‘หมอวรงค์-วิชา’เบิกความจำนำข้าวปมข้าวหาย-ไม่ยับยั้งโครงการ ‘ทนายปู’ฟ้อง2สื่อยังชี้นำส่อขัดคำสั่งศาล

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 มีนาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งที่ 4 คดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

โดยช่วงเช้า อัยการ นำ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่เคยอภิปรายการทุจริตโครงการจำนำข้าวในสภา มาให้ไต่สวนเป็นพยานปากแรก สรุปว่า พยานเป็น 1 ใน 3 ผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบโครงการจำนำข้าว ซึ่งแม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเคยดำเนินโครงการจำนำข้าว ต่อเนื่องจากรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปี 2551 แต่โครงการของนายอภิสิทธิ์ แยกเป็น 2 ส่วน ครั้งแรกเมื่อต่อเนื่องจากรัฐบาลนายสมชาย ก็ได้ดำเนินโครงการเป็นการรับจำนำข้าว และมีปัญหา จึงยุติแล้วเปลี่ยนเป็นโครงการประกันความสี่ยงในการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งตั้งใจจะช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และควบคุมวงเงิน พร้อมทั้งไม่ได้ให้เป็นการประกันข้าวเปลือกทุกเมล็ดเหมือนโครงการจำนำข้าวรัฐบาลจำเลย โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จำกัดปริมาณ 20-30 ตันต่อครัวเรือน และแม้จะมีปัญหาดำเนินการบ้างที่มีเกษตรกร 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร มาให้รัฐบาลแก้ปัญหาจากราคาข้าวตกต่ำ แต่ขณะนั้นก็ต่ำเพียง 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งภายหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ด้วยการมีมติ ครม. ให้ อคส.และ อ.ต.ก.ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรโดยตรง โดยราคาอ้างอิงก็เป็นราคาต้นทุนของเกษตรกรและราคาตลาด ที่เกษตรกรทั้งสามจังหวัดมีส่วนร่วมกำหนดราคาด้วย จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้ผู้ค้าได้เข้ามารับซื้อข้าวเกษตรกร จนทำให้ราคาข้าวเป็นปกติตามกลไกตลาด ไม่ใช่เหมือนกับรัฐบาลจำเลย ที่รับจำนำข้าวราคาสูงกว่าตลาดทำให้เกิดผลกระทบทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ การขาดสภาพคล่องของรัฐบาลในการจ่ายเงินให้ชาวนา กระทบเศรษฐกิจภาพรวม

เมื่อทนายความจำเลย พยายามถามถึงการตรวจสอบข้าวหายในปี 2557 ว่าตรวจสอบหลังรัฐประหาร จึงไม่ใช่ข้าวหายในรัฐบาลจำเลย และคณะอนุกรรมการตรวจสอบในส่วนของปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังระบุว่า ไม่มีข้าวหายแต่เป็นเรื่องของการลงบัญชีผิดพลาด นพ.วรงค์ชี้แจงว่า การตรวจสอบมี 2 ส่วน คือ ชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ที่จะตรวจสอบคุณภาพข้าว ซึ่งชุดนี้ระบุว่ามีข้าวหายจริงจำนวน 119,700 ตัน จากการตรวจสอบกองข้าวที่สามารถนับได้ 17.4 ล้านตัน ส่วนคณะอนุกรรมการของปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นการปิดบัญชีข้าวปี 2557 ซึ่งการตรวจสอบนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลจำเลย จึงไม่ใช่กรณีข้าวเพิ่งหาย ส่วนที่รัฐบาลจำเลยเคยแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตรวจสอบดำเนินการกับการกระทำผิดโครงการจำนำข้าว ก็มีการดำเนินการรายย่อยเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของการระบายข้าวจีทูจี ซึ่งจากการลงพื้นที่พยานได้ทราบจากชาวนาว่ามีการสวมสิทธิ และจากที่เคยอภิปรายรัฐบาลจำเลย พยานได้พยายามจะนำเสนอข้อมูล แต่ไม่มีหน่วยงานเรียกข้อมูลจากพยานตรวจสอบ

นอกจากนี้ นพ.วรงค์ยังกล่าวถึงหลักของการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ด้วยว่า ในการขายข้าวแบบจีทูจีกับจีนจะต้องกระทำโดย บริษัท คอฟโก้ แห่งเดียวเท่านั้น และลักษณะการชำระค่าซื้อ-ขายข้าว ควรจะต้องเป็นการเปิดแอลซี (LC) เพื่อเป็นหลักประกันผ่านทางธนาคาร ไม่ใช่การซื้อแคชเชียร์

Advertisement

ขณะที่องค์คณะฯได้ซักถามพยานเพิ่มเติมถึงประเด็นสาระสำคัญการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีว่า มีหลักฐานพิสูจน์เกี่ยวกับ บ.คอฟโก้หรือไม่ และการค้าระหว่างประเทศ เมื่อต่างประเทศซื้อข้าวแล้วสามารถนำมาขายกลับในประเทศได้หรือไม่ รวมทั้งกระบวนการขายข้าวหน้าคลังสินค้า

โดย นพ.วรงค์กล่าวว่า เคยเห็นหนังสือตอบระหว่าง บ.คอฟโก้ กับนายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าว ที่ยืนยันสถานะสิทธิการซื้อขายแทนรัฐบาลจีน ซึ่งน่าจะมีการส่งให้ ป.ป.ช.แล้ว ส่วนหลักปฏิบัติการค้าระหว่างประเทศ ไม่มีที่จะมาซื้อข้าวในประเทศที่ขายหน้าคลังสินค้า แต่ฝ่ายที่ขายจะต้องส่งสินค้าออกไปในตลาดประเทศผู้ซื้อ และไม่ชำระเป็นการซื้อแคชเชียร์เช็คจากธนาคารหลายๆ ฉบับ แต่จะนิยมทำเป็นการเปิด LC เพียงฉบับเดียว ขณะที่จีทูจีขายข้าวปี 2554-2556 พบว่ามีเพียง 212 ตัน แต่เอกสารสัญญาจีทูจี 6 ฉบับ กลับระบุยอดรวมการซื้อขาย 20 ล้านตัน

ทั้งนี้ การไต่สวนในช่วงบ่าย อัยการนำ นายวิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. เข้าเบิกความระบุว่า นอกจากไต่สวนพยาน 4 ปากแล้ว ป.ป.ช.ยังลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง ไม่ใช่การใช้ข้อมูลวิจัยของสถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอเพียงชุดเดียว และประเด็นที่มีการไต่สวนเพราะรัฐบาลไม่ยอมยับยั้งโครงการ หลังจาก ป.ป.ช.ทำหนังสือโต้แย้งถึง 2 ครั้ง และ สตง. รวมทั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ก็โต้แย้งว่าโครงการอาจเกิดการทุจริตได้ ส่วนที่คณะกรรมการร่วมอัยการ-ป.ป.ช.ไต่สวนข้อไม่สมบูรณ์นั้น ป.ป.ช.ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง แต่ได้รับรายงานว่าประเด็นต่างๆ หากไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตก็สามารถตัดได้ ก็เหลือเพียงพยานปากสถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอเท่านั้น และการแจ้งข้อหารวมถึงการชี้ขาดก็ได้ให้ความเป็นธรรมโดยทำในรูปมติ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ทั้งชุด ไม่ใช่พยานเพียงคนเดียว และพิจารณาว่ามีพยานซ้ำหรือไม่ และคำให้การเป็นการอ้างความเห็นที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งพยานบางปากหากไม่เกี่ยวข้องข้อเท็จจริงของโครงการ ป.ป.ช.จะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามา

Advertisement

เมื่อศาลไต่สวนพยานทั้ง 2 ปากเสร็จ ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งต่อไปวันที่ 23 มีนาคมนี้ เวลา 09.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันนี้นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้แถลงต่อศาลว่า แม้ศาลจะกำชับให้คู่ความ และบุคคลอื่น ระมัดระวังการสัมภาษณ์และวิจารณ์ชี้นำคดี แต่ขณะนี้ยังมีสื่อสังกัดแนวหน้า และสปริงนิวส์ กระทำการลักษณะชี้นำอยู่ นายชีพ จุลมนต์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน จึงมีคำสั่งให้ทนายความจำเลย ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลให้พิจารณาต่อไป

ขณะที่ช่วงเช้าเป็นการไต่สวนพยานปาก นพ.วรงค์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้อภิปรายการทุจริตโครงการจำนำข้าว ซึ่งมีนายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์, นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาร่วมฟังการไต่สวนด้วย ซึ่งระหว่างกลุ่มผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์มาถึงบริเวณทางเข้าศาล มวลชนที่มาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โห่ไล่ แต่ไม่เกิดเหตุปะทะกันแต่อย่างใด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image