‘มาร์ค’ชี้ส.ว.แบบไขว้-สรรหาไม่ต่างกัน เตือนคสช.คิดนั่งส.ว. ไม่พ้นสืบทอดอำนาจ

(แฟ้มภาพ)

‘มาร์ค’ชี้เลือกส.ว.แบบไขว้-สรรหา ไม่ต่างกัน เตือนคสช.นั่งส.ว.ได้ ไม่พ้นสืบทอดอำนาจ แนะกรธ.รับฟังทุกฝ่าย อย่ามองเสียงท้วงว่าเลว สุดท้ายปชช.เป็นผู้ชี้ขาด

 

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่สถาบันพระปกเกล้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงข้อเสนอของรัฐบาลที่ให้มี ส.ว.สรรหาทั้งหมด ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ว่า การเลือกส.ว.สรรหา หรือการส.ว.กันเองแบบไขว้กลุ่มอาชีพคงไม่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องฟังเหตุผลว่าเลือกอย่างไร แต่ส่วนตัวอยากให้ส.ว.เลือกโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมากกว่า แต่ถ้ากังวลว่าพรรคการเมืองจะเข้าไปยุ่งก็ออกแบบให้เลือกตามสายอาชีพได้ ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า คสช.สามารถเข้าไปนั่งเป็นส.ว.สรรหาได้ คิดว่าคนที่มีตำแหน่งทางการเมืองในขณะนี้ต้องระวัง เพราะดำเนินการเพื่อหวังจะสืบทอดอำนาจจะเป็นปมความขัดแย้ง ตนอยากฟังให้ชัดว่า ที่พูดถึงภาวะ 5 ปีนั้นต้องการอะไร เพราะเท่าที่เห็นมีแค่เรื่องการปฏิรูปอย่างเดียว ดังนั้นต้องชัดว่า ขอบเขตคืออะไร และจะไปสร้างปัญหากับกลไกการทำงานหรือไม่ ส่วนที่ระบุว่า การมีส.ว.สรรหาใน 5 ปี เพื่อที่จะทำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปนั้น คิดว่า เรื่องดังกล่าวจะสำเร็จและยั่งยืนได้ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นหากไปทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้เสร็จก่อนเลือกตั้งโดยหวังให้เกิดการผูกมัดอีก 20 ปี โดยที่ประชาชนหรือพรรคการเมืองต่างๆ ไม่เห็นด้วยนั้น ก็เป็นไปได้ยากอยู่แล้ว และจะเป็นปมความขัดแย้ง

เมื่อถามว่าการที่รัฐบาลเสนอให้มีส.ว.สรรหาทั้งหมดจะเป็นตัวกดดันการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. ก็มีสิทธิจะแสดงความคิดเห็น แต่อยู่ที่กรธ.ต้องเป็นตัวเอง เพราะสุดท้ายคนที่จะตัดสินคือประชาชน ไม่ใช่คนที่เสนอความเห็นไป ส่วนข้อเสนอเหล่านี้จะส่งผลต่อการลงประชามติหรือไม่ก็อยู่ที่กรธ. คิดว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และกรธ.คงต้องพิจารณาให้ดีว่าอะไรที่มีเหตุมีผล เหมาะสม ก็ควรรับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่ฟังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่อะไรที่เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไปกระทบต่อตัวโครงสร้างหลัก และจะเป็นปัญหาก็ไม่ควรรับไว้ ทั้งนี้ตนคิดว่านักการเมืองมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเท่ากับประชาชน และการจะรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ควรอยู่ที่เหตุผล ไม่ใช่ใครเป็นคนพูด ถ้าตั้งธงว่านักการเมืองพูดแล้วไม่ฟัง ก็จะมีคนตั้งธงอีกว่าเผด็จการร่างรัฐธรรมนูญเขาไม่รับ แล้วจะเดินหน้าอย่างไร ดังนั้นต้องมาดูที่สาระ แม้คนร่างจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม แต่ร่างแล้วดีสังคมก็ควรที่จะสนับสนุน ถ้าเสียงท้วงติงไม่ว่าจะมาจากใครมองว่าเลวก็ใช้ไม่ได้ แต่ถ้ามีเหตุมีผลก็ควรรับฟัง ถ้าเราไม่ทำให้สังคมอยู่กันด้วยข้อเท็จจริง ทุกอย่างจะล้มเหลว สุดท้ายจะกลับไปเรื่องของพวกพ้อง และทะเลาะกันเหมือนเดิม

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณีที่กกต. กำหนดบทลงโทษบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไว้รุนแรงมาก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลักของกฎหมายประชามติต้องเหมือนกับกฎหมายเลือกตั้ง การรณรงค์เคลื่อนไหวตราบเท่าที่ไม่ได้ไปยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บิดเบือน หลอกลวง ก็สามารถทำได้ ตรงนี้ต้องระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนเรื่องการนับคะแนนผู้ออกเสียงประชามตินั้น ถึงอย่างไรก็ต้องมีการแก้ไขให้มีการนับคะแนน ให้เป็นผู้ใช้สิทธิเป็นอย่างน้อย ซึ่งตอนนี้ก็ละเอียดลงไปว่าจะไม่นับบัตรเสีย และโนโหวต เข้าใจว่าไม่มีช่องให้กาทั้ง 2 เรื่องอยู่แล้ว ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่าเอาเสียงข้างมากระหว่างคนที่ไปออกเสียงจริงๆ ไม่ใช่ไปใช้สิทธิเฉยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image