นิสิต ม.พะเยา ร่วมพัฒนา‘เมืองน่าน’ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ฉบับนี้มีเรื่องราวแบ่งปัน การนำความรู้จากมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาพื้นที่ชุมชนอันห่างไกล
มหาวิทยาลัยพะเยา โดยการนำของนายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี มีวิสัยทัศน์นโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ โดยริเริ่มดำเนินการโครงการ “1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด” ตามปณิธาน “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” สู่รูปแบบการบริหารงานวิชาการ “1 คณะ 1 โมเดล” “คณะแพทยศาสตร์” โดยดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัย เป้าหมายคือมุ่งพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ

ในปี 2553 คณะแพทยศาสตร์ ได้สนองนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยจัดทำโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยพะเยาสู่องค์กรสร้างเสริมสุขภาพ ขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชน ตามโครงการพัฒนา “มหาวิทยาลัยพะเยาสร้างสุขภาพ” สู่ “เทศบาลตำบลแม่กาสร้างสุขภาพ” เพื่อเป็นการขยายแนวคิดการพัฒนาจึงได้จัดทำโครงการประชุมวิชาการ “มหาวิทยาลัยกับการแก้ปัญหาวิกฤตชาติ” และงานมหกรรม “ม.พะเยา รวมพลังสร้างสุขภาพเทิดไท้องค์ราชัน 5 ธันวามหาราช ครั้งที่ 2” ต่อมาได้พัฒนา “มหาวิทยาลัยสร้างสุขภาพ” สู่ “การสร้างสุขภาพชุมชนท้องถิ่น” มีการลงบันทึกความร่วมมือในการปฏิบัติงาน (MOU) ระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา กับผู้นำท้องถิ่นในแต่ละอำเภอ ทั้ง 9 อำเภอ โดยให้แต่ละคณะได้รับผิดชอบพื้นที่ในระดับอำเภอประสบความสำเร็จ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเล็งเห็นและนำมาเป็นแนวทางการดำเนินงาน 1 คณะ 1 โมเดล

ในปี 2558 คณะแพทยศาสตร์ ได้ริเริ่มดำเนินตามวิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์ “ผลิต Family health team เพื่อบริการวิชาการและงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากลและพัฒนาองค์ความรู้สู่ชุมชนให้เข้มแข็งและสังคมเป็นสุขภายใน 10 ปี” และมีสมรรถนะหลักให้นิสิตมีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง Family Health Team, Student Engagement, Community Engagement, Surveillance System, Primary Care to Primary Health Care จึงได้ดำเนิน “โครงการหมู่บ้านสุขภาพดีเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” จังหวัดพะเยา ตามแนวคิดริเริ่มของคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ นายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา มอบให้คณะแพทยศาสตร์ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อการพัฒนาศักยภาพนิสิตให้สามารถทำงานเป็นทีมในลักษณะทีมหมอครอบครัว หรือทีมสุขภาพครอบครัว (Family Health Team) คณะแพทยศาสตร์ ได้ส่งนิสิตมาฝึกประสบการณ์วิชาชีพทีมละ 8-10 คน ได้ปฏิบัติงานในการสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้เครื่องมือวินิจฉัยชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น ประเมินผลการดำเนินงานพัฒนา “หมู่บ้านสุขภาพดีเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” โดยใช้เกณฑ์ 3 ส่วน

1) คุณภาพชีวิต “Healthy Thailand” 4 มิติ (กาย, ใจ, สังคม และจิตวิญญาณ) 17 เป้าหมาย 23 ตัวชี้วัด ผ่านมากกว่าร้อยละ 80% 2) การมีส่วนร่วม 3P (People Oriented, Place Oriented และ Partnership) ผ่านมากกว่าร้อยละ 80 3) การคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 15-65 ปี มากกว่า 90% โดยเครื่องมือสื่อสัญลักษณ์ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี

Advertisement

“ทีมสุขภาพครอบครัว” ประกอบด้วย 10 สาขาวิชา สาขาวิชาแพทยศาสตร์ สาขาวิชาอนามัยชุมชน สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ สาขาวิชาการแพทย์แผนจีน สาขาวิชาเวชกิจฉุกเฉิน และสาขาวิชาคู่ขนานนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ร่วมดำเนินงานสาธารณสุขตามเกณฑ์การพัฒนาหมู่บ้านสุขภาพดีฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (หมออนามัยและ อสม.) ทั้งจังหวัดพะเยา บรรลุตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดเบื้องต้น จากความสำเร็จการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านสุขภาพดีเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากจังหวัดพะเยา ได้ขยายพื้นที่ไปยัง “จังหวัดสิงห์บุรี” โดยดำเนินการเต็มพื้นที่ทุกหมู่บ้านใน 47 ตำบล 6 อำเภอ ครอบคลุม 100% ของจังหวัดสิงห์บุรี

ในปี 2559 คณะแพทยศาสตร์ได้ประเมินผลการดำเนินงาน “โครงการหมู่บ้านสุขภาพดีเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” จังหวัดพะเยา และจังหวัดสิงห์บุรี โดยมีท่านว่าที่ รต.กิตติ ขันธมิตร กรมวังผู้ใหญ่ร่วมการประเมินด้วย มหาวิทยาลัยพะเยา จึงได้ประกาศว่า “จังหวัดพะเยา และจังหวัดสิงห์บุรี” เป็นจังหวัด ที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน “จังหวัดสุขภาพดีเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาและจังหวัดสิงห์บุรี เข้าเฝ้าฯ รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เมื่อคราวเสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยพะเยา ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560…

Advertisement

จากความสำเร็จการดำเนินโครงการดังกล่าว ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 คณะแพทยศาสตร์ จึงจัดประชุมเตรียมความพร้อมแหล่งฝึกปฏิบัติการภาคสนามบูรณาการ และนำเสนอผลการดำเนินงานในพื้นที่อำเภอนำร่อง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นพ.นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน ผู้บริหาร สาธารณสุขอำเภอ 15 อำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 125 แห่ง ครอบคลุม 100% ในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 คณะแพทยศาสตร์ ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมแหล่งฝึกปฏิบัติการภาคสนามบูรณาการแก่ครูพี่เลี้ยง ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลน่าน จังหวัดน่าน เพื่อเป็นการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องและเพื่อให้บรรลุเกณฑ์การประเมินเป็น “จังหวัดสุขภาพดีเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ในแผน 3 ปี 2559-2560 และ 2561 จึงได้จัดให้นิสิตชั้นปีที่ 3 ทุกสาขาวิชา จำนวน 900 คน ลงฝึกปฏิบัติการภาคสนามบูรณาการในรูปแบบของทีมสุขภาพครอบครัว (Family Health Team) ประกอบด้วย นิสิตทุกสาขาวิชา จำนวนทีมละ 7-8 คน ในระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม-4 มิถุนายน 2560 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์

วันที่ 21 พฤษภาคม 2560 อาจารย์และนิสิต พบอาจารย์พี่เลี้ยงแหล่งฝึก โดยส่งลงพื้นที่ จำนวน 15 อำเภอ 92 ตำบล 125 รพ.สต. อย่างพร้อมเพรียง อนึ่งทุกอำเภอนั้น ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณท่านนายอำเภอที่ให้ความสำคัญ ให้เกียรติมาต้อนรับและดูแลอำนวยความปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม ตลอด 2 สัปดาห์ที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่า ที่อยู่ อาหารการกิน การเดินทาง ความปลอดภัย เป็นต้น และมีการเริ่มฝึกปฏิบัติงานตั้งแต่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2560 และในวันที่ 6 มิถุนายน 2560 มีการประชุมวิชาการและนำเสนอผลการประเมินการดำเนินการ ณ ห้องเรียนภูกามยาว 1 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยพะเยา โดยนิสิตทุกสาขาวิชาที่ลงฝึกปฏิบัติการภาคสนามบูรณาการ ได้ถอดบทเรียนประสบการณ์ชีวิตที่ได้จากลงพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งห่างไกล จากถิ่นทุรกันดารอย่างหลากหลาย ระบายความรู้สึก ความประทับใจจากนิสิตแต่ละคนโดยตรง ดังนี้

ได้เห็นสุขภาพทุกช่วงวัย อย่างการออกกำลังกาย การรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง วัณโรค ในการดูแลคนไข้ติดเตียง

เราช่วยกัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้าย ทีมเราช่วยเหลือกันมาตลอด สนิทสนมกันเร็วมาก อยู่ทำงานด้วยกันดึกดื่น ขอบคุณทุกคนในทีมนะคะ ที่สร้างประสบการณ์ใหม่และมิตรภาพที่แสนดี

ได้ไปให้ความรู้น้องๆ ชั้นประถมศึกษา 1-6 ที่โรงเรียนบ้านผาขวาง เกี่ยวกับอันตรายจากบุหรี่ การทำ CPR เหตุที่ต้องมาสอนการช่วยฟื้นคืนชีพ เพราะในหมู่บ้านนี้มีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำเพิ่มขึ้นทุกปี การมาฝึกบูรณการครั้งนี้ ทำให้หนูได้ประสบการณ์ต่างๆ มากเลยค่ะ ที่ต่างจากที่เราเรียนในทฤษฎี ได้เห็นของจริง เจอกับตัวเอง พี่ๆ ในกลุ่ม พี่ๆ รพ.สต.ก็ดูแลอย่างดี ไม่อึดอัดเลยค่ะ ตอนแรกก็มีเกร็งๆ บ้าง เพราะไม่รู้จักใครเลย แล้วทุกคนก็คาดหวังว่ามาจากสาขาแพทย์ ทำให้รู้สึกอึดอัดค่ะ แต่พออยู่ด้วยกันหลายๆ วัน ก็สนิทกันมากขึ้นค่ะ ทำงานร่วมกันราบรื่นมากค่ะ พี่ๆ น่ารักทุกคน จาก รพ.สต.ตาลชุม อ.เวียงสา จ.น่าน

ประสบการณ์ครั้งแรกเป็นสิ่งที่ดีทำให้ผมมองเห็นภาพการทำงานในชุมชนมาก มองชุมชน คือตำราเล่มหนึ่งที่รอให้เราไปเปิดอ่าน ขอขอบพระคุณพี่เลี้ยง และคณาจารย์ทุกท่านครับ

เป็นตำราที่มีเรื่องราวมากมาย และไม่ซ้ำกันซักเรื่อง หากมีโอกาสขึ้นชั้นคลินิกแล้วนำหลักการตรวจรักษาโรคไปผนวกกับชุมชน น่าจะสนุก

จากเด็กแปลกหน้าที่ ผอ.รพ.สต.พามาเดินไปเดินมาแถวบ้าน โผล่มาวัดความดันเจาะเลือด มาอบรม มาชวนเต้นแอโรบิกตอนเย็น จนเป็นหลานน้อยของแม่ป้า แม่ยายทุกคน

เป็นความรู้สึกที่ดีแบบบรรยายไม่ได้เลย มีสายสิญจน์มามัดไม้มัดมือเต็มสองแขน ..

การได้ลงชุมชนครั้งนี้ในตอนแรกไม่ค่อยชอบเท่าไร เพราะเราไม่รู้ว่ามาทำไม แต่พอนานๆ ไปได้เรียนรู้อะไรหลากหลายอย่างมาก เช่นการทำงานเป็นทีมทั้งๆ ที่เรามาต่างสาขาต่างชั้นปี แต่ก็รู้สึกได้ว่าเราเป็นทีมที่เพอร์เฟกต์มาก
การฝึกภาคสนามครั้งนี้ทำให้ได้ฝึกในการเข้าหาผู้ใหญ่ การสร้างสัมพันธภาพ และได้เรียนรู้แนวคิดวิถีชาวบ้าน
อสม. ให้ความช่วยเหลืออย่างดีมาก ค่อยแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน

พี่ๆ ทุกคนใจดี น่ารัก เป็นกันเองอย่างมาก ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งคอยสอนงาน ให้ข้อมูลและให้คำแนะนำตลอดขณะฝึกปฏิบัติงานที่ รพ.สต.

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกบูรณาการที่นอกเหนือความรู้แล้ว พวกเราได้เรียนรู้กระบวนการและขั้นตอนในการทำงาน ได้สัมผัสการทำงานและเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานจริง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก

สำหรับการฝึกปฏิบัติงานภาคสนามบูรณาการครั้งนี้ พวกเราทุกคนรู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมกันกับพี่เลี้ยงทุกๆ ท่าน ขอขอบคุณอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือ แนะนำในทุกๆ ด้าน และยังให้ความรู้สึกที่หาไม่ได้จากห้องเรียน

ทำให้นิสิตได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในลักษณะองค์รวม
เป็นแนวทางที่ช่วยให้นิสิตได้ทำงานร่วมกัน หรือประสานงานร่วมกันอย่างมีความสุข
ทำให้ได้วางแผน ได้คิดกระบวนการเรียนรู้และมีการประเมินผลร่วมกัน
นิสิตมีโอกาสได้ใช้ตามความถนัดของแต่ละสาขาในการทำงานเป็นทีม สหสาขาวิชา
เปิดโอกาสให้นิสิตได้คิด ได้ทำ ได้แก้ไขปัญหา ได้ค้นพบคำตอบด้วยตนเอง และนิสิตได้ปฏิบัติจริง
ได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนกับชาวบ้าน ผู้สูงอายุ
ช่วยให้นิสิตเกิดการทำงานอย่างลึกซึ้ง และมีลักษณะใกล้เคียงกับชีวิตจริง
นิสิตมีวิจารณญาณในการคิดแก้ไขปัญหา และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ให้ความดูแลและช่วยเหลือในการฝึกงานบูรณาการในครั้งนี้ของพวกเรานิสิตคณะแพทยศาสตร์ งานบูรณาการนี้จะไม่สำเร็จถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากพวกพี่ๆ

ในระยะเวลา 2 อาทิตย์ถือว่าเป็นเวลาอันสั้นแต่ช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นความทรงจำและเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดของพวกเรา ขอบคุณครอบครัวน้ำเกี๋ยนทุกคน ฝึก
งานบูรณาการในครั้งนี้ของพวกเรานิสิตคณะแพทยศาสตร์ งานบูรณาการนี้จะไม่สำเร็จถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากพวกพี่ๆ

นอกจากความประทับใจของลูกศิษย์ ความภูมิใจยังเกิดขึ้นกับอาจารย์พี่เลี้ยง

ในตอนแรกพี่เลี้ยงจะรู้สึกวิตกและเป็นกังวล เกี่ยวกับการฝึกงานในครั้งนี้ แต่จริงๆ แล้วนักศึกษาก็สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับพี่เลี้ยง และชุมชนได้ น้องๆ มีความตั้งใจและใฝ่รู้ในการฝึกประสบการณ์ครั้งนี้ทุกคน

น้องๆ น่ารักกันทุกคน ปรับตัวได้เร็วทำงานทันต่อเวลาอันจำกัด มุ่งมั่นทำงานเป็นทีม ทำงานที่ดีจ๊ะ ขอให้รักกันดูแลกันจนสำเร็จการศึกษานะจ๊ะ

นิสิตมีนิสัยน่ารักและเห็นความตั้งใจทำงานกันทุกคน มีความรับผิดชอบ ปรับตัวได้เร็ว เรียนรู้ได้เร็ว ขอให้รักษาความดีนี้ไว้ตลอดไปนะจ๊ะ

นิสิตมีความขยัน ตั้งใจในการทำงาน และดูสตก/มีความสุขในการลงชุมชน พูดคุยกับคนไข้ดี ตรงเวลา ทำงานเป็นทีมได้ดี ช่วยเหลือกันดี นี่คือ ตัวอย่างส่วนหนึ่งความรู้สึกประทับใจอยู่ในความทรงจำที่ไม่มีลืมของนิสิต 900 กว่าชีวิต ที่ลงชุมชนเมืองน่านครั้งนี้

ผู้เขียนเองและเชื่อว่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่ชื่อ นายไพศาล วิมลรัตน์ รวมทั้งนายแพทย์ สสจ.น่าน หมออนามัย 125 รพ.สต. ตลอดจน อสม. ทุกพื้นที่ของน่าน รวมทั้งประชาชนคนเมืองน่าน 5-6 แสนคน เท่าที่ทราบจากนิสิตที่ลงชุมชนว่าชาวบ้านประทับใจ พึงพอใจ ที่น้องๆ นิสิตหลากสาขาของคณะแพทยศาสตร์ 900 กว่าชีวิต ได้ลงฝึกปฏิบัติงานรูปแบบบูรณาการเป็น “ทีมสุขภาพครอบครัว (Community engagement with Family Health team)” เริ่มฝึกตั้งแต่ ปี 2-ปี 3 ทุกคนบรรยายความรู้สึกภูมิใจตามที่กล่าวข้างต้น เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ที่จบเป็นบัณฑิตในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า เขาจะเป็น “ทีมสุขภาพ” ของประเทศชาติใน 77 จังหวัด ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี สมกับ “ปรัชญา” ของมหาวิทยาลัยพะเยาสนองนโยบายของประเทศชาติ และสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เป็นการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ของพระองค์ท่าน ไงเล่าครับ

นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image