ย้อนรอย ม็อบการเมือง จาก พธม.ถึง กปปส.

แฟ้มภาพ

ย้อนกลับไปไล่เรียงเหตุการณ์ของบทบาทการเมืองไทยช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น การเมืองไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง และความแตกแยกอย่างรุนแรง ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งแยกสีเสื้อ สาเหตุมาจากความแตกต่างทางความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมือง

จากความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันนี้เอง ส่งผลให้เกิดกลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวเเป็นจำนวนมาก

เริ่มต้นช่วงประมาณปี 2548 เกิดกลุ่มการเมืองที่ชื่อว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยŽ (พธม.) มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำ มีเสื้อสีเหลืองและมือตบเป็นสัญลักษณ์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวและต่อต้านรัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเห็นว่าการทำงานของรัฐบาลขณะนั้น มีความไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตคอร์รัปชั่น

การเคลื่อนไหวครั้งนั้นจบลงด้วยการเข้ามายึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

Advertisement

กระทั่งปี 2550 มีการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่สืบทอดแนวทางการเมืองจากพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกให้มาเป็นรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาเป็นนายกฯ คนที่ 25

นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 223 วัน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการทำหน้าที่พิธีกรรายการ ชิมไปบ่นไปŽ และ ยกโขยง 6 โมงเช้าŽ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัตินายกฯ

ทำให้การเป็นนายกฯต้องสิ้นสุดลง

Advertisement

จากนั้นที่ประชุมสภามีมติเลือกให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 26 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551

มติดังกล่าวทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรอีกครั้ง

ผู้ชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภาเพื่อไม่ให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้าไปแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ เป็นเหตุให้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 381 คน

ถัดมาเพียง 2 เดือน วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2551 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน นายมณเฑียร สงฆ์ประชา จากพรรคชาติไทย และ นายสุนทร
วิลาวัลย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) ตามประกาศ คปค.ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ โดยปริยาย

ต่อมาที่ประชุมสภามีมติเลือก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นนายกฯ คนที่ 27 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 โดยมีเสียงสนับสนุนจากขั้วของอดีตพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชาชนในส่วนของกลุ่มเพื่อนเนวิน

นำมาซึ่งการประท้วงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งมีชื่อเดิมว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ (นปก.) ที่ฟื้นกลับมามีบทบาทอีกครั้ง หลังจากที่กลุ่ม นปก. เคยออกมาต่อต้านการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน

และตั้งรัฐบาลที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

บทบาทของกลุ่ม นปช. หรือคนเสื้อแดง เด่นชัดมากขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองมาเป็นรัฐบาลที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ โดยในช่วงปี 2553 กลุ่ม นปช. นำโดย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศนัดชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงจุดยืนในการขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

การชุมนุมครั้งนั้นของกลุ่ม นปช. ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานานหลายเดือน มีความพยายามของเจ้าหน้าที่ในการเข้าสลายการชุมนุมหลายครั้ง ทำให้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิต 99 ราย บาดเจ็บนับพัน เกิดการเผาสิ่งปลูกสร้างกลางกรุง และต่างจังหวัด

กระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เจ้าหน้าที่กดดันจนแกนนำ นปช.ตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัว

นำมาซึ่งการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่โดยพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งก่อกำเนิดมาจากพรรคพลังประชาชน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. โดยที่ประชุมสภามีมติเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 28 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ บริหารงานมาได้ไม่กี่วันก็ต้องเจอกับมหาอุทกภัย น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทยตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2554 พร้อมกับการถูกตรวจสอบอย่างหนักจากฝ่ายค้านถึงวิธีการบริหารจัดการน้ำ

แม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะรอดพ้นจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 พร้อมกับเดินหน้าบริหารประเทศมาถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556 ที่ประชุมรัฐสภาได้ประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ….

นำมาซึ่งการคัดค้านของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรค ปชป. โดยมองว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยนั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ลุกลามไปถึงนอกสภา โดยอดีต ส.ส.พรรค ปชป. นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯพรรค ปชป. พร้อมกับอดีต ส.ส.พรรค ปชป.บางส่วน ได้ประกาศลาออก พร้อมกับเป็นแกนนำมวลชนในนาม กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มีนายสุเทพ เป็นเลขาฯกปปส. มีการใช้นกหวีด มาเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว โดยเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกฯ ลาออกจากตำแหน่งคืนอำนาจให้กับประชาชน ขจัดอิทธิพลของระบอบทักษิณให้พ้นจากการเมืองไทย

รวมทั้งต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง แม้การชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลของกลุ่ม กปปส. ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยอมตัดสินใจยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่
แต่ท้ายที่สุดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ ทำให้เกิดปัญหายืดเยื้อบานปลายไม่มีท่าทีจะว่าจบลงง่ายๆ ส่งผลให้ทหารนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีต ผบ.ทบ.ต้องเข้ามายุติปัญหาและเข้ายึดอำนาจในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ทั้งนี้ หากพูดถึงคดีความที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมและคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นจำนวนมาก อาทิ กรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

ก่อนหน้านี้ทาง ป.ป.ช.มีมติไม่สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558

ครั้งนั้น ป.ป.ช.เห็นว่า พยานหลักฐานจากการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนหรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด

ดังนั้น จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาจากการออกคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553

โดยศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองคนออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่การเมือง ต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

และล่าสุดคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ยกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.กรณีร่วมกันสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรและไม่ดำเนินการยับยั้งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย

โดยศาลเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากการสั่งการให้เปิดทางเข้ารัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ขณะที่การชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และมิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามแผนขั้นตอนการรักษาความสงบ โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนัก

อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาดูว่า ป.ป.ช. ในฐานะโจทก์จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลหรือไม่

เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ที่สืบทอดมาจากเหตุทางการเมือง สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร

ลงเอยด้วยความสงบ หรือจะกลับไปสู่ความรุนแรงเหมือนดั่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image