สมาคมต้านโลกร้อนออกแถลงการณ์ เรียกร้องหัวหน้าคสช.ปลดรมว.เกษตรฯ-อธิบดีกรมชลฯ บิดเบือนข้อมูลเขื่อนแตก

วันที่ 29 กรกฎาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องกรมชลประทาน : หยุดบิดเบือนข้อมูลข่าวสารกรณีเขื่อนห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนครแตกพัง และหัวหน้า คสช.ควรปลดอธิบดีกรมชลประทาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกไปเสีย โดยแถลงการณ์ระบุว่า

กรณีที่มีพายุ “เซินกา (Sonca)” พาดผ่านพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือในหลายๆ จังหวัด เป็นเหตุให้เกิดพายุและฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ในขณะนี้นั้น แต่ปรากฏว่าในพื้นที่ จ.สกลนคร โดยเฉพาะพื้นที่เขื่อนห้วยทรายมีการปล่อยปละละเลยให้มีการกักเก็บและสะสมปริมาณน้ำในเขื่อนไว้เป็นปริมาณมากกว่า 3.05 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เกินกว่าปริมาตรความจุของเขื่อนจะรองรับได้เพียง 2.66 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เกิดน้ำล้นคันเขื่อนจนเป็นเหตุให้สันเขื่อนแตกยาวมากกว่า 20 เมตร ทำให้เกิดน้ำทะลักกว่า 1 ล้าน ลบ.ม.ไหลลงสู่ด้านท้ายของเขื่อนไปท่วมพื้นที่ ต.ขมิ้น ต.พังขว้าง ซึ่งมีบ้านเรือน เรือกสวน ไร่นา รถยนต์ของชาวบ้านและพื้นที่ทางการเกษตรจมอยู่ในน้ำ ก่อให้เกิดความเสียหายหลายร้อยหลายพันล้านบาทจนยากที่จะประเมินได้ในปัจจุบัน

แต่ทว่ากรณีที่เกิดขึ้นกรมชลประทานกลับออกมาชี้แจงบิดเบือนข้อมูลข่าวสารผ่านเอกสารเผยแพร่ของกรมว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “การกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร” เท่านั้น และยังอ้างอีกว่า “ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดๆ ที่แตกร้าว ทุกอ่างยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี” การให้ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนดังกล่าวเป็นกลวิธีสร้างการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของกรมชลประทานที่ควรชี้แจงแถลงไขข้อมูลข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ประชาชนทราบตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 76 ให้การคุ้มครองไว้ ซึ่งยังผลให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น
เพราะประชาชนเกิดการชะล่าใจจนไม่สามารถป้องกันแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมอย่างฉับพลันได้ กรณีที่เกิดขึ้นสมาคมขอเรียกร้องมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้โปรดระงับปัญหาเสียแต่ต้นโดยการสั่งปลด “อธิบดีกรมชลประทาน” และ “รมว.เกษตรฯ” ในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ออกไปเสียจากตำแหน่งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแต่งตั้งบุคคลที่มีความพร้อม มีความสามารถ และไม่มีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชนมาทำหน้าที่แทนเสียโดยพลัน จึงจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่รัฐบาลได้

ทั้งนี้ขอเสนอให้เขื่อนทุกเขื่อน(อ่างเก็บน้ำ) ของกรมชลประทานทุกแห่ง จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง จัดทำแผนรองรับความเสี่ยง และมีการวางระบบการแจ้งข้อมูลสถานการณ์ของน้ำหรืออุทกวิทยาให้ประชาชนท้ายเขื่อนทราบในทุกช่องทาง เพื่อที่ประชาชนจะได้เตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที
และอย่าได้ใช้อำนาจรัฐและเครื่องมือสื่อสารของรัฐบิดเบือนข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนอีกต่อไปเลยด้วย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image