นักวิชาการค้าน เอกชนยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไอเดียแก้ทุจริต-เวอร์ชั่นใหม่

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดที่จะให้ข้าราชการทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ให้พ่อค้า บริษัทเอกชนยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินเช่นเดียวกับข้าราชการ


พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 

ผมมองว่าไม่จำเป็น เพราะถ้าเอกชนมายื่นแล้วแสดงรายการผิดจะลงโทษยังไง จะถอดถอนเขาเหรอ หรือจะลงโทษเป็นคดีอาญาเหรอ

ผมว่าวิธีการแก้ปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ มีอย่างอื่นอีกหลายอย่าง แค่คุณไม่ต้องการให้ภาคเอกชนมาให้สินบนมีวิธีการเยอะแยะที่จะไม่ให้เขาทำอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบต่างๆ ที่เอื้อให้ฝ่ายภาครัฐเรียกเงินจากเขาต้องแก้ให้หมด มาแก้อย่างนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอำนาจรับเงินแต่ยังไม่ถูกตรวจสอบ ไม่สามารถตรวจสอบได้ ต้องตรวจสอบให้ได้ทั้งหมด ปัญหาอยู่ตรงนั้นมากกว่า ไม่ใช่ไปโยนความรับผิดให้คนอื่น

Advertisement


ภาคเอกชนไม่มีใครเขาอยากให้เงินหรอก ถ้าคนที่รับเงินไม่อยากได้เงินแล้วใครเขาจะเอาเงินมาให้ แต่ปัญหาเกิดขึ้นมาจากฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งหลายอยากจะได้เงินอยากจะร่ำรวย เรียกร้องให้มีการตรวจสอบกันก็ไม่ยอมให้ตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ทางฝ่าย คสช.ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินบ้างหรือเปล่าอยู่มา 3 ปีใครมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากน้อยยังไง ตรวจสอบได้ไหม วิธีแก้ปัญหานี้จริงๆ ก็ต้องแก้ตรงนี้

การให้เอกชนยื่นบัญชีทรัพย์สินถ้าเป็นในต่างประเทศไม่มีหรอก และข้อสำคัญที่สุด เมื่อแสดงบัญชีทรัพย์สินมาแล้วคุณจะรู้ได้ยังไงว่าเขาเอาเงินไปให้ใครที่ไหนยังไง ดูได้อย่างมากว่าเงินเขาเพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่นั้น ใครจะมารายงานว่าเอาเงินไปให้สินบนคนนั้นคนนี้ ไม่มีหรอก


ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ที่ผ่านมาในรัฐที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ประสบปัญหาที่สำคัญคือระบบราชการเป็นระบบที่มีอำนาจ ให้ทั้งคุณและโทษ อันนำไปสู่การคอร์รัปชั่นที่เรียกว่ากินสินบาท คาดสินบน กินตามน้ำ หรือเรียกว่ายักยอกทรัพย์หลวง ดังนั้นกลุ่มคนที่มีอำนาจตั้งแต่สังคมโบราณมาจนถึงปัจจุบันที่สามารถคอร์รัปชั่นได้คือข้าราชการ

เมื่อเราเข้าสู่โลกสมัยใหม่ กระบวนการของโลกสมัยใหม่คือกระบวนการที่ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการเติบโต เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน ไม่ถูกขัดขวางโดยระบบราชการหรือคนในระบบราชการ ที่จะเอาเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งไปจากการลงทุน เพราะถ้าเมื่อไหร่ระบบราชการคอร์รัปชั่นที่เรียกว่าเรียกเงินใต้โต๊ะให้ภาคธุรกิจสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ หรือเก็บส่วยข้างถนนได้ ทำให้สังคมไม่มีความโปร่งใส การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่อาจขยายตัวได้อย่างจริงจัง โดยระบบราชการที่คอร์รัปชั่นทำให้ระบบธุรกิจกลายเป็นระบบลึกลับ ใต้ดิน เพราะคนที่อยู่ในอำนาจของราชการจะมีประโยชน์มั่งคั่งได้ก็ต่อเมื่อระบบไม่เปิดเผย เราจึงเห็นได้ว่าระบบใต้ดิน ธุรกิจสีดำหรือเทาในจำนวนมากที่จริงแล้วทำให้เปิดเผยได้ แต่เมื่อเปิดเผยแล้วจะทำให้คนในระบบ คนในประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา จะแสวงหาประโยชน์ได้น้อยลง

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

เมื่อเราเข้าสู่การสร้างประชาธิปไตยที่มาพร้อมการตรวจสอบได้ แต่ระบบราชการของพวกโบราณเป็นระบบที่พยายามไม่ทำให้เกิดการตรวจสอบ ด้วยเหตุนี้ฐานของการคอร์รัปชั่นที่จริงจังจึงอยู่ที่ระบบราชการ จึงเกิดกระบวนการตรวจสอบออกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.การตรวจสอบทหารและข้าราชการประจำ ดังตัวอย่างในอดีตที่เคยมีการทุจริตคอร์รัปชั่น หลังจากนั้นมาสังคมไทยจึงหาทางตรวจสอบว่ากลไกของคนในระบบข้าราชการจะคอร์รัปชั่นไหม ตอนแรกเราจึงมองว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งคอร์รัปชั่น แต่พอตามไปจริงๆ แล้วนักการเมืองถูกชงโดยข้าราชการประจำจำนวนมากให้คอร์รัปชั่น คนที่รู้จักการคอร์รัปชั่นที่ดีมากที่สุดคือข้าราชการประจำ และข้าราชการประจำเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งยาวนาน ลองคิดดูว่าคนที่อยู่ตำแหน่งนานๆ โอกาสที่จะรู้หนทางการโยกย้าย ยักยอกจะเป็นไปโดยง่าย ในขณะที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีวาระ และอยู่เพียง 1-2 ปี

ดังนั้น ข้าราชการประจำจึงเป็นฐานของการคอร์รัปชั่นที่ใหญ่ที่สุดของสังคมไทย ทำให้ขยายไปสู่ข้าราชการระดับใหญ่ๆ ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเช่นกัน คนกลุ่มนี้ต่างหากคือรากเหง้าของการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย

นี่คือกระบวนการที่เป็นพัฒนาการของการตรวจสอบหรือการให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินที่ออกมาจาก 2 สายคือ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และข้าราชการประจำในตำแหน่งใหญ่ๆ

แต่ในโลกยุคใหม่ตั้งแต่ดั้งเดิมมา ภาคธุรกิจการค้า เจ้าของบริษัท พ่อค้า เอกชน มีความสัมพันธ์กับรายรับของเขาที่ได้จากกระบวนการจัดเก็บภาษี ซึ่งกระบวนการจัดเก็บภาษีมีกฎหมายออกมามากมาย เช่น ได้เงินมาจากไหน ได้รับมรดกหรือไม่ คืออะไรบ้าง หรือเรียกว่าวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้ซึ่งฝ่ายสรรพากรของทุกประเทศเป็นฝ่ายดำเนินการตรวจสอบ แน่นอนว่ามีการลงทุน บางทีมีวิธีคิดทางเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต เมื่อได้เงินแล้วคุณก็จ่ายเป็นภาษี เท่ากับว่าเป็นการตรวจสอบอยู่แล้ว การให้ฝ่ายธุรกิจการค้ายื่นบัญชีทรัพย์สินอีกครั้งดูเป็นวิธีคิดแบบรัฐโบราณที่ต้องการกำจัด ควบคุมภาคธุรกิจ แทนที่จะสร้างประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษี เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองก็แสวงหาผลประโยชน์เพื่อทำให้ผู้เสียภาษีเออออไปด้วย นั่นคือกระบวนการตรวจสอบในภาคธุรกิจการค้าอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นอีก

ดังนั้น การยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินคือการสะท้อนว่าสังคมนั้นเกิดการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ เพราะเราคงไม่ค่อยได้ยินในประเทศที่พัฒนาแล้วว่าจะมีการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินของตัวเอง โดยเฉพาะข้าราชการ ซึ่งระบบทางการเมืองการปกครองของไทยเป็นระบบรัฐทหาร รัฐราชการ ซึ่งไม่ตรวจสอบตัวเอง เมื่อเป็นรัฐที่ไม่ตรวจสอบตัวเองเราจะไปทำอะไรได้ ประชาธิปไตยสากลเท่านั้นที่จะทำให้หลักธรรมาภิบาลสามารถนำมาใช้ได้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image