สัมภาษณ์พิเศษ “พิชัย นริพทะพันธุ์” ส่องศก.ส่อ”ยุ่งยาก-ย่ำแย่”

หมายเหตุ – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ มติชนŽ ในการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2559 ว่าจะเป็นปีที่ยุ่งยากและย่ำแย่ ภายหลังที่หยุดวิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจมาช่วงหนึ่ง ตั้งแต่ถูกเรียกปรับทัศนคติครั้งที่ 7 เมื่อเดือนกันยายน 2558

– หลังจากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะยุ่งยากและย่ำแย่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ผมคาดการณ์จากข้อมูลในภาพรวมทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ ได้คาดการณ์ตอนปีใหม่ 2559 พอเปิดทำงานเศรษฐกิจของจีนก็ทรุดหนัก ตลาดหุ้นจีนตกอย่างมากต้องหยุดการซื้อขายสองครั้ง ค่าเงินหยวนอ่อนลง แนวโน้มเศรษฐกิจจีนน่าจะแย่อีกนานหลายปี เพราะปัญหาหลายอย่างโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ผมเองเคยบอกไว้แต่แรกๆ แล้วว่า จากประสบการณ์ที่เคยศึกษาเศรษฐกิจจีนและเคยทำมาค้าขายกับจีน เศรษฐกิจของประเทศจีนจะแย่กว่าที่คิดแต่หลายคนกลับไม่เชื่อ แต่ตอนนี้เริ่มเป็นจริง เศรษฐกิจจีนจะส่งผลมาถึงไทยแน่คงต้องจับตาดู อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องราคาน้ำมันที่จะอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ไปอีกนาน อาจถึง 10 ปี หรืออาจจะไม่ขึ้นสูงอีกเลยก็ได้ เพราะปัจจุบันรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้เพิ่มขึ้น เรื่อยๆ ความต้องการใช้น้ำมันจะลดลง ในขณะที่การค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ กลับมีมากขึ้น ราคาน้ำมันจึงขึ้นสูงอีกได้ยาก เพราะฉะนั้นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นรายได้หลักจะมีปัญหาหมด และจะมีปัญหาไปอีกนาน บางประเทศอาจจะถึงกับล้มละลายได้ พอน้ำมันราคาถูก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ถูกไปด้วย ราคายางพาราก็จะต่ำไปอีกนาน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรทุกชนิด เกษตรกรจะลำบากมาก นอกจากนี้ยังมีความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้มีอัตราดอกเบี้ยติดลบ จะส่งผลกระทบหลายอย่าง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนไหลเข้าออกด้วย นี่เป็นปัจจัยภายนอกแบบคร่าวๆ

– เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไร

Advertisement

อันนี้น่าห่วงมาก ความจริงตั้งใจจะไม่พูดแล้ว แต่อดเป็นห่วงไม่ได้เพราะหนักมากจริงๆ เหมือนที่ผมบอกไว้แต่แรกว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งที่ผมได้เสนอไว้ แล้วก็เป็นจริงๆ เศรษฐกิจไทยทรุดลงอย่างน่ากลัว หนักกว่าที่ผมคิดเสียอีก ล่าสุดการส่งออกเดือนมกราคมลดลง 8.91% ซึ่งลดลงหนักมากเพราะมกราคมปี 2558 ทรุดแล้ว 3.46% แสดงว่าส่งออกมกราคม 2559 ทรุดลงจากมกราคม 57 ถึงกว่า 12% รับรองได้เลยว่าถ้าเดือนมกราคมเป็นแบบนี้ ทั้งปีไม่มีทางที่การส่งออกจะขยายตัวถึง 5% อย่างที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งเป้าไว้ เอาเป็นว่าจะบวกได้หรือเปล่ายังยากเลย เมื่อมองที่ จีดีพี ของปีที่แล้ว ที่ผมบอกมาตั้งนานแล้วว่าจะไม่ถึง 3% แล้วทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็พยายามมากทั้งอัดฉีดเงินเข้าระบบเป็นแสนๆ ล้านบาท แต่ปรากฏว่าทำได้แค่ 2.8% ถ้าหักเอาเงินเฟ้อที่ติดลบ 0.9% และการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าการส่งออกที่ลดลง เพราะการลงทุนลดลงมาก การนำสินค้าทุนหายไปมาก เรียกว่าเศรษฐกิจแทบไม่โตเลย ไม่ใช่ผมห่วงคนเดียว ล่าสุดทั้งแบงก์ชาติและสภาพัฒน์ก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงเช่นเดียวกัน รวมถึงนักวิเคราะห์ชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งจีดีพีปีนี้คงไม่ถึง 3.7% ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ตอนต้นปีแน่ และอาจจะไม่ถึง 3% ด้วยซ้ำ หากไม่ถึง 3% จริงๆ อาจจะต้องเอาปี๊บคลุมหัวตามที่คุณบัณฑูร ล่ำซำ ปรามาสไว้

– ปัจจัยอะไรที่น่าห่วงที่สุด

เรื่องที่น่าห่วงนอกจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เราคุมไม่ได้แล้ว ปัจจัยภายในประเทศก็มี เรื่องการส่งออกที่ทรุดและการลงทุนที่ลดลงอย่างมาก ทั้งสองปัจจัยนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างมาก และแสดงถึงความเสื่อมของเสาหลักเศรษฐกิจที่เสื่อมอย่างรวดเร็ว การส่งออกของไทยติดลบมา 3-4 ปีแล้ว แต่ปี 2558 กลับติดลบถึง 5.78% ถือว่าหนักมาก แต่ที่น่าห่วงกว่าคือการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงถึง 78% โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนหลักของไทยลดลงถึง 81% ทำให้ดูเหมือนว่าเขากำลังจะทิ้งประเทศไทยไปแล้ว อันนี้แหละที่น่าห่วงที่สุด ตอนแรกผมคิดว่าลดลงซัก 40-50% ก็แย่แล้ว แต่ไม่คิดว่าจะลดลงถึง 78% พอลงทุนลดลง การส่งออกในอนาคตก็จะลดลงไปด้วย ทำให้อนาคตของประเทศไทยเราดูแย่เลย การลงทุนลด การส่งออกลด การจ้างงานอนาคตก็ลด คนจะตกงานมาก ความหวังที่จะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนก็เลือนหายไปเลย

Advertisement

– เศรษฐกิจประเทศอื่นก็แย่ การส่งออกและการลงทุนก็ลดด้วยใช่หรือไม่

ไม่ใช่เลย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศรอบบ้านของไทยโตกว่าเราหมดทุกประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามที่เป็นประเทศดาวรุ่งใหม่ที่มาแทนไทย เพราะเมื่อไทยมีปัญหา เวียดนามกลับเจริญเติบโตดีมากถึง 6.68% ส่งออกขยายตัว 8.1% และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 17.4% และที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบคือการลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามายังอาเซียนไม่ได้ลดลงแถมเพิ่มขึ้นด้วย แต่เขาไปลงทุนในประเทศอื่นหมด เท่ากับว่าการที่ประเทศไทยมีปัญหากลับไปทำให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ประโยชน์

– อย่างนี้จะแก้อย่างไร

ก็ต้องมาวิเคราะห์กันให้ตรงๆ อย่าบิดเบือนว่าปัญหาเกิดจากอะไร เรื่องที่ผมเคยบอกไว้ว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้พูดถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลกระทบในเรื่องนี้ขนาดไหน และต้องเข้าใจว่ากว่าจะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศกลับมาลงทุนได้ต้องใช้เวลานานหลายปี จาก 22% จะให้กลับไปเป็น 100% และจะให้ขึ้นเป็นบวกอีกคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นักวิเคราะห์หลายคนยังพูดถึง 5-10 ปีเป็นอย่างต่ำ นี่ต้องหมายถึงว่าปัญหาของประเทศเราต้องยุติโดยเร็ว และพวกเขาต้องมั่นใจว่าเราจะไม่กลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ อีก

– ประเมินผลงานเศรษฐกิจชุดนี้ของรัฐบาลอย่างไร

ต้องบอกตรงๆ ว่าค่อนข้างที่จะผิดหวังมาก เพราะตอนเข้ามาผมเข้าใจว่าเขาจะเข้าใจปัญหาเป็นอย่างดีถึงเสาหลักเศรษฐกิจที่เสื่อม และคงหาทางแก้ไขได้ แต่เอาเข้าจริงเสาหลักเศรษฐกิจกลับเสื่อมหนักกว่าเดิมทั้งการส่งออกและการลงทุน เศรษฐกิจไม่ได้ดีไปกว่าสมัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ บริหารเลย แถมยังแย่กว่าด้วย อีกทั้งรัฐบาลใช้เงินมากกว่ามาก แต่ตัวเลขเศรษฐกิจกลับไม่ดีขึ้น

– คิดว่าเกิดจากปัญหาอะไร

อันนี้ไม่แน่ใจว่าเกิดจากการบริหารที่ไม่ดี หรือสถานการณ์หนักกว่าที่คิด แต่ถ้าหากมองย้อนหลังไปดูแต่แรก การที่บอกว่าจะไม่มุ่งส่งออก แล้วส่งออกก็มาทรุดหนัก และบอกไม่มีหน้าที่ปั๊มจีดีพี เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า แล้วจีดีพีก็ออกมาไม่ดี ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการฟื้นเศรษฐกิจอย่างมาก ไม่น่าจะไม่เข้าใจ แถมล่าสุดยังจะเสนอวิธีนับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่จะเอาจีดีพีรวมกับจีเอ็นพี ซึ่งมั่วไปกันใหญ่ ผิดหลักสากลการคำนวณตัวเลขเศรษฐกิจ

– มีอะไรที่จะแนะนำทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

อยากจะแนะนำให้วิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริงแล้วรีบแก้ไขให้ตรงจุด การไปอ้างว่าจะไม่ให้ความสนใจกับการส่งออก หรือไม่มีหน้าที่ปั๊มจีดีพี แม้กระทั่งการที่จะหาวิธีคำนวณตัวเลขใหม่ให้ดูดีขึ้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ และอยากให้ทีมเศรษฐกิจทำในเรื่องใหญ่ๆ มุ่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ มากกว่ามุ่งแต่จะทำการตลาดอย่างเดียว เช่น การมุ่งไปหากาตาร์ รัสเซีย อิหร่าน ที่มีรายได้จากน้ำมันและก๊าซ ซึ่งราคาตกมากจะไม่ช่วยให้เราฟื้นเศรษฐกิจได้ การต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจกับประเทศหลักทั้งอียูและสหรัฐ น่าจะเป็นทางแก้ไขที่ถูกต้องมากกว่า ประเทศเหล่านี้ก็ยังเกี่ยงเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยของเราอยู่ ต้องหาทางแก้ไขส่วนนี้ โดยหากทีมเศรษฐกิจมุ่งแต่การตลาดโดยผลทางเศรษฐกิจมีน้อย เศรษฐกิจจะไม่ฟื้น ประชาชนจะลำบากมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

– เห็นอย่างไรกับยุทธศาสตร์20ปี

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่างงมากเลย ผมว่าไม่มีประเทศไหนในโลกจะสามารถมียุทธศาสตร์ 20 ปีโดยไม่เปลี่ยนได้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เทคโนโลยีก็เปลี่ยนเร็ว ลองคิดดูว่า 20 ปีที่แล้วใครจะทราบว่าปัจจุบันโลกเป็นแบบนี้ หากไปตีกรอบข้อจำกัดยุทธศาสตร์ให้กับประเทศ จะเป็นปัญหามากกว่า คนที่เก่งๆ ในโลกก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า จึงต้องถามว่าคนวางยุทธศาสตร์ของไทย 20 ปีจะเก่งกว่าคนฉลาดของโลกไหม

– มีความเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านอย่างไร

เรื่องนี้เห็นเขากำลังห้ามพูดห้ามวิจารณ์อยู่ แต่ในหลักการของโลกสมัยใหม่นี้ รัฐบาลในอนาคตของทุกประเทศจะมีขนาดเล็กลง และมีหน้าที่สนับสนุนเอกชนให้มีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงจะต้องเป็นกฎหมายเพื่อเอื้อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายได้คล่องตัวและรวดเร็วไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้การตัดสินใจของรัฐบาลล่าช้า โดยต้องเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีวิจารณญาณพิจารณาได้ว่า พรรคการเมืองใดที่มาเป็นรัฐบาลจะพาประเทศไปล่มจมจริงหรือไม่ กฎหมายเดิมก็มีข้อบังคับในเรื่องเพดานของหนี้สาธารณะของประเทศ อยู่แล้ว ถ้าหากออกกฎหมายมาเพื่อกันไม่ให้รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ หรือไม่สามารถทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ กฎหมายนั้นก็ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับ การที่จะต้องปล่อยให้ประชาธิปไตยพัฒนาไปโดยไม่มีการหยุดชะงักอีกเป็นสิ่งที่จำเป็น และต้องเข้าใจว่าปัญหาหลักของประเทศไทยตอนนี้คือความมั่นใจของต่างประเทศที่ลดลง ถ้าออกรัฐธรรมนูญใหม่มาแล้วต่างประเทศยังไม่มั่นใจ เศรษฐกิจก็จะไม่ฟื้น ปัญหาต่างๆ ก็แก้ไม่ได้อยู่ดี

– อยากฝากอะไรถึงรัฐบาลและประชาชน

อยากบอกว่าเป็นห่วงอย่างมาก ไม่อยากเห็นประเทศถอยหลัง จากตัวเลขที่ออกมาเห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจทรุดลงเร็วมาก และมีแนวโน้มที่จะทรุดไปอีกนาน เป็นห่วงว่าเยาวชนรุ่นใหม่จะพบกับความลำบากทางเศรษฐกิจ เพราะกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นได้คงใช้เวลาอีกนาน อยากให้คนทั้งประเทศตั้งหลักและวิธีคิดให้ดี มองไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกว่าเขามีประวัติการพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร ทุกอย่างต้องเดินไปข้างหน้า ประเทศใดที่ย้อนหลังไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ เมื่อประเทศไทยเรามาถึงจุดนี้แล้ว หวังว่าทุกคนในประเทศจะได้เรียนรู้จากบทเรียนและนำมาปรับปรุงวิธีคิดกันใหม่เพื่อทำให้ประเทศก้าวหน้าขึ้นไปได้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image