“มีชัย” งง นักกฏหมาย จ้อออกทีวี ไม่รู้คดีทุจริต เรียงกระทงลงโทษ เตือน ตร.ต้องรู้ หน้าที่ มาก่อน อำนาจ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 26 สิงหาคม ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานงานประชุมระดับชาติ “ธรรมศาสตร์-นิติพัฒน์” ครั้งที่ 2 โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “การสร้างนักกฎหมาย” ตอนหนึ่งว่าในทัศนะของ กรธ. รู้สึกว่า นับวันกฎหมายเป็นอันตรายมากขึ้น ถ้านักกฎหมายไม่มีมิติทัศนะ หรือไม่มองกฎหมายอย่างที่นักกฎหมายพึงมอง บ้านเมืองคงจะลำบาก ที่สำคัญคือการเรียนการสอนคณะนิติศาสตร์ เหมือนจะตั้งง่ายมีอาจารย์ 5 คนก็ตั้งคณะได้ กฎหมายไม่ใช่ของง่าย ไม่ได้มีเฉพาะที่เราเรียน แต่มีอีกมากมายมหาศาล ใครก็ตามที่จบปริญญาโทมาสอนกฎหมาย ตนว่ายังไม่พอ

“เมื่อคืนผมฟังรายการทีวี มีอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นถึงอาจารย์สอนกฎหมาย พูดถึงคดี ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันขณะนี้ โดยอาจารย์นักกฎหมายท่านนี้ระบุว่า การที่ศาลตัดสินจำคุกคดีนี้ 40 กว่าปี เป็นการวางมาตรฐานใหม่สำหรับคดีทุจริต เพราะในกฎหมายระบุว่า ไม่มีคดีทุจริตใดตัดสินจำคุกเกิน 20 ปี ผมตกใจมาก เพราะไปเปิดกฎหมายดู แน่นอนเราไม่มีกฎหมายอะไรที่ตัดสินจำคุกเกิน 20 กว่าปี อันนี้คือเรื่องจริง แต่นี่เป็นการเรียงกระทงลงโทษ จึงโดนติดคุกไปหลายปี ผมสงสัยว่านักกฎหมายที่เป็นอาจารย์ไปออกทีวี พูดอย่างนั้นได้อย่างไร” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวอีกว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ท่านอาจารย์ทั้งหลาย หากมีเวลาตนอยากให้ไปอ่านรายละเอียดของกฎหมายที่ผ่านมา และทำวิจัยหรือทำการวิเคราะห์ว่า มันมีอะไรที่จำกัดสิทธิโดยไม่จำเป็นหรือไม่ หากมีท่านอาจารย์ท่านใดทำวิจัยเรื่องนี้จริงๆ ตนเชื่อว่างานวิจัยนั้นจะเป็นงานวิจัยที่โด่งดังและสังคมยอมรับได้ เราต้องมีกฎหมายเพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย ทุกคนอยู่สุขสงบ แต่จะเกิดผลอย่างได้ก็ต่อเมื่อ คนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และใช้อย่างเข้มงวดกวดขัน เช่น ตำรวจ ที่ปรากฎกันอยู่คือ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการทำเพื่อมาบังคับราษฎร เจ้าหน้าที่ก็จะนึกว่าสิ่งนี้เป็นอำนาจที่ติดตัว ทั้งที่ความจริงอำนาจนั้นที่เขาให้ ก็เพื่อให้คุณไปทำหน้าที่ อำนาจเหล่านั้นไม่ได้ติดตัว แต่เป็นการทำหน้าที่ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็นคำว่า”หน้าที่และอำนาจ” เพื่อเตือนสติตลอดเวลาว่า คุณต้องทำหน้าที่ คุณก่อนและจะมีอำนาจ ถ้าคุณไม่ทำหน้าที่ คุณก็ไม่มีอำนาจนั้น

“หน่วยงานทุกหน่วยเมื่อได้กฎหมายไปแล้ว ก็จะคิดว่ากฎหมายนั้นจะเป็นพระไตรปิฎกของตัวเจ้าหน้าที่ ตราบที่ไม่เห็นอุปสรรค ก็จะไม่มีทางแก้กฎหมายนั้น ดังนั้นเราจึงใส่ในรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายต้องเปลี่ยนแปลงไปทางภาวะทางสังคมนั้น เพราะหากคิดว่า กฎหมายคือพระไตรปิฎก มีแล้วแก้ไม่ได้ ถ้าคิดแบบนี้บ้านเมืองจะเดินหน้าไปไหนไม่ได้ เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนไป ความจำเป็นเปลี่ยนไป กฎหมายก็ต้องเปลี่ยน เราจะเดินไป 4.0 แต่ราชการเรายังอยู่ 0.4 อยู่เลย ผมยังแปลกใจที่ฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติ ออกมาบอกว่าเขามีผลงานกฎหมายในยุคนี้กว่า 200 ฉบับนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เพราะผลงานกฏหมาย 200 ฉบับ แสดงว่าสิทธิและเสรีภาพเราหายไป 200 อย่างแล้ว” ประธาน กรธ.กล่าว

Advertisement

นายมีชัย กล่าวต่อว่า นักกฎหมายที่ต้องมีใจเป็นธรรมอย่างฝังราก ต้องมีจิตใจที่ละเอียดอ่อนไม่สรุปอะไรง่ายๆ คือ 1.อย่าเชื่อที่ฟังตามๆกันมา 2.อย่าเชื่อเพราะถือกันมาเช่นนั้น 3.อย่าเชื่อเพราะเขาเล่าลือกัน 4.อย่าเชื่อเพราะมีตำราบอกว่าอย่างนั้น 5.อย่าเชื่อเพราะเป็นเหตุเป็นผล 6.อย่าเชื่อเพราะการอนุมาณคาดคะแน 7.อย่าเชื่อเพราะเดามาจากอาการที่เห็น 8.อย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่วางไว้ 9.อย่าเชื่อเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ และ 10. อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ นอกจากนี้ คนที่จะเป็นนักกฎหมายต้องมีทักษะทางกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ของที่จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ที่คนเกิดมาแล้วจะมี ต้องเกิดจากการเรียนรู้สะสม รวมทั้ง ต้องฟังความเห็นต่างเพื่อให้เกิดความรอบครอบ ในฐานะนักกฎหมาย ถ้าไม่ฟังความเห็นต่างเลยเราก็จะอยู่ในกรอบที่แคบ นักกฎหมายที่ดีต้องมีพรหมวิหาร 4 อยู่ในใจ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยฉพาะคนจะเป็นอัยการถือว่า อุเบกขาสำคัญที่สุด สุดท้ายสิ่งสำคัญคือ นักกฎหมายต้องปราศจากอคติ

จากนั้น เป็นการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษากฎหมาย” โดย นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. กล่าวว่า ทำไมเราถึงต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในด้านกฎหมาย มุมมองในทางกฎหมายเรามี 3 ด้าน 1.กฎหมายเชิงแบบแผน 2.กฎหมายเป็นเรื่องปรากฎการทางสังคม และ 3.กฎหมายเป็นเรื่องหลักการในเชิงคุณค่า ที่เราพบกันบ่อยคือ กฎหมายเชิงแบบแผน นักกฎหมายมักมองกฎหมายแบบแยกส่วน มองแบบเป็นรายวิชา ต้องยอมรับว่าหลายวิชาถือว่าเป็นหลัก แต่สิ่งที่อยากสะท้อน คือ พอเรามองกำหมายอย่างแยกส่วน ก็ไมสามารถเชื่อมโยงได้ในสิ่งที่สำคัญๆ จึงตอบโจทย์สังคมได้อย่างเลือนลาง

“นักกฎหมายที่เราต้องการ เราอยากเห็นอะไร นิติศาสตร์ คือวิชาชีพ หรือ วิชาการ เรายังปลดเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ชัดเจน และยังไม่มีการถอดบทเรียนให้เห็นภาพได้ชัดเจน ระหว่างการเรียนแบบวิชาการและวิชาชีพ เราอยากให้การศึกษาอบรมและการปฏิบัติเดินไปในทิศทางเดียวกัน นักกฎหมาย ที่ลืมตัวบ่อยๆ เหมือนอัศวินที่ไม่มีม้า ก็จะไปไม่ได้ ตรงนี้ผมคิดว่า นักกฎหมายจะต้องมีความคิดเป็น และมีความเข้าใจด้านกฎหมาย และต้องมองนิติศาสตร์ให้เป็นวิทยาศาสตร์สังคมให้ได้ ถ้ามองตรงนี้ได้ก็จะทำให้วิชาความรู้ลดความสำคัญลงไปได้ แต่จะมองในเชิงข้อเท็จจริงได้ด้วย” โฆษก กรธ. กล่าว

Advertisement

ขณะที่ นายคณิต ณ นคร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและพิจารณาคดีกล่าวว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญา ซึ่งโยงไปถึงกฎหมายการปฏิรูปประเทศด้วย ประเทศไทยใช้ระบบซิวิลลอร์ ประมวลกฎหมายอาญาเป็นประมวลกฎหมายแรกที่เราทำสำเร็จ แม้เราจะรับเอาระบบ ซิวิลลอร์มา แต่อิทธิพลของ ระบบคอมมอนลอร์ ก็ยังมีอยู่สูงมาก หลักสูตรการเรียนกฎหมายอาญาจะต้องมีครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้ศึกษากฎหมายอาญาอย่างครบวงจร รวมไปถึงกฎหมายอาญาระหว่างประเทศด้วย อาจารย์ที่จะมาสอนในมหาลัยตามมุมมองของผมคือ “ผู้แต่งงานกับกฎหมายโดยไม่หย่า” ผู้สอนต้องเป็นนักกฎหมายอาญาโดยแท้ และจะต้องมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับคดีอาญาเป็นที่ประจักษ์ ต้องเข้าใจการเรียนการบริหารงานยุติธรรม ทั้งนี้ ในปัจจุบันการบังคับคดีอาญามีโทษและวิธีปลอดภัย

ด้าน นายบรรเจิด สิงคะเนติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายมหาชน กล่าวว่า รากฐานของการศึกษากฎหมายในประเทศไทยในเรื่องของกฎหมายมหาชน คือ ส่วนที่ว่าด้วยหลักในทางรัฐธรรมนูญ และ ส่วนที่ว่าด้วยการจัดองค์กร ซึ่งไม่มีการตายตัวว่าจะเอากฎหมายใดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันพนักงานสอบสวนไม่มีอิสระจากการเมือง อัยการต้องเข้ามามากเท่านั้น เพื่อดำเนินคดีทางอาญาอย่างเป็นธรรม การที่นายอุดมต้องไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 สะท้อนในด้านการจัดองค์ความรู้ในการจัดการมหาชน ด้านสถาบันการเงินด้วย ซึ่งก็ไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายหรือไม่ด้วย

“การจัดการองค์กร จึงเป็นจุดอ่อนที่สุดในด้านกฎหมายมหาชนของประเทศไทย เราไม่สามารถออกแบบสถาบันการเมืองให้สอดคล้องกับบ้านเมืองได้ เพราะเราไปเอาโครงสร้างมาจากตะะวันตก ในเอเชียของเราก็มีประเทศที่ถอดแบบตะวันตกมาแล้วนำมาทำให้สอดคล้องกับสภาวะบ้านเมืองของเขาแล้วกฏหมายเขาก็เดินหน้าต่อไปได้ เช่น ประเทศมาเลเซีย แต่กลับประเทศไทยยังไม่ใช่ ผมอยากบอกว่าประชาธิปไตยไม่มีการตายตัว มันต้องสร้างให้สอดคล้องกับบ้านเมืองด้วย” นายบรรเจิด กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image