เปิดสำนวน “คดีจำนำข้าว” ป.ป.ช.ไต่สวน – ชี้มูล “ยิ่งลักษณ์”

หมายเหตุ – เป็นเอกสารเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาล

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง มีประเด็นต้องวินิจฉัยกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์โต้แย้งขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ดังนี้

ประการแรก กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกข้อสงสัยว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การแต่งตั้งนายวิชา มหาคุณ เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นไปโดยเร่งรีบอย่างเป็นพิเศษหรือไม่ การรับฟังคำให้การของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่มีอำนาจหน้าที่ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี … ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว ดังนั้น การยกข้อสงสัยและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement

ส่วนที่ผู้กล่าวหาอ้างว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นไปด้วยความเร่งรีบอย่างเป็นพิเศษนั้น ตามมาตรา 66 ได้บัญญัติให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีนี้โดยเร็ว จึงชอบด้วยกฎหมาย และกรณีการแต่งตั้งให้นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวนนั้น ไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ร่วมในการไต่สวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 46 ดังนั้น การแต่งตั้งนายวิชา เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนจึงชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับการรับฟังคำให้การของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรมนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 48 บัญญัติว่า ในการไต่สวนข้อเท็จจริงห้ามมิให้ทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการล่อลวงหรือขู่เข็ญหรือให้สัญญากับผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานเพื่อจูงใจให้เขาให้ถ้อยคำอย่างใดๆ ในเรื่องที่กล่าวหานั้น ดังนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กล่าวอ้างว่ามีการกระทำดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงชอบที่จะรับฟังคำให้การของบุคคลดังกล่าวได้

คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 7 : 0 เสียง เห็นว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ฟังไม่ขึ้น

Advertisement

มีประเด็นต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า การที่รัฐบาลของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด เมื่อมีการระบายข้าวที่รับจำนำได้เกิดผลขาดทุนจำนวนมาก แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ระงับยับยั้งโครงการ โดยยังคงดำเนินโครงการต่อมา จนเกิดผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนั้น การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือไม่

คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 7 : 0 เสียง เห็นว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งได้กำหนดนโยบายการรับจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้นและในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ได้กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตามท้องตลอดเกินกว่าที่ควรคาดหมายได้ตามปกติ อันมีลักษณะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และในการดำเนินโครงการปรากฏว่าได้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน ทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิเกษตรกร โกงความชื้นโกงตาชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ การลักลอบนำข้าวออกจากคลัง

ในส่วนของการระบายข้าวที่รับจำนำ มีการใช้อิทธิพลทางการเมืองช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย เกิดระบบนายหน้าค้าข้าวไม่เปิดประมูลข้าวอย่างเปิดเผย การทุจริตดังกล่าวได้ก่อให้เกิดภาระรายจ่ายของรัฐและภาวะขาดทุนเป็นจำนวนมากทั้งการอุดหนุนเกษตรกรและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การสีแปรสภาพ การขนส่ง การเก็บรักษาและยังอาจมีปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพ ขายข้าวขาดทุน ข้าวสูญหายจากโกดัง รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ทำลายระบบการค้าข้าวโดยเสรี โรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการไม่สามารถจัดหาซื้อข้าวได้เพียงพอ โรงสีในโครงการและผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลข้าว จะมีการค้าขายที่มีข้อได้เปรียบโรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการ ตลอดจนราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียตลาดส่งออกที่สำคัญ

การรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด โดยไม่จำกัดพื้นที่ผลิตและวงเงินของการรับจำนำ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อโครงการอย่างยิ่ง จากการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ ตลอดจนปริมาณรับจำนำสูงเกินกว่าข้อเท็จจริง แต่คุณภาพข้าวต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ

ต่อมาเมื่อมีการระบายข้าวที่รับจำนำได้เกิดผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก และผู้ถูกกล่าวหาได้รับรู้รับทราบจากรายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และยังรับทราบว่ามีการทุจริตในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนับล้านครอบครัวที่ยังไม่ได้รับเงิน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหลายรายถึงกับฆ่าตัวตาย จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณายับยั้งโครงการ ตั้งแต่เริ่มรับทราบว่ามีการทุจริตในการดำเนินโครงการและความเสียหายต่างๆ จากการดำเนินโครงการ

แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับยืนยันที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องพิจารณายุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดการทุจริตและระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการมากยิ่งขึ้นซึ่งถือได้ว่าเป็นสภาพความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ

การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวมา จึงมีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ให้ส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 70

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image