ที่มา | คอลัมน์กรองกระแส มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 4-10 มีนาคม 2559 |
---|
ถึงแม้ คสช. และรัฐบาลจะสำแดงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนกรกฎาคม 2560 ให้จงได้
แต่ความรู้สึกในทาง “สังคม” ก็เริ่ม “ไม่แน่ใจ”
เช่นเดียวกับ แม้การประชุมร่วมระหว่าง คสช. และ ครม. จะนำไปสู่มติที่เห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยเฉพาะในประเด็นอันเกี่ยวกับการทำประชามติ แต่ความรู้สึกในทาง “สังคม” ก็เริ่ม “ไม่แน่ใจ”
เป็นความไม่แน่ใจว่าจะมีการทำ “ประชามติ” หรือไม่ เป็นความไม่แน่ใจว่าหากทำ “ประชามติ” จะสามารถผ่านความเห็นชอบหรือไม่
ในที่สุดก็ไม่แน่ใจว่า “รัฐธรรมนูญ” จะเป็นอย่างไร
เมื่อไม่แน่ใจในเรื่อง “ประชามติ” เมื่อไม่แน่ใจในเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” แล้วจะบังเกิดความแน่ใจเรื่อง “การเลือกตั้ง” ได้อย่างไร
ถามว่าความไม่แน่ใจในทิศทางเช่นนี้มี “มูลเชื้อ” มาจากอะไร
คำตอบซึ่งตรงเป้าอย่างที่สุดก็คือ หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านมาเกือบ 2 ปี คสช. แทบไม่มีผลงานอะไรบรรลุตามเป้าหมายที่ได้ประกาศอย่างขึงขังเลย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรองดอง สมานฉันท์
กรณี “สรยุทธ”
รูปธรรม ล้มเหลว
ความขัดแย้ง แตกแยกในทางความคิดอันเนื่องแต่กรณี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นตัวอย่างอันเด่นชัดอย่างยิ่งของความล้มเหลวในการปรองดอง สมานฉันท์ ทางสังคม
บทสรุปเช่นนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับคำพิพากษาของ “ศาล”
อย่าลืมเป็นอันขาดว่าที่มีคำพิพากษาออกมา เสมอเป็นเพียง “ศาลชั้นต้น” ภายในกระบวนการยุติธรรมยังให้โอกาส นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อีก 2 ศาล คือ ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
แต่ “ปฏิกิริยา” ในทางสังคมให้ความเคารพต่อกระบวนการทางศาลหรือไม่
สภาพที่ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และช่อง 3 ประสบในขณะนี้ เป็นสภาพอย่างเดียวกับที่หลายคนได้ประสบมาแล้วตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และรวมถึงตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
เป็นความพยายามที่จะแสดงพลังทางสังคมในการไล่ล่า ทำลายล้าง โดยไม่สนใจต่อขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ได้มีการจำแนกแยกแยะในรายละเอียดของเรื่องราวอย่างถ่องถ้วน
อาศัย “อารมณ์” อาศัย “ความหงุดหงิด” ความไม่พอใจเป็นทิศทาง
ที่สรุปเช่นนี้มิได้หมายความว่าจะปกป้อง นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และช่อง 3 โดยไม่เคารพต่อข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาของศาลสถิตยุติธรรม เพียงแต่เรียกร้องต้องการให้พิจารณากรณีที่เกิดขึ้น 1 โดยเคารพต่อกระบวนการและขั้นตอนของศาล
1 โดยเคารพต่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และช่อง 3 ด้วยว่าเขาควรมีโอกาสในการแก้ต่างและป้องกันตัว
ป้องกันตัวตามศักดิ์สิทธิ์อัน “รัฐธรรมนูญ” และ “ความเป็นมนุษย์” จะมอบให้ได้
รัฐประหาร 2549
รัฐประหาร 2557
มีตัวอย่างมากมายในทางสังคม ในทางการเมืองของบรรดา “เหยื่อ” ของสถานการณ์แห่งความขัดแย้ง ความแตกแยกที่เกิดขึ้น
ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
ต่อเนื่องมาแม้กระทั่งก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
กรณีที่หลายภาคส่วนกำลังกระทำกับ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) คือตัวอย่าง 1 นอกเหนือไปจากกรณีของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และช่อง 3
ทั้งๆ ที่ท่านเป็นสมณะระดับ “สมเด็จพระราชาคณะ”
ทั้งๆ ที่คุณงามความดีของท่านเป็นที่ยอมรับตั้งแต่ต้นจนกระทั่ง 91 พรรษาว่าเป็นที่ปรากฏทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งๆ ที่มติโดยเอกฉันท์ของ “มหาเถรสมาคม” เห็นชอบให้เสนอชื่อท่านเพื่อให้ดำรงอยู่ทั้งในฐานะ “ผู้ปฏิบัติหน้าที่” แทนสมเด็จพระสังฆราช และทั้งในฐานะผู้มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20
แล้วสังคมแห่งความขัดแย้ง ความแตกแยก กระทำต่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) อย่างให้เกียรติและความเหมาะสมหรือไม่
แม้กระทั่ง “รถโบราณ” ในพิพิธภัณฑ์ก็ถูกเรียกว่า “รถหรู”
มีความพยายามสกัด ขัดขวาง มิให้กระบวนการเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ดำเนินไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 โดยราบรื่น
สาเหตุมาจากอะไร ใครเป็นคนทำให้เกิดปัญหา สังคมรับรู้กันอย่างกว้างขวางและด้วยความเศร้าสลดใจ
เป็นชะตากรรมจากความขัดแย้ง เป็นชะตากรรมจากความขัดแย้ง
ปัญหา ไม่มีวันจบ
ปัญหา ไม่มีวันยุติ
จากกรณีของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา และช่อง 3 นำไปสู่การเปรียบเทียบกับปัญหาที่กระทำต่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปัญโญ) ยืนยันว่า นี่คือ ตัวทุกข์ นี่คือ ตัวปัญหา
ตราบใดที่ตัวทุกข์ ตัวปัญหา ในลักษณะเช่นนี้ยังดำรงอยู่ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กระทั่งก่อนและหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ก็สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการที่จะแก้ตัวทุกข์ แก้ปัญหายังคงดำรงอยู่
เช่นนี้แล้วการปรากฏขึ้นของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญจึงแทนที่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา แก้ไขความทุกข์อันหมักหมมมาเป็นเวลา 10 ปี กลับจะยิ่งทับถมเป็นทบเท่าทวีคูณ
สะท้อนเป็นลูกระนาดไปยังกระบวนการแก้ปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ”
สะท้อนเป็นลูกระนาดไปยังกระบวนการที่จะผลักดันให้ “ร่าง” รัฐธรรมนูญผ่านการยอมรับในการทำ “ประชามติ” ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะผ่านไปโดยราบรื่น กระทั่งบังเกิดความไม่แน่ใจต่อ “ร่าง” รัฐธรรมนูญ
กระทั่งเกิดความไม่แน่ใจต่อกระบวนการ “ประชามติ” และกระทั่งบังเกิดความไม่แน่ใจต่อกระบวนการของ “การเลือกตั้ง”
เหล่านี้คือ “ปฏิกิริยา” อันดำเนินไปเหมือน “ลูกโซ่”