การพัฒนาที่ปราศจากเงื่อนไขทางสังคม : โดย นิิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อผมเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มเต็มที่ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น แทนที่สภาเศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งตั้งมาตั้งแต่ 2493 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ที่ว่าแทนนั้น ไม่ใช่แค่แทนที่ชื่อเท่านั้น ที่จริงแล้วมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 อย่างเกิดขึ้น

ประการแรกก็คือสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของ
จอมพล ป. มีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาล นั่นหมายความว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อนโยบายและการดำเนินงานทางเศรษฐกิจต่อรัฐสภา แต่สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มีอำนาจและบทบาทหน้าที่มากขึ้นกว่านั้น ซ้ำมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงมีอำนาจตัดสินใจ โดยรัฐบาลก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครอีก เพราะภายใต้เผด็จการทหาร รัฐสภาคือกลุ่มคนที่คณะทหารแต่งตั้งขึ้นเอง สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติจึงริบอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญไปจากประชาชน แม้เมื่อระบบรัฐสภากลับคืนมา “ขุนนางสภาพัฒน์” ก็ยังสงวนอำนาจนั้นไว้ และไม่พอใจนักการเมืองคนใดที่เข้ามาแก้ไขหรือกำกับทิศทางของแผนพัฒนามากไปกว่าพิธีกรรม

สรุปก็คือโครงสร้างของสภาพัฒน์นั้น ถูกสร้างและออกแบบภายใต้เผด็จการทหาร และไม่อาจทำงานในระบบรัฐสภาได้อีกเลย

Advertisement

ประการที่ 2 คือแนวคิดเรื่องการ “พัฒนา” ซึ่งถูกส่งต่อมาจากตะวันตก นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาไทยซึ่งได้รับทุนจากสหรัฐให้ไปศึกษาต่อในสหรัฐ ต่างสมาทานทฤษฎีการพัฒนาของนาย W. W. Rostow (The Stages of Economic Growth) ซึ่งเน้นปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการ “ทะยานขึ้น” ของการผลิต เมื่อ “ทะยานขึ้น” แล้ว ก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเศรษฐกิจที่ “พัฒนาแล้ว” ภายในไม่กี่ชั่วอายุคน (อย่างที่เกิดหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป)

การเน้นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นหลักเช่นนี้ มักทำให้นักพัฒนาไทยลืมไปว่า การพัฒนาไม่ใช่การเพิ่มรายได้ต่อรายหัวประชากร แต่คือการเพิ่มผลิตภาพต่อรายหัวของประชากรต่างหาก การเพิ่มผลิตภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้จากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยทางสังคม, วัฒนธรรม และการเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญอยู่ด้วย

ปัญญาชนไทยสมัยที่ผมเป็นหนุ่มมองเห็นช่องโหว่ของนโยบายพัฒนาเช่นนี้เหมือนกัน นอกจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้ว ปัญญาชนทุกคนที่ถูกสัมภาษณ์
ในโครงการวิจัย “ปัญญาชนสยาม” ของ ศ.เฮอร์เบิร์ต ฟิลลิปส์ ต่างพูดในทำนองเดียวกันว่า การพัฒนาต้องรวมเงื่อนไขอื่นๆ ไว้ด้วย

Advertisement

น่าประหลาดที่ว่า เงื่อนไขอื่นๆ ที่ปัญญาชนสยามห่วงใยว่าไม่ถูกรวมในนโยบายพัฒนาก็คือเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ทุกคนรู้ดีว่านโยบายพัฒนาย่อมนำความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลมาแก่ประเทศ แต่ไม่ต้องการให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นกระทบถึงสังคมตามประเพณี และวัฒนธรรมตามประเพณี ทุกคนเป็นห่วงว่า “ความเป็นไทย” จะมลายหายสูญไปกับการพัฒนา

ฉะนั้นแทนที่อยากจะเห็นการพัฒนาที่ประกอบด้วยพลวัตด้านต่างๆ มากกว่าด้านเศรษฐกิจ ปัญญาชนไทยในรุ่นนั้นกลับอยากเห็นสังคมหยุดนิ่งกับที่ ดังนั้นจึงไม่สู้ต่างจาก Rostow นัก นั่นคือการพัฒนาขึ้นกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ โดยปัจจัยทางสังคม, วัฒนธรรม และการเมืองไม่เกี่ยวเลย

แม้กระนั้น รัฐบาลทหารก็ยอมผนวกเอา “สังคม” เข้าไปอยู่ในสภาพัฒน์ใน พ.ศ.2515 เมื่อเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเหนือประชาชนนี้เป็น “คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

ผมอยากจะเดาว่า ความคิดของปัญญาชนสยาม และ “ขุนนางสภาพัฒน์” เกิดจากการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปมาอย่างผิดๆ ก่อนหน้างานศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการที่ถูกเรียกว่า “ซ้ายใหม่” (ซึ่งคนพวกนี้ไม่อ่าน) ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป โดยเฉพาะในประเทศไทย มุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตเป็นหลัก (เช่นใช้พลังงานไอน้ำแทนพลังงานสัตว์และคน) ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม, วัฒนธรรม และการเมืองเป็นผลพลอยได้ เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาไปแล้ว

นักวิชาการ “ซ้ายใหม่” นี่แหละ ที่ทุ่มเทการศึกษาของตนไปยังปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือการผลิต ที่นำความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลและลึกซึ้งมาแก่ยุโรปตะวันตก

จนทำให้เห็นอย่างชัดเจนได้ว่า เพื่อจะทำให้ผลิตภาพของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นได้นั้น หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง, สังคม และวัฒนธรรม ของคนอีกหลายกลุ่ม เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ชีวิตของตนเองและครอบครัว กระบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้นำไปสู่การเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างขึ้นแก่คนทุกฝ่าย อำนาจควบคุมทางวัฒนธรรมของฝ่ายชนชั้นสูงและองค์กรศาสนาคลายตัวลง การสร้างนวัตกรรมไม่ได้ทำเฉพาะด้านการผลิต แต่มีนวัตกรรมในทางสังคม, วัฒนธรรม และการเมืองเกิดขึ้นอีกหลายอย่างในช่วง “พัฒนา” ของยุโรป

สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ ลัทธิเสรีนิยม, ลัทธิสังคมนิยม, และการเคลื่อนไหวด้านอื่นๆ ไม่ใช่แนวคิดที่เกิดขึ้นลอยๆ แต่ผูกพันกับวิถีการผลิตที่เปลี่ยนไป ทั้งมีส่วนในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ด้วย

แต่ไม่จำเป็นว่าการพัฒนาจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นในทิศทางเดียวกันเสมอไป ญี่ปุ่นใช้คุณค่าตามประเพณีหลายอย่าง (ของชนชั้นซามูไร) เป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่ความเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง, สังคม และวัฒนธรรมในจีนก็มิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับยุโรปตะวันตก

ในขณะที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการพัฒนา อาจเป็นสูตรตายตัว คือมีลักษณะที่เหมือนตรงกันในทุกสังคม แต่เงื่อนไขทางสังคมที่จะทำให้เกิดการพัฒนา ไม่ได้มีสูตรตายตัวอย่างนั้น เพราะแตกต่างกันในแต่ละสังคม แต่ก็อาจมีอะไรบางอย่างที่ตรงกัน เป็นเงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ด้วย เพียงแต่เรายังมีความรู้ไม่เพียงพอจะชี้ได้ว่า เงื่อนไขดังกล่าวนั้นคืออะไรบ้าง

เมื่อ 55 ปีมาแล้ว Clifford Geertz ทดลองศึกษากลุ่มนักลงทุน (ในที่นี้หมายถึง entrepreneurs ไม่ใช่นักเล่นหุ้นหรือแทงหวย) ใน 1-2 เมืองของอินโดนีเซีย (Peddlers and Princes) แล้วพบเงื่อนไขทางสังคม, วัฒนธรรม และการเมืองที่ต่างกันมาก แต่เขาก็พบลักษณะบางอย่างที่เหมือนตรงกันด้วย ซึ่งเขาสรุปเอาไว้ แต่เตือนว่าข้อมูลที่เขามีแคบเกินไปที่จะกล่าวได้ว่าเงื่อนไขตรงกันที่เขาพบนี้ใช้ได้ทั่วไป ยังต้องรอการศึกษาทำนองนี้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกมาก

แม้กระนั้น ข้อสรุปบางข้อของเขาก็น่าสนใจแก่ผมมาก เพราะดูเหมือนจะอธิบายวิถีการพัฒนาในประเทศไทยได้ดีพอสมควร

ข้อสรุปกลุ่มหนึ่ง พูดถึงกลุ่มคนที่เป็นพลวัตในความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นกลุ่มเฉพาะ ไม่ใช่คนทั่วไปในสังคม หรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญกับคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง คนในกลุ่มเฉพาะที่ว่านี้คือคนที่เคยมีประสบการณ์หลุดออกจากหมู่บ้าน จึงมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้าง เช่นพ่อค้าเร่ในเมืองหนึ่งบนเกาะชวา ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้ารายย่อย จากเปอร์เซีย-อาหรับ-อินเดีย และตั้งรกรากบนเกาะชวามานานแล้ว ประกอบอาชีพค้าขายเร่ต่อไปตามเดิมจนถึงลูกหลาน (peddlers) ส่วนกลุ่มคนกลุ่มนี้ในเมืองหนึ่งของเกาะบาหลีก็คือพวกเชื้อสายของพวกเจ้าครองนครรัฐต่างๆ ซึ่งบรรพบุรุษมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไกลเกินหมู่บ้าน ในฐานะนักการเมืองและนักปกครองของนครรัฐเหล่านั้น (princes) ลูกหลานจึงรับเอาเครือข่ายสายสัมพันธ์จากบรรพบุรุษมาด้วย

นี่คือกลุ่มเฉพาะในสังคมชวาและบาหลี ที่ฉวยโอกาสจากการพัฒนามาเป็นผู้ลงทุน และผู้นำพลวัตของความเปลี่ยนแปลง

หากดูจากบริบทของการพัฒนาในประเทศไทย กลุ่มเฉพาะที่กลายเป็นผู้ลงทุนและนำพลวัตของความเปลี่ยนแปลงคือ ชนชั้น “ผู้ดี” กับเจ๊ก คน 2 กลุ่มนี้เท่านั้น ที่มีประสบการณ์นอกหมู่บ้าน และมีเครือข่ายซึ่งอาจปรับเปลี่ยนมาใช้หาประโยชน์ในนโยบายพัฒนาของรัฐได้ พลวัตของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเกิดใน 2 กลุ่มก่อน และย่อมมีผลกระทบต่อสังคมและการเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ย่อมเร่งเร้ากระบวนการเปลี่ยนเป็นไทยของเจ๊ก ทำให้แทรกแซงการเมืองได้อย่างชอบธรรมมากขึ้น

ข้อสรุปอีกอย่างหนึ่งของ Geertz ก็คือคนในกลุ่มเฉพาะดังกล่าวมักมองตนเองว่าเป็นคนเคร่งศาสนา
ทั้งเข้าใจและปฏิบัติศาสนาได้ถูกต้องตามคำสอน ในขณะที่คนอื่นๆ ที่เหลือในสังคมมักไม่เข้าใจคำสอน หรือเชื่อถือคำสอนที่ฟั่นเฟือน และไม่ปฏิบัติศาสนาอย่างเคร่งครัดเพียงพอ

พูดสั้นๆ ก็คือ คนในกลุ่มเฉพาะไม่ได้คิดว่าตัวเก่งกว่าคนกลุ่มอื่นอย่างเดียว ยังคิดว่าตัวดีกว่าคนกลุ่มอื่นด้วย
ข้อสรุปนี้เข้ากับสังคมพัฒนาของไทยอย่างไร คงชัดจนไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้ว คำขวัญว่า “ลูกจีนรักชาติ” กว่าลูกไทยตัวดำๆ ในม็อบเสื้อแดงนั้น ฟังดูจริงเสียจนลืมตรรกะที่ตลบกลับของคำขวัญ

ข้อสรุปอีกข้อหนึ่งก็คือ ปัญหาที่คนในกลุ่มเฉพาะต้องเผชิญในนโยบายพัฒนา เป็นปัญหาการจัดการหรือการจัดองค์กร ไม่ใช่ปัญหาด้านเทคโนโลยีการผลิต อยากได้เทคโนโลยีใหม่เพื่อการผลิตอะไรก็ซื้อเอา ไม่ต้องคิดเอง แต่จะจัดการหรือจัดองค์กรในการผลิตอย่างไร จึงจะทำกำไรได้มาก คนพวกนี้ใช้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการและจัดองค์กรตามประเพณี แล้วหาทางประยุกต์ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผมขออธิบายง่ายๆ ด้วยตัวอย่างในประเทศไทยก็แล้วกัน หลงจู๊ไร่อ้อยขนาดใหญ่ ต้องการแรงงานจำนวนมากเป็นฤดูกาลในการผลิต จึงไม่มีใครจ้างแรงงานประจำ แต่แทนที่จะลงทุนค้นคิดเครื่องจักรที่สามารถทำงานแทนแรงงานได้ เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าแรงในระหว่างที่ไม่มีงานให้ทำ หลงจู๊พัฒนาการบริหารจัดการแรงงานขึ้นจากการใช้ทาสกรรมกร ด้วยการใช้ความรุนแรงบีบบังคับแรงงานโดยตรง หรือใช้อำนาจต่อรองของนายหน้าแรงงานในการบีบบังคับแรงงานอีกทีหนึ่ง (ทั้งหมดนี้พัฒนาขึ้นมาจากระบบทาสกรรมกร หรือระบบนายหน้าค้ำประกันทาส, ลูกหนี้, และไพร่ที่ปล่อยให้ไปทำงานหาเงินมาชำระแทนการเข้าเวร เป็นการปรับระบบจัดการและจัดองค์กรสมัยโบราณมาใช้ในกิจการทางเศรษฐกิจสมัยใหม่

ผมมีข้อสังเกตว่า การพัฒนาที่ไม่ประกอบด้วยเงื่อนไขทางสังคมทั้งของอินโดนีเซียและของไทย (พัฒนาภายใต้เผด็จการทหารเหมือนกัน) ล้วนทำให้กลุ่มนักลงทุนและผู้นำพลวัตในสังคมพัฒนาไทย มีความโน้มเอียงไปทางอนุรักษนิยมสูง ในขณะที่การพัฒนาในยุโรปตะวันตกทำให้ประชาธิปไตยขยายตัว ความเสมอภาคทางสังคมและการเมืองเพิ่มขึ้น ศีลธรรมทางศาสนาอ่อนพลังลง เปิดทางให้ศีลธรรมโลกียวิสัยได้เติบโตเข้ามาแทนที่ ผู้คนได้รับการปลดปล่อยให้มีเสรีภาพที่จะแตกต่าง และนำไปสู่การสร้างสรรค์ในทุกทางได้โดยไม่ถูกขัดขวาง สังคมแยกตัวจากรัฐชัดเจน ทั้งมีอำนาจในระดับหนึ่งที่จะกำกับควบคุมรัฐด้วย

แต่อนุรักษนิยมในประเทศไทยมีพลังมากเสียจนการพัฒนาไม่อาจเลยจากขั้น “ทะยานขึ้น” ไปได้ กลุ่มอนุรักษนิยมเข้าไปควบคุมรัฐไว้หนาแน่น ใช้อำนาจรัฐในการปิดกั้นพลวัตทางสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาในทุกวิถีทาง ยิ่งพลวัตทางสังคมดิ้นรนหาทางเติบโตขึ้นมากเท่าไร กลุ่มอนุรักษนิยมก็ยิ่งต้องใช้อำนาจรัฐเพื่อหยุดยั้งการเติบโตของพลวัตทางสังคมมากขึ้นเท่านั้น แต่เดิมกลุ่มอนุรักษนิยมใช้อำนาจรัฐเพื่อหยุดยั้งพลวัตทางสังคมเพื่อการพัฒนาได้ด้วยกลวิธีที่แนบเนียน ในบัดนี้ก็พบว่ากลวิธีเหล่านั้นใช้ไม่ค่อยได้ผลเสียแล้ว จึงหันมาใช้กำลังดิบในการยึดรัฐไว้เป็นของตนเอง และใช้อำนาจดิบในการรักษาแนวทางพัฒนาให้มีแต่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ตนอาจหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น จนทำให้การพัฒนาของไทยอยู่ในภาวะ “ทะยานไม่ขึ้น” จนถึงทุกวันนี้

จากความเข้าใจที่กล่าวนี้ ผมอยากสรุปสภาวะความขัดแย้งในประเทศไทยช่วงนี้ว่า

1.ความขัดแย้งครั้งนี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มีความขัดแย้งในทางสังคม, วัฒนธรรม, การจัดการ, การพัฒนา, วิชาการทุกแขนง ฯลฯ และเศรษฐกิจปนเปอยู่ด้วยเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่าความขัดแย้งทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้น

2.ความจนตรอกของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต้องใช้อำนาจดิบจัดการทุกอย่างให้เป็นไปตามต้องการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเกราะป้องกันฝ่ายอนุรักษนิยมได้อย่างมั่นคง กลับจะเป็นผลร้ายแก่ฝ่ายอนุรักษนิยมเอง เพราะปราศจากระเบียบกฎเกณฑ์แล้ว ฝ่ายอนุรักษนิยมจะหาความชอบธรรมในความได้เปรียบของตนอย่างไร ในสังคมอนาธิปไตย อนุรักษนิยมซึ่งเป็นฝ่ายข้างน้อยไม่เคยชนะ

3.กองทัพหรือทหารไม่ใช่ศัตรูของประชาชน พวกเขาเพียงแต่มองไม่เห็นประโยชน์ในระยะยาวของตนเอง จึงตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่มีทุกอย่างในมือเพียบพร้อมกว่าฝ่ายอื่นๆ ทั้งหมด อันเป็นผลจากการพัฒนาที่ “ทะยานไม่ขึ้น” ของไทย

4.สักวันหนึ่งในอนาคต เมื่อการปฏิรูปกลับมาอยู่ในมือประชาชน นอกจากต้องปฏิรูปกองทัพและกลไกรัฐที่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว ควรคิดถึงการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมที่จะทำให้เกิดหนทางการพัฒนา ที่ทุกฝ่ายสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี โดยไม่มีใครช่วงชิงความได้เปรียบไปครอบครองไว้ฝ่ายเดียวเช่นที่ผ่านมา จำเป็นต้องคิดถึงปัจจัยทางสังคม, วัฒนธรรม และการเมืองที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทย “ทะยานขึ้น” ได้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image