รำลึก 100 ปีชาตกาล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

วันที่ 9 มีนาคม 2559 เป็นวันครบรอบ 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สมาชิกเสรีไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. โดยปลายปี 2558 ที่ผ่านมาองค์การยูเนสโกได้ยกย่อง “อ.ป๋วย” ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
คุณูปการของ อ.ป๋วยนั้นมีมากมาย แต่ที่โดดเด่นอย่างมากและเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันคือการทำงานท่ามกลางความกดดันของรัฐบาลทหาร การยึดมั่นในหลักการความถูกต้องของป๋วยนั้นเป็นที่

เลื่องลือและเป็นที่เกรงใจของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ทรงอำนาจอิทธิพลเพียงใด หลายครั้งที่ต้องเห็นขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ เหนือกว่า แต่สุดท้ายก็ต้องยอมถอยให้เหตุผลของ “อ.ป๋วย” ด้วยวิธีพูดที่มีเหตุมีผล คำพูดสุภาพนิ่มนวล และมีอารมณ์ขันเสมอ

จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 หลังจากเพิ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างนับสิบปีในปี 2511 และจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2512 พรรคสหประชาไทยของท่านชนะ

เลือกตั้ง จอมพลถนอมก็เปลี่ยนสภาพจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งช่วงสั้นๆ กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ระบอบเผด็จการทหารตามความคุ้นชิน

Advertisement

ผลจากการ “ถอยหลัง” ในครั้งนั้น อ.ป๋วยเขียนจดหมายเปิดผนึกอันลือลั่น โดยใช้ชื่อ “เข้ม เย็นยิ่ง” ชื่อรหัสสมัยเป็นเสรีไทย เขียนถึงผู้ใหญ่บ้านชื่อ “ทำนุ เกียรติก้อง” เรียกร้องให้คืน “กติกาหมู่บ้าน” แก่ชาวหมู่บ้าน “ไทยเจริญ” และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ทั้งหมดมี “นัยยะ” อันคมคายถึงการเมืองไทย ภายใต้อำนาจของ “จอมพลถนอม” หรือ “ผู้ใหญ่ทำนุ”

หัวจดหมายเขียนว่า “จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้องผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เศรษฐศาสตร์สาร ฉบับชาวบ้าน (ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนมีนาคม 2515) ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้จอมพลถนอมเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

Advertisement

ดังข้อความตอนหนึ่งในจดหมายว่า…

“บัดนี้ อนิจจา ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่าพี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคน ประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้านและเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังคงเป็นพี่ทำนุ กับรองผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุดเดิมนั่นเอง เพียงแต่มีน้อยคนลง”

“ข้อสำคัญที่สุดก็คือการจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชน
และในฐานส่วนรวมด้วย”

“สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว”

“ได้โปรดเร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้ หรืออย่างช้าก็อย่าให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาโดยเร็ว”

ข้อเขียนนี้สร้างความไม่พอใจแก่คณะปฏิวัติอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนแรกที่กล้าลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา
จดหมายฉบับเดียวนี้ สร้างแรงสะเทือนไปทั่ว ทำให้ อ.ป๋วย กลายเป็นเสรีนิยมที่อยู่ตรงข้ามกับพวกผู้มีอำนาจ และเป็นเหตุให้ อ.ป๋วยต้องลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุในปี 2515 โดยลาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ในระหว่างสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุผลว่า
“ถ้าผมกลับมาก็จะถูกปิดปากไม่ให้พูดอะไร ความจริงคนอื่นเขาพูดอย่างเดียวกับผมหรือแรงๆ กว่าผม เขาก็ไม่ทำอะไร แต่สำหรับผม เขาหมายหัวเป็นพิเศษ ฉะนั้น เมื่อไม่มีเสรีภาพที่จะพูดอะไรได้ตามใจ ก็ไม่น่าจะอยู่…”

จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่งได้จุดประกายความคิดของขบวนการประชาธิปไตย ที่ขับไล่จอมพลถนอมพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีใน 14 ตุลาฯ 2516 สังคมไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง

น่าคิดว่าหมู่บ้านไทยเจริญปี 2559 จะเกิดเหตุการณ์เหมือนเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วหรือไม่

ทั้งนี้ ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ได้ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มูลนิธิอาจารย์ป๋วย, มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก ณ บริเวณคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์กิจกรรมมีตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่ 07.30 น.เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image