“เลขาป.ป.ท.” ยันให้ขรก.ยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ยุ่งยาก เน้นป้องปรามทุจริตเพราะหาต้นตอง่าย

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยถึงแนวคิดการให้ข้าราชการทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อป้องกันการทุจริตว่า เป็นแนวคิดของทาง ก.พ.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เห็นว่าข้าราชการทุกคนควรยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ก.พ.ทราบตั้งแต่วันรับรายงานตัวเข้ามาเป็นข้าราชการทันที และเมื่อมีการเลื่อนตำแหน่งหรือเปลี่ยนหน่วยงานก็ต้องมายื่นให้ ก.พ.ใหม่อีกครั้งเพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทั้งมรดกตกทอดและทรัพย์สินที่ได้มา เมื่อเรามีข้อมูลส่วนนี้ข้าราชการก็จะมีความยั้งคิดยั้งทำเนื่องจากต้องคำนึงว่าภาครัฐมีข้อมูลอยู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ดำริว่าไม่ได้ขัดอะไร แต่ขอให้ดูขั้นตอนทุกอย่างให้รอบคอบ รัดกุม รวมถึงต้องให้คิดถึงเจ้าหน้ารัฐหลายๆ กลุ่ม และได้สั่งการให้ไปดูโมเดลจากต่างประเทศว่ามีประเทศไหนที่ทำบ้างจะได้ไปศึกษาผลดีผลเสียดู จากนั้นตนในฐานะเลขา ศอตช.ก็จะประสานไปยัง ก.พ.เพื่อดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่า จะทำให้ข้าราชการเกิดความยุ่งยากในการยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ นายประยงค์กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ยุ่งยาก เพราะไม่เหมือนกับข้าราชการระดับสูงที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และจะให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.)ไปคิดระบบที่เสถียรมารองรับด้วย โดยให้ข้าราชการใหม่ที่ต้องกรอกแบบฟอร์ม ก.พ.7 อยู่แล้วกรอกบัญชีทรัพย์สินเพิ่มไปอีกเท่านั้นเอง ทั้งนี้เราจะเห็นประโยชน์ชัดเจนต่อเมื่อเวลาผ่านไปแล้วเกิดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากเดิมผิดปกติก็จะสามารถหาต้นตอได้ไม่ยาก โดยภายในสัปดาห์หน้าตนจะสรุปข้อสั่งการและมติที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป และคาดว่าจะเรียบร้อยภายใน 3 สัปดาห์ จากนั้นตนก็จะแจ้งทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติ อย่างไรก็ตามนายกฯ ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเพราะต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะรัฐบาลต้องการทำให้ระบบป้องกันการทุจริตกลับมาเข้มแข็ง ไม่อยากให้มีช่องว่างในการทุจริตอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image