‘สามารถ’ ห่วง รฟม.ขาดทุนหนักวันละ 5 ล้าน!!

วันที่ 18 สิงหาคม 2560 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยกรณีการเปิดรถไฟฟ้าเชื่อมเตาปูนกับบางซื่อ แม้ผู้โดยสารเพิ่มแต่ยังขาดทุนหนักวันละ 5 ล้าน โดยนายสามารถระบุว่า “ผมขอชื่นชมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่สามารถเชื่อมสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อได้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ต้องการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้รับความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาต่อรถเมล์จากสถานีเตาปูนไปสถานีบางซื่อ หรือต่อรถไฟจากสถานีบางซ่อนไปสถานีบางซื่อ เพื่อเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่อ เดินทางสู่จุดหมายปลายทางต่อไป”

นายสามารถกล่าวต่อว่า “ความสะดวกจากการเชื่อมต่อสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเชื่อมสองสถานีเข้าด้วยกัน และเป็นช่วงลดอัตราค่าโดยสารในวันทำงานจาก 14-42 บาท เป็น 14-29 บาท สำหรับผู้ใช้บัตรโดยสาร และในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ใช้อัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย สำหรับผู้โดยสารทุกคนทั้งผู้ใช้บัตรโดยสารและเหรียญโดยสาร พบว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ย 24,841 คนต่อวัน และตั้งแต่วันที่ 11-16 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื่อมสองสถานีเข้าด้วยกันแล้ว และยังคงลดค่าโดยสารเหมือนกับช่วงเวลาก่อนเชื่อมสองสถานีเข้าด้วยกัน ปรากฏว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 36,463 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 46.8% นับว่า รฟม.ทำผลงานได้ดีในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร”

นายสามารถระบุว่า “แต่เมื่อหันไปดูรายได้ที่เก็บได้จากค่าโดยสารกลับน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะรายได้ลดลงจากเฉลี่ย 475,257.66 บาทต่อวัน เหลือ 441,021.57 บาทต่อวัน หรือลดลง 7.2% เนื่องจากหลังจากเชื่อมสองสถานีเข้าด้วยกันแล้ว ผู้โดยสารทุกคนทั้งผู้ที่ใช้บัตรโดยสารและเหรียญโดยสารไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า (หรือค่าใช้ชานชาลา) 14 บาท ในการเปลี่ยนรถไฟฟ้าจากสายสีม่วงไปสู่สีน้ำเงิน หรือจากสายสีน้ำเงินไปสู่สายสีม่วง ต่างกับช่วงเวลาก่อนเชื่อมสองสถานีเข้าด้วยกัน ซึ่งเฉพาะผู้ใช้บัตรโดยสารเท่านั้นที่ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ รฟม.มีรายได้ลดลง”

นายสามารถกล่าวว่า “เมื่อดูรายจ่ายของ รฟม. พบว่า รฟม.ต้องจ่ายค่าจ้างบริษัททางด่วนหรือรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ในการบริหารจัดการเดินรถและค่าซ่อมบำรุงรักษาถึงวันละประมาณ 5.5 ล้านบาท ทำให้ รฟม.ต้องแบกภาระการขาดทุนอย่างหนักถึงวันละประมาณ 5 ล้านบาท (5,500,000-441,021.57)

Advertisement

อนึ่ง เดิมผมเคยเขียนว่า รฟม.ต้องจ้างบีอีเอ็มให้เดินรถและซ่อมบำรุงรักษาวันละประมาณ 3.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประเมินตามสัญญาระหว่าง รฟม.กับบีอีเอ็ม แต่พอดูค่าจ้างจริงที่ รฟม.ได้จ่ายให้บีอีเอ็มตั้งแต่เริ่มให้บริการ (6 สิงหาคม 2559) จนถึงปัจจุบันกลับพบว่าสูงกว่าที่ประเมินไว้ กล่าวคือ รฟม.ต้องจ่ายค่าจ้างเฉลี่ยถึงวันละประมาณ 5.5 ล้านบาท”

“ผมดีใจที่ รฟม.สามารถทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้ แต่เป็นห่วงที่ รฟม.ต้องแบกภาระการขาดทุนอย่างหนัก ด้วยเหตุนี้ รฟม.จะต้องหาทางเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้มากขึ้นกว่านี้ให้ได้ เพื่อลดการขาดทุน ที่น่ากังวลก็คือ เมื่อถึงเวลาที่ รฟม.จะเก็บค่าโดยสารในอัตราปกติ ไม่ลดราคาเหมือนปัจจุบันนี้ รฟม.จะสามารถรักษาผู้โดยสารที่มีอยู่แล้วได้อย่างไร อีกทั้งยังจะต้องหาผู้โดยสารใหม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย รฟม.ยิ่งนัก” นายสามารถกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image