09.00 INDEX บทบาททหาร บทบาท’คสช.’ เคลียร์พื้นที่ ก่อน ‘ประชามติ’

ภาพ ประชาชาติ-มติชน

ต้องยอมรับว่าบทบาทของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ”คสช.”มีความโดดเด่น
เป็น”หลักประกัน”อย่าง “มั่นคง”

ไม่ว่าจะในเรื่องเป็นตัวหลักใน “กกล.รส.” หรือ “กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย”

เดินหน้า จัดการ ปราบปราม แก้ปัญหา “กลุ่มผู้มีอิทธิพล”

เป็นการสนธิกำลังและประสานระหว่าง “กองทัพบก” กับ “ตำรวจ” และ “ฝ่ายปกครอง”

ADVERTISMENT

ประเดิมเริ่มแรกในวันที่ 8 มีนาคมที่ “นครปฐม”

เป้าหมายก็คือ การสร้างความสงบเรียบร้อย เป้าหมายก็คือ การจัดขบวนแถวเพื่อประกันความปลอดภัย

ADVERTISMENT

เท่ากับจัด”โครงสร้าง”ใหม่ภายใน “ชุมชน”

นี่เป็นบทบาทเดียวกันกับ “กองทัพ” ในยุค “คณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ”

หรือ”คมช.”ในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และในห้วงก่อนการทำประชามติในเดือนตุลาคม 2550

และในห้วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550

เพียงแต่เมื่อผ่านกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้วก็ได้กระชับบทบาทและยกระดับความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

เป็นปฏิบัติการทาง”กำลัง”ประสานปฏิบัติการ”จิตวิทยา”

ตรึงกำลังของ”ประชาชน” ตั้งแต่ “ฐานราก” เอกซเรย์ “โครงสร้าง”และความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด จริงจัง

สร้างความมั่นใจให้กับ “ประชามติ”

น่าสังเกตว่ากระบวนการจัดการกับ “กลุ่มผู้มีอิทธิพล” เป็นกระบวนการอันถือได้ว่าเป็น “ก๊อก 2”

เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการเคลื่อนไหวมาบ้างแล้ว

นั่นก็คือการเดินหน้า จัดตั้งและระดมพลังผ่าน “นักศึกษาวิชาทหาร” สร้างเครือข่าย”รด.จิตอาสา”

เป็น”กองหน้า”ในการพบ “ประชาชน”

สร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจ”ร่วม” ต่อความหมายและความจำเป็นของ”รัฐธรรมนูญ”

ก่อนเข้าสู่ “ประชามติ” ก่อนเข้าสู่ “การเลือกตั้ง”

ต้องยอมรับว่ากระบวนการของ “รด.จิตอาสา” มิได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยวและเดียวดาย

ตรงกันข้าม ประสานกับ กอ.รมน.อย่างแนบแน่น

อย่าลืมว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)เกาะติดและคุมพื้นที่ในทุกตารางนิ้วของแต่ละกองทัพภาคอยู่แล้ว

เพราะ กอ.รมน.คือรากฐานของ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย(กกล.รส.)

โครงสร้างแห่งการบริหารจัดการเมื่อเข้าสู่กระบวนการ”ปฏิบัติการ”ก็ต้องมีการสนธิกำลัง 3 ฝ่าย

1 ทหาร 1 ตำรวจ 1 ฝ่ายปกครอง

กำลังที่เข้าไปจัดการ ปราบปราม ต่อ”กลุ่มผู้มีอิทธิพล” เท่ากับเป็นการเคลียร์ในแต่ละพื้นที่

เป็นปฏิบัติการ “การทหาร”

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ราบคาบ และราบรื่นแล้ว ระลอกที่จะตามมาก็คือที่เรียกกันว่า “ปฏิบัติการจิตวิทยา”(ปจว.)

ตรงนี้มิได้มีเพียง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองหากพ่วง”รด.จิตอาสา”ไปด้วย

เป้าหมายจึงไม่เพียงแต่สร้างความมั่นคงในทางความคิด หากแต่ยังเป็นการปูพื้นสร้างเงื่อนไขให้กับ “รัฐธรรมนูญ”

สร้างความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมกับ “ประชามติ”

นี่ย่อมเป็นปฏิบัติการทาง “การทหาร” ประสานเข้ากับปฏิบัติการทาง “การเมือง”อย่างได้จังหวะจะโคน

ทุกอย่างเพื่อ”ชัยชนะ”แห่งการทำ”ประชามติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image