รายงานพิเศษ ‘แสนปม ล้านเงื่อน สภาใหม่ สร้างเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จ’

ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี กับการก่อสร้าง “สัปปายะสภาสถาน” หรืออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย ที่มีความอลังการใหญ่โตบนพื้นที่ 123.26 ไร่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้วงเงินงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีการเริ่มเซ็นสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 ระหว่างเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าจ้าง กับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้าง ที่จะต้องดำเนินการเริ่มต้นก่อสร้างงานในวันที่ 8 มิถุนายน 2556 และสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 900 วัน

ซึ่งโดยหลักแล้วการก่อสร้างจะต้องแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 แต่ด้วยสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหากองดินกว่า 1 ล้านคิว ที่ไม่สามารถนำออกจากไซต์งานได้ ไปจนถึงการส่งมอบพื้นที่ ทั้งหมดไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดเพราะติดปัญหาชุมชนต่างๆ ยังอยู่ในพื้นที่ รวมถึงโรงเรียนโยธินบูรณะที่การก่อสร้างอาคารโรงเรียนแห่งใหม่ เสร็จไม่ทันตามกำหนด จึงไม่สามารถที่จะย้ายโรงเรียนออกไปจากพื้นที่ได้

ทำให้ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 สำนักงานเลขาธิการสภาต้องขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 387 วัน ซึ่งเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 1 ที่เกิดจากความผิดพลาดของสำนักงานเลขาธิการสภาเอง ที่ไม่สามารถบริหารจัดการดินได้ การต่อสัญญาครั้งนี้จึงจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 ธันวาคม 2559

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 มีการต่อสัญญาอีกครั้งด้วยสาเหตุความล่าช้าของการส่งมอบพื้นที่ชุมชนต่างๆ ออกไปอีก 421 วัน โดยสัญญาครั้งที่ 2 นี้จะสิ้นสุดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดความคืบหน้าการก่อสร้างคืบหน้าเกือบ 40% โดยการก่อสร้างชั้นใต้ดินทั้ง 2 ชั้น เสร็จ 100% แล้ว โถงตรงกลางมีการก่อสร้างชั้นที่ 9 จากทั้งหมดจำนวน 11 ชั้น ส่วนอาคารปีกซ้าย ปีกขวา ที่จะเป็นที่ทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. คนละปีก อยู่ระหว่างการขึ้นโครงหลังคาห้องประชุมของทั้ง 2 สภา ในลักษณะของโดม

การก่อสร้างในแต่ละชั้น มีการเว้นช่องทางการเดินสายไฟไว้สำหรับการเดินระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบไอที ที่อยู่นอกเหนือสัญญาก่อสร้าง จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้รับจ้าง

Advertisement

ล่าสุดจึงมีการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักเลขาฯ, ที่ปรึกษาโครงการ (CAMA), ผู้ควบคุมงาน (ATTA), และตัวแทนผู้รับจ้าง เพื่อหารือถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการก่อสร้างที่เกิดขึ้น เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยผู้รับจ้างได้มีหนังสือขอขยายเวลาครั้งที่ 3 เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะล่าช้า ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งในเบื้องต้นมีความเห็นชอบให้ขยายเวลาครั้งที่ 3 เป็นแล้วเสร็จปลายปี 2562

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ประกาศที่จะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง คือ 1.งานที่มีแบบก่อสร้างแต่ไม่รวมอยู่ในสัญญาก่อสร้าง ที่บางส่วนคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณไว้แล้ว 3,586.9 ล้านบาท โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายสารสนเทศและการสื่อสาร 3,000 ล้านบาท และค่าสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และงานระบบประกอบอาคาร 586.9 ล้านบาท และงานที่อยู่ในแบบก่อสร้างเดิมแต่ไม่อยู่ในสัญญาอีก 2,053.1 ล้านบาท รวมเป็น 5,640 ล้านบาท

2.งานที่จำเป็นเพื่อให้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และตามวัตถุประสงค์ มีงบประมาณ 2,746 ล้านบาท รวมค่าควบคุมและงานบริหารโครงการส่วนที่เหลือ ที่จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรเพิ่ม 8,386 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาฯอยู่ในระหว่างการดำเนินการขออนุมัติกรอบวงเงินต่อ ครม.เพื่อนำมาดำเนินการทั้ง 2 ส่วน หากไม่ได้รับจะทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปอีก และไม่แล้วเสร็จในปี 2562

ในส่วนของงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติกรอบวงเงินแล้ว สำนักเลขาฯจำเป็นที่จะต้องดำเนินการประมูลโครงการโดยเฉพาะงานไอที ที่จะต้องมีการเริ่มติดตั้งระบบไปพร้อมกับการก่อสร้างตัวอาคาร ซึ่งที่ผ่านมาสำนักเลขาฯยังไม่ได้มีการเปิดประมูลแต่อย่างใด ดังนั้นหากผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามเวลา แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะใช้อาคารได้อยู่ดี รวมไปถึงระบบน้ำประปา ไฟฟ้า และระบบอากาศ

อีกทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เป็นสถานีไฟฟ้าย่อย สร้างพลังงานไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการใช้งานกับข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง 10,000 คน ที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับการผลิตไฟฟ้าให้กับครัวเรือนใน 1 อำเภอ ยังเกิดปัญหาขึ้นเมื่อในสัญญาก่อสร้างจัดสรรงบประมาณในการสร้างสถานีไฟฟ้าไว้ 16 ล้านบาท ที่เป็นการก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างอาคาร ส่วนเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)

ซึ่งในเบื้องต้นทางผู้รับจ้างได้มีการประสานไปยัง กฟน.แล้วพบว่า โครงสร้างไม่สอดคล้องกับระบบ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง กฟน.ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสำนักเลขาฯสภา ในการจัดซื้อเครื่องจักรไฟฟ้า 300 กว่าล้านบาท และได้มีการจัดซื้อไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถสร้างอาคารได้ เพราะหากจะสร้างอาคารให้สอดรับกับระบบของเครื่องจักรจะต้องใช้งบประมาณ 75 ล้านบาท หรืออนุมัติงบเพิ่มอีก 60 ล้านบาท แต่ทางสำนักเลขาฯสภายังไม่มีการดำเนินการใดๆ ผู้รับจ้างจึงยังไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้

ทั้งนี้สำหรับการสร้างโรงงานไฟฟ้าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี ติดตั้งเครื่องจักร 1 ปี และเซตระบบอีกประมาณ 6 เดือน จึงจะใช้งานได้เต็มรูปแบบ

ปัจจุบันยังไม่มีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าควบคู่ไปกับตัวอาคาร หากอาคารแล้วเสร็จ ภายในอาคารก็จะยังไม่สามารถมีไฟฟ้าใช้ รวมถึงสาธารณูปโภคทุกประการทั้งน้ำ ไฟฟ้า แอร์ ดังนั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้เวลา 2 ปีครึ่ง จะต้องเริ่มดำเนินการในช่วงปัจจุบันนี้เพื่อให้ระบบทั้งหมดสอดคล้องและสัมพันธ์กัน

นอกจากนี้หากกางแบบที่บริษัทผู้ออกแบบกำหนดมานั้น มีหลายอย่างที่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณพื้นที่ใช้งานจริงของอาคารรัฐสภาทั้งหมด มีความต้องการใช้พื้นที่ 307,500 ตารางเมตร แต่ผู้ออกแบบกลับออกแบบพื้นที่ใช้สอยถึง 480,350 ตารางเมตร ทำให้มูลค่าการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นตามมา

ยังไม่รวมถึงการออกแบบห้องโถงที่มีการใช้แก่นไม้สักทอง 4,082 ต้น ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 142,268,580 บาท ซึ่งกว่าจะหาไม้สักที่ตรงตามแบบได้ใช้เวลาไม่น้อย

นอกจากนี้ ภายในโดมที่จะเป็นห้องประชุมของรัฐสภาและห้องประชุมของ ส.ว. ในส่วนของเพดานเป็นการนำไม้สักฉลุมาตกแต่งตามแบบที่กำหนด โดยมูลค่าการตกแต่งและก่อสร้างเฉพาะส่วนนี้สูงถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสูญเสียงบประมาณของรัฐเกินความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามทางผู้รับจ้างต้องดำเนินการตามแบบที่ได้รับอนุมัติ มิเช่นนั้นผู้รับจ้างจะมีความผิดในการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบ

และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือการเดินระบบแอร์ปรับอากาศ จะมีการเดินเข้าไปยังห้องทำงานต่างๆ และห้องประชุมเท่านั้น แต่ในช่องทางเดินและห้องโถง ไม่มีการวางระบบปรับอากาศแต่อย่างใด ซึ่งทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าทำไมการออกแบบจึงไม่มีตรงนี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีฝ่ายการเมืองออกมาเปิดเผยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น จนทำให้นายพีระ นาควิมล ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริษัทซิโน-ไทย ออกมายืนยันว่า การที่นักการเมืองบอกว่ามีการทุจริตในโครงการ ขอให้ออกมาบอกชัดเจนว่ามีการทุจริตตรงไหนบ้าง อย่าออกมาพูดแบบตีขลุม หรือจะแจ้งความจับการทุจริตเลยก็ได้ ท่านสามารถให้หน่วยงานใดก็ตามเข้ามาประเมินโครงการนี้ได้ทันที ตอนนี้งานก่อสร้างดังกล่าวมีงบประมาณขาดทุนอยู่ จึงไม่ทราบว่าจะเอาเงินมาทุจริตตรงไหนได้บ้าง

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า แผนการก่อสร้างรัฐสภาได้มีการเปลี่ยนแบบเพื่อให้บริษัทซิโน-ไทยได้เปรียบนั้น ขอชี้แจงว่าไม่มีแน่นอน และหากสงสัยสามารถขอเอกสารได้ที่ที่ปรึกษาโครงการ ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรัฐสภาเป็นโครงการที่สะอาดที่สุดเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 2562 รัฐสภาจะสร้างเสร็จแน่นอน แต่ถามว่าจะอยู่ได้หรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวกับผม”

ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายระหว่างการก่อสร้าง ภาครัฐเองก็ควรที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม ไม่ใช่เพื่อช่วยผู้รับจ้าง แต่เพื่อให้งานที่เป็นของหลวงเองสามารถใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่อาคารรัฐสภาแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ ไม่ใช่ว่างานก่อสร้างภายนอกเสร็จเรียบร้อย แต่ภายในไม่มีน้ำ ไฟ หรือแม้แต่อากาศหายใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image