“บิ๊กตู่” เผยจบเศรษฐศาสตร์ ร.ร.นายร้อยมา ถามถูกหรือ ใช้แต่เงินทุ่มแก้พืชราคาตก

“บิ๊กตู่” วอนสื่อเข้าใจรัฐบาล แก้ราคายาง บอกกลั่นกรองแล้ว ต้องแก้ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ชี้อย่าหลงเชื่อคนปลุกปั่น อย่ามาขู่รัฐบาลนี้ แจงของบกลาง 6 หมื่นล้าน ยังไม่ใช้ระยะแรก แค่สำรองค่าจ้างแปรรูปยางในท้องถิ่น สั่งตรวจสอบการรับซื้อยาง ป้องกันทุจริตเวียนเทียนยาง

เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 19 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเรื่องการแก้ไขปัญหายางพารา ว่า คงได้เห็นการแก้ไขราคายางของรัฐบาล ซึ่งได้มีการจัดนิทรรศการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารามาโชว์ให้เห็นที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ใช่โดยเฉพาะการจะเอาเงินไปให้ใครเท่าไหร่เป็นไปไม่ได้ วันหน้าประเทศชาติต้องเดินแบบนี้ อยากให้สื่อเข้าใจปัญหาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ถ้าเราจับสามอย่างมาเจอกันไม่ได้ การแก้ปัญหาก็จะผิดไปหมด แต่เมื่อเราทำแบบนี้การแก้ปัญหาก็จะยุ่งยากหลายประการ ทั้งข้อกฎหมาย อำนาจหน้าที่ ก็ต้องมีการพิจารณาในครม.และฝ่ายกฎหมาย เพื่อให้ได้ข้อยุติ ซึ่งทั้งหมดผ่านการกลั่นกรองพิจารณามาแล้ว อย่าให้ใครมาปลุกปั่นว่าเหมือนโครงการนู้นนี้ มันไม่เหมือนหรอกจะเหมือนกันได้อย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลรับซื้อยางช่วยเกษตรกรเป็นการเริ่มต้น ระยะที่หนึ่ง ในเรื่องการแก้ปัญหายางอย่างครบวงจร เป็นเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็นำมาสู่กระบวนการผลิต ส่วนการตลาดอื่นก็ยังเหมือนเดิมไม่ได้ไปยุ่งอะไร ซึ่งวันนี้รัฐบาลได้แก้ไขกำระเบียบในการใช้งบประมาณแผ่นดินจัดซื้อให้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความถูกต้องและคล่องตัว ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ไม่เกิดการแก้ปัญหาได้ และคิดว่าน่าจะดีขึ้นและดีกว่าที่จะใช้เงินฟุ่มเฟือยไปเรื่อยๆ ไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งวันนี้ต้องขอบคุณเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความอดทนมากขึ้น และให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่เกรงจะมีปัญหาการทุจริตเรื่องยาง ตรงนี้เขามีมาตรการหมดทุกอัน คิดกันเยอะ เหน็ดเหนื่อยไม่ใช่สั่งโครมอนุมัติไปซื้อยางอย่างเดียว ต้องดูด้วยว่าซื้ออย่างไรให้สุจริต ทั้งนี้การทุจริตไม่อยากให้โทษรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ดูข้าราชการเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เกษตรกรหรือใครก็ตามที่จะต้องรับผลประโยชน์ก็ต้องรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่ให้คนเข้ามาครอบงำ

Advertisement

“เรื่องยาง ผมก็กังวลเหมือนกันและได้สั่งไปแล้ว และให้ดูให้ดี กลไกการซื้อต้องรัดกุมไม่อยากให้ไปซื้อแล้วเกิดการนำมาเวียนกันอย่างที่ว่าตรงนี้มันมีโอกาส ไม่ใช่ผมไม่คิด ก็คิด ถ้าทุกคนไม่รักษาสิทธิ์ของตัวเองก็ลำบากไปเอายางที่ขายไปแล้ว มาวนเวียนใหม่ตรงนี้ต้องตรวจสอบให้ดี ซึ่งมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คสช. หลายคนในพื้นที่ต้องรับผิดชอบ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้ว ต้องอาศัยกระบวนการแปรรูปในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่เอาน้ำยางส่งขึ้นรถมาทันทีหลังซื้อ มันก็เสียหมด มันต้องซื้อยางที่ขนย้ายง่าย ซึ่งมีหลายประเภท ส่วนที่เป็นน้ำยางต้องทำให้เป็นวัสดุที่ไม่เสีย แล้วนำมาสู่กระบวนการผลิต หากยังผลิตไม่ได้ก็ต้องมีคลังเก็บรักษาที่ไม่ทับซ้อนกับของเดิม ระมัดระวังหมด ถึงขนาดย้อนไปตรวจคลังต่างๆ เดิมที่มีอยู่แล้ว เมื่อรับมาก็มีปัญหาหมด แต่รัฐบาลยืนยันว่าทำอย่างไร ยางเหล่านั้นจะไม่มาทำให้ราคาตลาดตก แต่การที่เราจะไปขายใครก็ตามมันยากที่จะขายในราคาที่สูงของใหม่ก็จี้มา มันต้องแก้ทั้งหมด ยางในคลังและยางรับซื้อใหม่” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฉะนั้นต้องมาดูจะช่วยกันอย่างไร จะลดพื้นที่การปลูกยางได้หรือไม่ จะใช้กฎหมายบังคับก็ไม่ค่อยยอมกัน ซึ่งต้องเริ่มในพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย แต่การจะดูแลเกษตรกรอย่างไรมันคิดยาก แต่รัฐบาลไม่คิดแบบนี้ ไม่ใช่ลดเฟลชเชอร์ไปเฉยๆ แล้ววันหน้าก็มาใหม่ ตนไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นมันไม่ควรจะขู่รัฐบาลได้ โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ เพราะเรามาแก้ไข

เมื่อถามว่า ทำไมการใช้ยางแสนตันที่จะนำไปผลิต มีการของบประมาณปกติของปี 2559 วงเงินจำนวน 2,000 กว่าล้าน ขณะเดียวกันยังมีการของบกลางไว้อีก 60,000 ล้าน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระยะแรกยังไม่ใช้เงินตรงนั้น แต่ถ้าซื้อยางจำนวนแสนตัน ใช้เงินปี 59 คงไม่พอ ระหว่างนี้กำลังสร้างความเข้มแข็งต้องค่อยๆดำเนินการไปก่อน ซึ่งอาจจะไม่ทันใจเกษตรกรสวนยาง แต่เพื่อให้รู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอยู่ ถ้าเริ่มจุดนี้ได้ ระยะแรกคงไม่ต้องนำงบกลางมาใช้ เว้นแต่มีส่วนหนึ่งอาจต้องใช้เรื่องการแปรรูปในท้องถิ่น ตรงนั้นต้องมีค่าจ้าง ทั้งนี้ระยะแรกอาจใช้ยางไม่มากถึงแสนตัน โดยแสนตันเป็นการเปิดหลักการไว้เฉยๆ ขณะเดียวกันในความเป็นจริงเราไม่สามารถซื้อยางได้ทั้งหมด ถ้าในอนาคตเราไม่ลดพื้นที่การปลูกยาง ดังนั้นอยากให้สังคม ประชาชน เข้าใจด้วย ไม่ใช่รัฐบาลจะต้องซื้อให้หมดหรือซื้อทุกอย่าง เพราะคงไม่มีสตางค์หรอก แต่วันนี้เราต้องเริ่มต้นให้ได้ก่อน เพื่อให้กลไกปกติ ภาคธุรกิจเข้าใจ และเกิดการแข็งขันมากขึ้น โดยนำยางไปใช้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

Advertisement

เมื่อถามว่าความต้องการใช้ยางของ 8 กระทรวงมีจำนวนเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ 8 กระทรวงมีความต้องการใช้ยางจำนวน 14,000 ตัน แต่เป็นความต้องการตามที่มีงบประมาณอยู่ หากจำเป็นหรือต้องการมากขึ้น วงเงินที่เปิดไว้ ก็จะนำมาเป็นระยะที่สอง ต้องเดินแบบนี้ ถ้าเดินพรวดพลาด ก็จะมีปัญหาอีก ฉะนั้นตอนนี้ขอให้มาคุยกันว่า 1.จะลดพื้นที่ปลูกยางอย่างไร 2.จะปลูกพืชเสริมอย่างไร เพราะถ้าใช้เงินโครมๆ เราก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมา พื้นที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะเงินไปลงกับเรื่อง ข้าว ยาง มันสำปะรัง เป็นมาแบบนี้ตลอด มันถูกหรือผิด ใครเรียนเศรษฐศาสตร์มา ตนจบเศรษฐศาสตร์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ มาล้วนๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image