The China Card : เมื่อไทยเล่น “ไพ่จีน” โดย สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

มติชนสุดสัปดาห์ 11-17 ธันวาคม 2558

“นโยบายต่างประเทศของไทยเคลื่อนไปในทิศทางที่ให้น้ำหนักความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้งหลายใกล้เคียงกันมากขึ้น… นโยบายใหม่นี้คือ “รอบทิศทาง” เพื่อเน้นการเคลื่อนตัวออกจากการพึ่งพิงสหรัฐแต่ฝ่ายเดียว ถึงกระนั้นก็ยังคงตระหนักดีถึงความสำคัญของสหรัฐในการรักษาดุลยภาพในภูมิภาค”

กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

Advertisement

ประยุทธ์จับมือสีจิ้นผิง

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 ก็คือการ “เปลี่ยนหมุด” ในระบบพันธมิตรของไทย

วันนี้ หลายฝ่ายดูจะมีความเห็นคล้ายๆ กันว่า ไทยได้เปลี่ยนจากการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับตะวันตกโดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา และแทนด้วยการเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับจีนไปแล้ว

Advertisement

ดังนั้น คงไม่แปลกอะไรกับความเห็นที่ปรากฏในหมู่นักสังเกตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เชื่อว่า ไทยในยุคหลังรัฐประหารได้กลายเป็นสมาชิกในค่ายพันธมิตรของจีนไปแล้ว

ไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร…

ทำไมวันนี้ผู้นำไทยเชื่อว่าเขา “เล่นไพ่จีน” ดีกว่า “เล่นไพ่อเมริกัน”

หรือว่าปัญหานี้มีพัฒนาการที่สำคัญมาจากประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย

หากดูพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทยแล้ว ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ไทยจะขยับตัวออกจากการมีความใกล้ชิดกับตะวันตก เพราะอาจจะกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ยุคอาณานิคม แม้ไทยจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการยึดครองของมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างมาก

แต่ราชสำนักสยามก็มีทิศทางที่ชัดเจนที่จะไม่แตกหักกับชาติเหล่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามประคับประคองความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศสพอสมควร พระองค์มีนโยบายทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะไม่แตกหักกับชาติตะวันตก

ทิศทางของนโยบายทางยุทธศาสตร์ของสยามมีความชัดเจนในการผูกสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจต่างๆ ในยุคดังกล่าว

และขณะเดียวกันถ้าสังเกตแล้วก็จะพบว่า ในการดำเนินนโยบายของราชสำนักสยามจะไม่พยายามที่จะสร้างการ “ท้าทาย” กับชาติมหาอำนาจ เพราะผู้นำสยามตระหนักดีว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะสร้างปัญหาและผลกระทบทางการเมืองที่ไม่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของสยามแต่อย่างใด

ด้วยการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ สยามจึงสามารถประคับประคองตัวเองให้ผ่านการขยายบทบาทของรัฐมหาอำนาจได้อย่างดี…

สยามไม่ได้โชคดี แต่โชคดีที่ผู้นำสยามรู้จักที่จะกำหนดทิศทางและจังหวะก้าวในการจัดความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกเพื่อการเดินสู่อนาคต

ดังนั้น แม้สยามจะอยู่ในโลกที่ต้องเผชิญกับการคุกคามของมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม แต่ในที่สุด สยามก็จัดการตัวเองให้สามารถอยู่กับพวกเขาทั้งหมดได้

การเสด็จประพาสยุโรป และที่สำคัญคือการเสด็จเยือนฝรั่งเศสให้คำตอบอย่างดีถึงการมี “วิสัยทัศน์” ในนโยบายต่างประเทศของผู้นำสยาม

ซึ่งอาจสรุปได้ง่ายๆ ว่าการดำเนินนโยบายแบบท้าทายต่อชาติมหาอำนาจตะวันตกไม่ใช่ผลประโยชน์ของสยาม

ดังนั้น จึงพบว่าจากยุคอาณานิคมเป็นต้นมา ทิศทางการต่างประเทศของสยามเต็มไปด้วยการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาติตะวันตก

จนเมื่อระยะเวลาผ่านไป ผู้นำไทยอีกยุคหนึ่งต้องเผชิญกับความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก การขยายอำนาจของฝ่ายอักษะสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงความพยายามในการจัดระเบียบโลกใหม่ ที่ระเบียบเดิมนั้นถูกกำหนดโดยรัฐมหาอำนาจเก่าที่เป็นฝ่ายสัมพันธมิตร

ความท้าทายเกิดขึ้นจากการขยายอำนาจทางทหารของนาซีในยุคที่เยอรมนีอยู่ภายใต้การควบคุมของฮิตเลอร์ หรืออิตาลีในยุคของมุสโสลินี หรือญี่ปุ่นในยุคของผู้นำทหารอย่างพลเอกโตโจ

ความพยายามที่จะเปลี่ยนระเบียบโลกให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝ่ายอักษะ มีความจำเป็นต้องขยายฐานพันธมิตรออกไปเพื่อรองรับต่อบทบาทของมหาอำนาจใหม่

ในสภาพเช่นนี้ผู้นำไทยยุคหลัง 2475 ต้องเผชิญกับโจทย์ความมั่นคงชุดนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กองทัพของญี่ปุ่นตัดสินใจขยายอำนาจการควบคุมพื้นที่ในแมนจูเรียในปี 2474 และหลังจากนั้นก็ขยายไปสู่การเปิดสงครามใหญ่กับจีนในปี 2480

และต่อมาก็รุกเข้าไปยึดอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีนในช่วงต้นปี 2484

สถานการณ์การขยายอำนาจของฝ่ายอักษะในเอเชียดูจะสอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาตินิยมหรือกลุ่มขวาในการเมืองไทยในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง

กลุ่มขวาไทยในยุคดังกล่าวได้แสดงออกอย่างชัดเจนของแนวคิดแบบ “อักษะนิยม” พวกเขาเชื่อมั่นว่าในที่สุดแล้วฝ่ายอักษะจะเป็นผู้ชนะ และฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกจะเป็นผู้แพ้

การเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาที่อาศัยการสร้าง “กระแสเรียกร้องดินแดนคืน” ถูกผลักดันเพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างความรู้สึกชาตินิยมให้เกิดแก่ประชาชนในวงกว้าง

แรงเสียดทานทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในอินโดจีน สภาพเช่นนี้ในที่สุดแล้วนำไปสู่การใช้กำลังเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

ฝูงบินรบของฝรั่งเศสเปิดการโจมตีนครพนม และฝูงบินรบของไทยก็เปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศตอบโต้ในช่วงปลายปี 2483 (ค.ศ.1940)

แล้วการรบก็ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2484

และด้วยการ “ไกล่เกลี่ย” ของมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่น ไทยได้รับดินแดนบางส่วนที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของสยามกลับคืนมา แม้จะไม่ได้หมด แต่การได้มาบางส่วนก็ดูจะตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสชาตินิยมอย่างถูกใจ

ชัยชนะของกองทัพและรัฐบาลไทยในสงครามอินโดจีนในช่วงต้นปี 2484 นี้ ต้องถือว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายขวา พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม ได้รับการเลื่อนยศแบบกระโดดข้ามขั้นขึ้นเป็น “จอมพล” และนับจากนี้เป็นต้นไป นโยบายไทยก็มุ่งไปสู่การมีความใกล้ชิดกับญี่ปุ่นมากขึ้น

และหลังจากการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นในไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 (ตามวันในประเทศไทย หรือ 1 วันหลังจากญี่ปุ่นเปิดการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐที่ฮาวาย) ผู้นำไทยเริ่มเอาประเทศเข้าไปผูกพันกับญี่ปุ่นมากขึ้น

จนในที่สุดในวันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยก็ประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร

การประกาศสงครามเช่นนี้อาจจะถือได้ว่าเป็น “จุดสูงสุด” ของการดำเนินนโยบายที่เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพราะเท่ากับส่งสัญญาณถึงการเป็น “พันธมิตรร่วมรบ” กับกองทัพญี่ปุ่นในสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้น และขณะเดียวกันก็บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของนโยบายแบบเดิมที่มีความใกล้ชิดกับตะวันตกเป็นพื้นฐาน

หรือกล่าวในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คือไทยเปลี่ยนนโยบายทางยุทธศาสตร์ และ “เปลี่ยนพันธมิตร” ในระบบระหว่างประเทศ อันส่งผลให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการยุติระบบพันธมิตรแบบเก่าที่อิงอยู่กับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

ในการเปลี่ยนระบบพันธมิตรเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นอีกด้วยว่า อย่างน้อยผู้นำไทยไม่ว่าจะเป็น จอมพล ป. หรือบรรดาผู้นำในกลุ่มปีกขวาที่นิยมอักษะในสมัยนั้น ล้วนเชื่อมั่นว่า ญี่ปุ่นจะเป็นผู้ชนะสงคราม

ความกังวลที่เกิดขึ้นจึงมีอยู่แต่เพียงประการเดียวว่า ถ้าญี่ปุ่นชนะในสงครามโลกครั้งนี้แล้ว ญี่ปุ่นจะยอมแบ่งผลพวงของชัยชนะให้แก่ไทยเป็นการตอบแทนบ้างหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในรัฐบาลไทยหรือแกนนำปีกขวา พวกเขาล้วนแต่คิดด้านเดียวถึงชัยชนะของญี่ปุ่น พวกเขาดูจะไม่ได้คิดในมุมกลับว่า ถ้าญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้ว ไทยจะทำอย่างไร…

ถ้าจะมีกลุ่มที่คิดมุมกลับก็คงเป็นกลุ่มของ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และบรรดาเสรีไทย ที่เห็นด้านที่แตกต่างออกไป พวกเขาเชื่อว่าญี่ปุ่นไม่ชนะ และสัมพันธมิตรจะเป็นฝ่ายชนะในสงคราม

ความเห็นต่างเช่นนี้มีอนาคตของประเทศไทยเป็นเดิมพัน

แล้วความผิดหวังก็เกิดขึ้น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ผลไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของฝ่ายขวาไทย

แต่ในความพ่ายแพ้ครั้งนี้ก็ต้องถือว่า ฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะที่เป็น “ช่องทางพิเศษ” อันส่งผลให้ญี่ปุ่นแพ้ แต่ไทยไม่แพ้

แม้รัฐบาลไทยจะเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ แต่ประเทศไทยก็มิได้ถูกปฏิบัติในฐานะผู้แพ้สงคราม เช่นที่เกิดกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

ดังจะเห็นได้ว่า ไม่มีการปลดอาวุธของกองทัพไทยที่มีสถานะเป็นพันธมิตรร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงคราม และที่สำคัญที่สุด ประเทศไทยไม่ได้ถูกยึดครองเช่นประเทศผู้แพ้สงครามอื่นๆ

แม้อังกฤษจะต้องการกดดันด้วยมาตรการของ “ข้อเรียกร้อง 21 ประการ” แต่สหรัฐก็มีบทบาทอย่างสำคัญในการทัดทานกับแรงกดดันของอังกฤษ

จนในที่สุดรัฐบาลไทยในยุคหลังสงครามก็สามารถบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบบพันธมิตรของไทยในช่วงสงคราม

หลังจากความสำเร็จในการพาประเทศหลุดออกจากเงื่อนไขการแพ้สงครามแล้ว สถานการณ์ก็เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

จนในที่สุดในปี 2490 กลุ่มทหารที่จับมือกับกลุ่มอนุรักษนิยมไทยขณะนั้นก็ประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหาร อันนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลจอมพล ป. อีกครั้ง

แต่จอมพล ป. รอบนี้กลับเป็นคนละคน ที่กลับหันไปหาตะวันตก โดยมีสัญลักษณ์ที่ชัดเจนจากการตัดสินใจพาประเทศไทยเข้าร่วมกับสหรัฐในสงครามเกาหลีในปี 2493 พร้อมกันนั้นก็มีการทำความตกลงกับสหรัฐอีกด้วย

ดังนั้น ในปี 2493 ก็คือการบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างพันธมิตรใหม่ของไทย ครั้งนี้ผู้นำทหารไทยในยุคหลังสงครามตัดสินใจเลือกที่จะยืนกับโลกตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ

และจากยุคสงครามเกาหลีเป็นต้นมาแล้ว พัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตะวันตก หรือในบริบทเฉพาะก็คือ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย และมีความชัดเจนที่รัฐบาลไทยนำตัวเข้าผูกพันอยู่กับยุทธศาสตร์ของโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกถือว่าเป็นภัยคุกคามหลักของไทย

หลังจากความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในสงครามเดียนเบียนฟูในปี 2497 (ค.ศ.1954) ผู้นำทหารไทยก็พาประเทศเข้าเป็นสมาชิกขององค์การป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “ซีโต้” (SEATO)

ผู้นำไทยเชื่อมั่นว่า ซีโต้คือเครื่องมือในการคุ้มครองไทยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค

และต่อมาในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามในลาว ไทยได้กดดันให้รัฐบาลวอชิงตันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในการป้องกันประเทศไทย

ซึ่งในที่สุดแล้วสหรัฐได้ตอบสนองด้วยการออก “แถลงการณ์ถนัด-รัสก์” ในต้นปี 2505 เพื่อบ่งบอกถึงเจตนารมณ์ต่อการคุ้มครองไทย

ด้วยพัฒนาการความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไทยกับสหรัฐ ผู้นำทหารไทยตัดสินใจในการเข้าร่วมสงครามเวียดนามกับสหรัฐ แม้ในที่สุดสงครามในเวียดนามจะไม่จบลงตามความคาดหวังของผู้นำไทย แต่ไทยก็ไม่ได้กลายเป็นโดมิโนตัวที่ 4 หลังจากการล้มลงของรัฐบาลนิยมตะวันตกในเวียดนาม กัมพูชา และลาว ในปี 2518

แม้นว่าผลของสงครามจะเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางความมั่นคงไทยที่ประเทศต้องเผชิญกับการมีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศที่มีอุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งก็ทำให้ไทยยังต้องพึ่งพาตะวันตกอยู่

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลังจากการแตกแยกของรัฐบาลสังคมนิยมในอินโดจีน ที่นำไปสู่สงครามระหว่างเวียดนามกับกัมพูชาในต้นปี 2522 แล้ว

ผู้นำไทยเริ่มมองหา “พลังเสริม” ใหม่

ทัศนะต่อต้านภัยคุกคามร่วมระหว่างผู้นำทหารไทยกับรัฐบาลจีน ทำให้รัฐบาลปักกิ่งตัดสินใจครั้งสำคัญในการยุติความช่วยเหลือที่ให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ไทย และวางน้ำหนักในการติดต่อกับรัฐบาลกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาศัยไทยเป็นฐานสนับสนุนการทำสงครามต่อสู้เวียดนามในกัมพูชา

หรือกล่าวได้ว่า ไทยกลายเป็น “สะพานทางบก” ในการเชื่อมต่อการส่งกำลังบำรุงในการทำสงครามสำหรับจีนที่ให้การสนับสนุนกลุ่มเขมรแดง ผู้นำทหารไทยตัดสินใจเล่น “ไพ่จีน”

สงครามต่อต้านเวียดนามในกัมพูชาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีน

การมีทัศนะด้านความมั่นคงร่วมกันกลายเป็นดัง “กาวชั้นดี” ที่เชื่อมให้ไทยเข้าไปมีความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น

แต่ถึงไทยจะเล่น “ไพ่จีน” ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่จะกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของไทยเปลี่ยนไปแต่อย่างใด

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับตะวันตกยังคงเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของไทย… ตะวันตกยังคงเป็นไพ่ใบหลักของไทย

ไม่ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทิศทางยุทธศาสตร์ที่ถือว่า ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับโลกตะวันตกเป็นปัจจัยสำคัญในความมั่นคงไทยนั้นไม่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ทิศทางเช่นนี้ก็ดำรงอยู่

ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอย่างไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงได้

แต่ในยุคปลายสงครามเย็น ระบบพันธมิตรเช่นนี้ก็มีจีนเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมด้วย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image