เรื่องเล่า 2 นคร ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม พ.ศ.2560 : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

 

บทความ “เรื่องเล่า 2 นครระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม พ.ศ. 2560” นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายอันเลื่องชื่อ “A Tale of Two Cities” ของชาร์ลส์ ดิกกินส์ ที่พรรณนาถึงเรื่อง จริยธรรม ความสำนึกผิด ความละอายต่อบาปและความรักชาติ อันกินใจที่เกิดขึ้นใน 2 นคร คือ กรุงลอนดอนกับกรุงปารีสเป็นหลักตลอดทั้งเรื่อง

อีทีนี้เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2560 ที่กรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงของประเทศออสเตรเลีย กับที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2560 ก็ดูจะเป็นเรื่องจริยธรรม ความสำนึกผิด ความละอายต่อบาปและความรักชาติเหมือนกัน

Advertisement

เรื่องเล่าเรื่องที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องสัญชาติ (nationality) ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเชื้อชาติ (race) นะครับ โดยที่
เชื้อชาติคือสิ่งที่คนเราได้รับมาแต่เกิด คือได้รับมาจากพ่อแม่ เช่นเป็นคนผิวขาว คนผิวดำ คนผิวเหลือง หรือในกรณีประเทศไทยก็เป็นคนผิวไทย (Thai Race) ซึ่งแปลกประหลาดกว่าประเทศใดในโลกนี้

ส่วนสัญชาตินั้น คือสถานะที่พลเมืองได้รับมาจากประเทศของตน ซึ่งอาจได้รับมาจากการเกิด (แจ้งเกิด) การสืบเชื้อสาย หรือการได้รับอนุญาตให้ใช้สัญชาติตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งแตกต่างกันไป
โดยบางประเทศก็ถือหลักดินแดนเป็นหลักการให้สัญชาติ แบบว่าคนที่เกิดในดินแดนของประเทศก็
จะได้สัญชาติของประเทศนั้นอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา แคนาดา ปานามา เป็นต้น

ส่วนบางประเทศก็หนักขึ้นไปอีก เช่น ประเทศไอร์แลนด์ และประเทศนิวซีแลนด์ ที่ให้สัญชาติแบบ
สืบเชื้อสายกันเลย แบบว่ามีพ่อหรือแม่เป็นคนไอร์แลนด์หรือนิวซีแลนด์ลูกจะเกิดที่ไหนก็ตามก็ได้สัญชาติไอร์แลนด์หรือนิวซีแลนด์โดยอัตโนมัติ

ครับ ! ตอนนี้ก็เกิดเป็นเรื่องใหญ่คือ นายบาร์นาบี จอยซ์ รองนายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลีย
ออกมาประกาศต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ว่า เขาอาจจะมี 2 สัญชาติ คือมีสัญชาตินิวซีแลนด์ตามบิดาของเขาซึ่งเป็นคนนิวซีแลนด์และหลังจากนั้นทางการนิวซีแลนด์ก็รับรองว่านายบาร์นาบี จอยซ์ เป็นพลเมืองนิวซีแลนด์ตามกฎหมายโดยอัตโนมัติ แม้จะไม่ได้เกิดในนิวซีแลนด์หรือทำเรื่องขอสัญชาติกับทางการนิวซีแลนด์ก็ตาม อันเป็นผลให้นายบาร์นาบี จอยซ์ ขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย (บังเอิญจริงๆ)

เนื่องจากมาตรา 44 กำหนดไว้ว่าผู้ถือ 2 สัญชาติไม่มีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาออสเตรเลีย ซึ่งนายจอยซ์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลียตั้งแต่ พ.ศ.2556 และ
ก่อนหน้านี้เขาเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐควีนส์แลนด์อยู่ถึง 9 ปี

ถึงแม้นายบาร์นาบี จอยซ์ จะยื่นเรื่องสละสัญชาตินิวซีแลนด์แล้วก็ตาม แต่ต้องรอคำพิพากษาของ
ศาลฎีกาออสเตรเลียจะตัดสินว่าเขาจะต้องออกจากการเป็นผู้แทนราษฎรและรองนายกรัฐมนตรีหรือไม่
ในวันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึงนี้เอง

หากเขาถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 44 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลออสเตรเลียทันทีเนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงมากกว่าพรรคฝ่ายค้านเพียง 1 เสียงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกพรรครัฐบาลอีก 2 คน ตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับนายจอยซ์ คือเป็นคนถือ 2 สัญชาติโดยไม่รู้ตัว และก็คอยการพิพากษาของศาลฎีกาออสเตรเลียเช่นกัน

ดังนั้น ผลการพิพากษาของศาลฎีกาในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคมนี้ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลออสเตรเลียได้เลยครับ

เรื่องเล่าเรื่องที่ 2 เกิดขึ้นที่ กทม.บ้านเราเองแหละครับ คือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าวในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2560 เวลา 09.30 น. ที่
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท ตามความผิดตาม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยมีระวางโทษจำคุก 1-10 ปี

มีรายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ได้จัดกำลังพลควบคุมฝูงชนไว้แล้วถึง 3,150 นาย และมีกำลังเสริมเตรียมพร้อมไว้อีก 1,500 นาย จัดว่าเป็นการเตรียมพร้อมด้วยกำลังตำรวจที่มากมายเป็นประวัติการณ์สำหรับการตัดสินคดีความของศาล เนื่องจากเมื่อการขึ้นศาลนัดสุดท้ายวันที่ 21 ก.ค.2560 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างมาให้กำลังใจอดีตนายกฯมากเป็นพิเศษ ถึงขนาดมีการจัดแถวถ่ายรูปหน้าศาล โดยมีมวลชน “คนรักยิ่งลักษณ์” ที่เดินทางมาแบบไม่เกรงกลัวการส่งเสียงปรามจากรัฐบาล ที่ว่า “ไม่ควรมา” น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องใช้เวลาถึง 45 นาที ฝ่าฝูงชนไปถึงทางเข้าศาล ท่ามกลางเสียงตะโกนเชียร์ “ยิ่งลักษณ์สู้ๆ” ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ครับ ! เรื่องเล่า 2 นคร คือแคนเบอร์รา กับกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม พ.ศ.2560 ยังไม่ทราบว่าจะจบลงอย่างไร? แต่คงจะมีรสชาติไม่น้อยไปกว่านิยายเรื่อง A Tale of Two Cities
คือลอนดอนกับปารีสของชาลส์ ดิกกินส์ ที่เขียนขึ้นมาแล้วกว่า 150 ปีเป็นแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image