กรธ.ปรับอำนาจศาลรธน.หวังลดคำวิจารณ์ โยกอำนาจสอบจริยธรรมให้ศาลฎีกาตัดสิน

แฟ้มภาพ

กรธ.ปรับอำนาจศาลรธน.หวังลดแรงเสียดทาน มอบดาบ “ ประมุข 3 ฝ่ายร่วมปธ.องค์กรอิสระ ใช้เสียงข้างมากชี้ขาดปมปัญหา ม.7 พร้อมโยกอำนาจตรวจสอบฝ่าฝืนจริยธรรมให้ “ศาลฎีกา”ตัดสินแทน ปัดปลุกคปป.คืนชีพ ยันอำนาจตีความแค่กรอบกม.

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 8 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณาทบทวนปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ทั้งนี้ ก่อนเข้าประชุม ผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามนายมีชัย ถึงแนวทางการปรับปรุงแก้ไขประเด็นที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) ตามที่รัฐบาลเสนอว่าเป็นอย่างไร นายมีชัย ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม บอกเพียงสั้นๆว่ายังไม่ได้มีการพิจารณา นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นการพิจารณาบทบัญญัติในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ระบุว่า ประเด็นศาลรัฐธรรมนูญที่ประชุมได้มีการปรับลดอำนาจลงจากเดิม ซึ่งรายละเอียดทางโฆษกกรธ.จะทำหน้าที่ชี้แจง

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.แถลงว่า สำหรับบทบัญญัติในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมกรธ.ได้มีการพิจารณาปรับปรุงในส่วนของหน้าที่และอำนาจ อาทิ ร่างมาตรา 5/1 หรือมาตรา 7 เดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็น กรณีไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นปรากฎแก่ศาลรัฐธรรมนูญให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าสมควรมีหลักการในส่วนที่ไม่มีบทบัญญัตินั้นอย่างไร โดยหลักเกณฑ์ข้อยุติต้องเป็นเสียงข้างมากและมติที่ได้นั้นจะมีผลผูกพันธ์กับทุกองค์กร

นายอุดม กล่าวว่า ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาเองได้ ตามขั้นตอนเมื่อมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เห็นว่ากรณีใดที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็จะต้องส่งเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขั้นตอนแรกศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าเรื่องที่เสนอมามีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นว่าไม่มี ก็จะเรียกประชุมร่วมทันที เพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาดังกล่าวต่อไป

Advertisement

นายอุดม กล่าวต่อว่า ส่วนร่างมาตรา 231 ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกับผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมซึ่งเดิมกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่วินิจฉัย ที่ประชุมเห็นควรให้ปรับใหม่โดยหากป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม สามารถส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย ส่วนกรณีที่ป.ป.ช.ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาที่จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการไต่สวนอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบ

นายอุดม กล่าวว่า ส่วนคุณสมบัติของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่กำหนดให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีแต่ไม่เกิน75 ปีนั้น ที่ประชุมได้ปรับใหม่เป็น อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีแต่ไม่ถึง 68 ปีในวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งจากเดิมที่กำหนดไว้ 9 ปี ทางกรธ.ได้ปรับลดเหลือเพียง 7 ปีเท่านั้น

โฆษกกรธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนขององค์ประกอบของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการอุทธรณ์คดีทุจริต โดยองค์คณะของผู้พิพากษา จากเดิมที่กำหนดให้มีจำนวน 9 คน มาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คนแต่ไม่เกิน 9 คน ตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนการเปิดให้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรธ.กำหนดให้สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จากเดิมที่กำหนดให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายหรือกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น

นายอุดม กล่าวว่า ส่วนกรณีการวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทางกรธ.เห็นว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงได้กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเลือกองค์คณะ ประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกา จากผู้ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อนจำนวน 9 คน

เมื่อถามว่า เหตุใดกรธ.จึงปรับแก้ไขหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดม กล่าวว่า สาเหตุที่กรธ.ลดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากเกินไป ดังนั้นกรธ.ต้องการลดความกดดันดังกล่าวลงด้วยการเปิดให้องค์กรอื่นมาร่วมกันพิจารณา

เมื่อถามว่า ตรงนี้เป็นการกลายร่างมาเป็น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ( คปป.) ใช่หรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ไม่ใช่ ประเด็นนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปแทรกแซงอำนาจอื่นๆ ยกตัวอย่าง กรณีการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีการถกเถียงระหว่างรัฐบาลรักษาการกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งไปได้หรือไม่ แต่ถ้ามีเงื่อนไขกำหนดไว้ 2 หน่วยงานนี้หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งสามารถยื่นเรื่องเข้ามาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image