนี้ นอกจากช่วยให้สถานะประเทศบริวารของสหรัฐไม่เป็นประเด็นสำคัญแล้ว ยังสงวนอำนาจไว้ในหมู่ชนชั้นนำด้วย เพราะเป็นผู้ชี้ว่าใครมี “ความเป็นไทย” บริบูรณ์แล้ว เกิดอำนาจที่จะผนวกหรือกีดกันใครออกไปจากสิทธิทั้งหลายที่ชาติมอบให้ก็ได้ นอกจากนี้ ความคิดเรื่อง “ชาติ” ทั้งในโลกตะวันตกหรือแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านเอง คือหน่วยการเมืองซึ่งพลเมืองทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างเท่าเทียม ย่อมไม่ผุดไม่เกิดในสังคมไทย เพราะ “ชาติ” ของไทยกลายเป็น “ความเป็นไทย” ไปแล้ว ซึ่งทุกคนอาจมีไม่เท่าเทียมกัน

ประชาธิปไตยและชาติตามนิยามของฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นนี้แหละ ที่จะทำให้ contradiction หรือความขัดแย้งเชิงระบบของรัฐความมั่นคง และรัฐพัฒนา ถูกกดทับไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นส่วนหนึ่งในความคิดประชาธิปไตยในสังคมไทยสืบมาอีกนานหลัง 14 ตุลา
(ยังมีต่อ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image