รัฐบาลสั่งปราบปรามผู้มีอิทธิพลครั้งใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับประชาชน โดยขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลไว้ 6 พันราย แบ่งเป็น 16 ฐานความผิด อาทิ นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ การฮั้วประมูลและขัดขวางการเสนอ การแข่งขันราคาในการประมูลงานของทางราชการ การเรียกรับประโยชน์จากคิวรถจักรยานยนต์และรถยนต์รับจ้างผิดกฎหมาย การเรียกรับผลประโยชน์จากโรงงาน ร้านค้า สถานบริการ และสถานประกอบการต่างๆ การลักลอบขนสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน น้ำมันปาล์มเถื่อน บุหรี่-สุราเถื่อน และการรับเคลียร์การนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ฯลฯ รวมถึงผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
การปราบปรามครั้งนี้ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าผู้มีอิทธิพลจะลดลง 60-70 เปอร์เซ็นต์ สังคมจะดีขึ้น พี่น้องประชาชนถูกข่มขู่รังแกน้อยลง สามารถใช้ชีวิตปกติสุขได้ แน่นอนว่า ความตั้งใจหรือเจตนาของเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี การที่มีการตระเตรียมข้อมูลพฤติกรรม ก็ทำให้เข้าใจว่าน่าจะมีการทำการบ้านล่วงหน้า ไม่ใช้อำนาจอย่างสะเปะสะปะปราศจากหลักฐาน และที่จริง ตำรวจตลอดจนหน่วยงานในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาดไทย ยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการได้เป็นประจำอยู่แล้ว เพราะมีการข่าวและการร้องเรียนจากประชาชนตลอดเวลา หากถือเอาการปราบปรามใหญ่ในคราวนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องและตรงไปตรงมาตามกฎหมายต่อไป เชื่อว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์ ได้มีชีวิตที่ปกติสุข
อย่างไรก็ตาม การปราบปรามเช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่หลายรัฐบาลเคยดำเนินการมาแล้ว และมีบทเรียนที่พึงรับเป็นบทเรียน ก็คือ การปราบปราม การใช้อำนาจในสภาพการเมืองเช่นนี้ หากถูกฝาถูกตัว ย่อมเป็นเรื่องดี แต่หากเกิดการแอบแฝง มุ่งดำเนินการเพื่อเป็นผลงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาจเกิดความย่อหย่อนในเรื่องของพยานหลักฐานได้ หรืออาจจะเป็นการฉวยโอกาสใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่กำจัดกวาดล้างด้วยเหตุผลอื่น ที่มิใช่เรื่องของการกระทำความผิด ทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์พิเศษอย่างปัจจุบัน จะยิ่งซ้ำเติมบรรยากาศภายในประเทศและภาพลักษณ์ ที่จะปรากฏต่อต่างประเทศ