‘แอมเนสตี้ฯ’ ห่วงไทยใช้ ม.116 ปิดปากคนเห็นต่าง เรียกร้องยกเลิกข้อกล่าวหา ‘ประวิตร’-ให้เสรีภาพสื่อ

ภาพ: Vinai Dithajohn

วันที่ 4 สิงหาคม 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความเป็นห่วงถึงการใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 ปราบปรามคนเห็นต่างของทางการไทยที่ยังไม่มีท่าทียุติลง โดยเรียกร้องให้ส่งเสริมเสรีภาพสื่อให้ทำงานโดยไม่ถูกคุกคาม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าความพยายามของทางการไทยที่จะใช้กระบวนการทางอาญาเพื่อคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีคนไทยหลายสิบคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแค่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ ทั้งในการชุมนุมหรือผ่านโซเชียลมีเดีย

เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “รัฐบาลไทยได้ใช้กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและคำสั่งต่างๆ หลายฉบับเพื่อปิดปากผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะกับสื่อมวลชน”

ปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ผ่านการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ คสช. บนเฟซบุ๊ก ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง เขาอาจต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุดหลายสิบปีจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ

Advertisement

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อกล่าวหาและยุติธรรมกระบวนการทางกฎหมายที่คุกคามการทำงานของเขา ตลอดจนส่งเสริมให้สื่อมวลชนต่างๆ ในประเทศสามารถทำหน้าที่และแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยปราศจากการคุกคามใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image