นักการเมือง-นักวิชาการ วิพากษ์ ‘ยาแรง’ นอนหลับทับสิทธิ แบน2ปี

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ กรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยกำหนดบทลงโทษบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกระดับ โดยไม่มีเหตุผล จะถูกตัดสิทธิในการเลือกตั้ง 2 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ หากดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ก็ให้พ้นจากตำแหน่งทันที หากยังไม่ไปใช้สิทธิอีกก็ให้ตัดสิทธิ 2 ปีต่อไปอีก


ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)

รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ถือว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ หากไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ย่อมเสียสิทธิบางประการ เช่น เสียสิทธิการสมัครและการร้องคัดค้านในการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เสียสิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นจะเสียสิทธิไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้สิทธิเหล่านั้นคืนมาทั้งหมด

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 50(7) ให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 การที่ กรธ.กำหนดโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิในการเลือกตั้ง 2 ปี นับเป็นเรื่องที่แปลกและแตกต่างไปจากอดีต

Advertisement

ถ้าอ่านตามที่เข้าใจ หมายความว่าถ้ามีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ภายใน 2 ปี ย่อมต้องห้ามไม่ให้ไปเลือกตั้ง แต่ถ้าเกิน 2 ปี หรืออยู่ครบเทอมไม่เป็นไร ไปเลือกตั้งได้

ดูแล้วก็แปลกประหลาดดี ที่ผ่านมาแนวคิดว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ การไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงควรได้รับโทษบางประการ ผู้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในอดีตจึงพยายามคิดหาบทกำหนดโทษในทางที่เหมาะสม มีเหตุมีผล โดยเห็นร่วมกันว่าหากจะไปกำหนดถึงขนาดตัดสิทธิไปเลือกตั้งคงจะเกินเลยไปจากความพอดี

นอกจากนี้ ดูจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนมากเกินไป เพราะสิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การตัดสิทธิเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องร้ายแรง เสียสิทธิในความเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ ที่ผ่านมาจึงให้เสียสิทธิอย่างอื่นๆ โดยไม่ตัดสิทธิเลือกตั้ง

Advertisement

นอกจากนั้น รัฐควรมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนไปเลือกตั้ง ในอดีตจึงกำหนดว่าหากไปเลือกตั้งสิทธิที่เสียไปย่อมได้กลับคืนมา การลงโทษประชาชนโดยตัดสิทธิไปเลือกตั้งเป็นเวลา 2 ปี จึงนับว่าผู้ร่างกฎหมายคงจะมีไอเดียแปลกใหม่ตามบรรยากาศของการประชุมนอกสถานที่แถบชายทะเล ในความเห็นส่วนตัวแล้วเห็นว่าไปไกล เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าจะยอมรับได้จริงๆ


วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ และกำหนดว่าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะเสียสิทธิอะไรบ้าง แต่เดิมก็เสียสิทธิ 8 ประการ เช่น ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. ไม่สามารถร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ไม่สามารถลงชื่อเสนอกฎหมาย ยิ่งในการออกแบบการเลือกตั้งคราวนี้ กำหนดให้ใช้บัตรใบเดียว และทุกคะแนนมีผลต่อการเลือกตั้ง การกำหนดให้ผู้ไม่ไปเลือกตั้งเสียสิทธิจึงเป็นเหตุผลอันสมควร

แต่เรื่องการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ต้องออกคำเตือนให้ชัดเจนว่าเหตุผลอะไร เป็นเหตุผลอันสมควรที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับฟังเหตุผล อะไรเป็นเหตุผลไม่สมควร และ กกต.จะไม่รับฟัง การเจ็บป่วยแค่ไหนเพียงใด ต้องเข้านอนพักรักษาตัว หรือแค่ไปพบแพทย์ มีใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาลไหน กกต.จึงจะรับฟัง เหตุสุดวิสัยเช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือเหตุอื่นแค่ไหนเพียงใด กกต.จึงจะรับฟังว่าเป็นเหตุอันควร

ดังนั้น ต้องให้ กกต.ออกประกาศหรือระเบียบของ กกต.ต้องอธิบายให้ชัดเจนล่วงหน้าว่า หากเกิดเหตุไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะต้องไปร้องที่ไหน ต่อใคร ภายในระยะเวลาเท่าใด โดยมีเอกสารประกอบอะไรบ้าง เพื่อเป็นการรักษาสิทธิทางการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ต้องขอบคุณ กรธ.ที่เปิดโอกาสให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลกับ กกต. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิสำคัญอย่างยิ่งของพลเมือง

อย่างไรก็ตาม หากรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกถูกออกแบบมาแบบนี้ ก็เท่ากับว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะต้องเป็นหน้าที่ของประชาชน เนื่องจากการกำหนดบทในการเสียสิทธิในการไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจน


โอฬาร ถิ่นบางเตียว

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ไม่ค่อยเห็นด้วยเรื่องการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิการเลือกตั้ง เรื่องนี้ต้องคุยอีกมุมหนึ่ง การบอกว่าเป็นหน้าที่ต้องไป บางครั้งถ้าไปแล้วปรากฏว่าตัวเลือกที่ให้เลือกไม่มีความเหมาะสมที่จะให้เป็นตัวเลือก แล้วบังคับให้ไปเลือก ไม่ประสงค์ลงคะแนน ซึ่งเป็นความพยายามบังคับให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิด้วย

บางครั้งระบอบการเมืองที่ไม่มีตัวแทนให้เราเลือกคือ ทุกกลุ่มเป็นกลุ่มทุน ทุกกลุ่มเป็นตัวแทนของคนชั้นนำ ไม่มีตัวแทนของประชาชน ดังนั้น ประชาชนก็น่าจะมีสิทธิแสดงสิทธิทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการไม่ไปเลือกตั้ง เพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ไม่โอเค ไม่เห็นด้วย

แต่ถ้าบังคับโดยอ้างการเลือกตั้งเป็นหน้าที่เพื่อให้ประชาชนยอมจำนนต่อระบอบนี้โดยไม่มีทางเลือก ผมไม่เห็นด้วย จริงๆ ถ้าไม่ห้าม อาจจะเห็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้กว้างขวางขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้วการตัดสิทธิเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ กฎหมายสามารถเขียนได้ทั้งหมด แต่การเขียนบนมาตรฐานไหน ปรัชญารองรับชุดไหนคือเรื่องสำคัญ

เราให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ว่าพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่ผมกลับมองว่าสิทธิการเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนที่จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ถ้าระบอบกติกาที่ผมไม่ชอบ ก็ไม่ต้องไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น แสดงการมีสิทธิทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ไม่ยอมรับรูปแบบการเลือกตั้งในลักษณะนี้ เพราะบางครั้งดูแล้ว ระบบการเลือกตั้งที่เอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุน นักธุรกิจ ประชาชนก็ถูกบังคับให้กลายเป็นกลไกเพื่อส่งมอบความชอบธรรมให้ตัวแทนเหล่านี้

ดังนั้น มองว่าถ้าเราไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิปฏิเสธกระบวนการทั้งหมด ด้วยการไม่ไปเลือกตั้ง


ยุทธพร อิสรชัย

สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ประเด็นสำคัญคือต้องดูว่าเรื่องการเลือกตั้งเป็นสิทธิ ไม่ใช่การบังคับ การที่เราไปตั้งต้นว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญ 2540 มาจนถึงปัจจุบัน และล่าสุดจะเพิ่มความรุนแรงในการลงโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิมากขึ้น ยิ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องการเลือกตั้งเมื่อเป็นสิทธิต้องเกิดขึ้นจากเจตจำนงของบุคคล

การเลือกตั้งในหลายประเทศมีกระทั่งช่องให้กาว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งในครั้งนั้น แสดงให้เห็นถึงความมีสิทธิของพลเมืองอย่างกว้างขวาง อันนี้เป็นประเด็นเชิงปรัชญาหลักการของการเลือกตั้ง

ในทางปฏิบัติ การกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่และกำหนดว่าถ้าไม่ไปเลือกตั้งจะมีโทษ เท่ากับเป็นการจำกัดทางเลือกของประชาชน อีกด้านหนึ่งอาจทำให้เกิดการเกณฑ์คนไปลงเลือกตั้งได้ อาจทำให้กระบวนการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักการสากล คือเป็นไปโดยเสรี เสมอภาค และโดยความสมัครใจ อาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้

เรื่องนี้มองได้สองมุม โดยมุมที่มองว่าจะทำให้คนตื่นตัวกับการเลือกตั้งก็อาจมองได้ แต่อีกมุมจะทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องการปลุกระดม ถูกเกณฑ์มา ถูกอำนาจรัฐเข้ามาควบคุมกำกับ ภายใต้บทบัญญัติที่ให้อำนาจบังคับคนไปใช้สิทธิได้

การเพิ่มโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกระดับ รวมทั้งการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้น เกิดปัญหาแน่นอน สุดท้ายถ้ามีกระบวนการเกณฑ์คนไปเลือกตั้งต่างๆ จะยิ่งทำให้กระบวนการเลือกตั้งนั้นถูกระดมคะแนนเสียงหรือกระทั่งทำให้กระบวนการต่างๆ ในการซื้อเสียงมากขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะในการเลือกตั้งท้องถิ่นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มาก ยิ่งมีคนถูกบังคับให้ไปเลือกตั้งมากเท่าไร โอกาสที่จะปลุกระดมคะแนนเสียง หรือชี้ขาดด้วยคะแนนเสียงไม่มากนัก มีความเป็นไปได้

ตรงนี้เป็นปัญหาตั้งแต่รากฐานปรัชญา ถ้าเรากำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ก็จะเกิดปัญหาอย่างนี้

การเลือกตั้งไม่ควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ เพราะการเลือกตั้งต้องเป็นเรื่องของสิทธิ และการใช้สิทธินี้ต้องเป็นไปโดยเสรี หรือโดยเจตจำนงที่มีความเป็นอิสระ เป็นเจตจำนงเสรีของประชาชน

ถ้าเรากำหนดให้การเลือกตั้งกลายเป็นกระบวนการที่ถูกบังคับให้เป็นหน้าที่แล้ว เท่ากับว่าเป็นการควบคุมกำกับการใช้สิทธิของประชาชน จะยิ่งทำให้กระบวนการต่างๆ ในการใช้สิทธิของประชาชนไม่เป็นไปอย่างอิสระเสรีอย่างแท้จริง และอาจถูกแทรกแซงหรือควบคุมกำกับจากอำนาจรัฐได้ในท้ายที่สุด

แม้รัฐธรรมนูญระบุว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่การจะกำหนดให้บทลงโทษผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่รุนแรงขนาดนี้ ก็เป็นไปได้ อย่างในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เขียนว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ และผู้ไม่ไปใช้สิทธิก็เพียงถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองบางอย่าง เช่น การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในการเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่น การเสนอชื่อร่างกฎหมายต่างๆ ไม่ได้มีบทบังคับที่รุนแรงกว่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image