‘มาร์ค’แนะ กรธ.รับฟังภาคปชช. ติงคิดไม่ครบ ตรรกะเพี้ยนให้พรรคการเมืองเสนอนายกฯคนนอก

เมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 19 มกราคม ที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ออกมาว่าพรรคการเมืองจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า ยังเร็วเกินไปที่แต่ละฝ่ายจะมาบอกว่า ต้องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตนยังคิดว่ากรอบเวลาที่กำหนดเอาไว้ คือ เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ยกร่างแรกเสร็จแล้วก็จะต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

เพราะฉะนั้นอย่ารีบด่วนสรุปว่า การรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ฟังเหตุผลกัน ตนคิดว่า เมื่อเราอยากให้การเมืองเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง กรธ.ก็ต้องฟังเสียงทักท้วง แต่การตั้งป้อมอย่างเดียวว่ารับหรือไม่รับก็ไม่เป็นประโยชน์ จึงอยากให้ทุกฝ่ายค่อยๆเสนอแนะ ซึ่งตนยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญครบทั้งร่างเลย หากตั้งธงไว้ก่อนจะทำให้การเมืองไม่ราบรื่น ทั้งนี้ เห็นว่ายังมีเวลาที่จะมา
แลกเปลี่ยนกันก่อนที่จะนำไปสู่การทำประชามติ

เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคฯ เสนอให้พรรคการเมืองมาพูดคุยกันถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมือง ยังมีหลายประเด็น เช่น ในบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ร่างนี้อาจจะเขียนไม่ได้ชัดเจนเหมือนกับชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดังนั้น กรธ.ก็ต้องฟังภาคประชาชนด้วย ในส่วนของภาคการเมืองเอง เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงทางความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางการเมืองต่าง ๆ เมื่อดูในภาพรวมของดุลอำนาจ ก็ต้องมาว่ากัน แต่บางเรื่องเป็นหลักการ เช่น ปัญหาเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คน นั้น ตนคิดว่า ปัญหาเบื้องต้นที่ กรธ.ไม่ยอมยืนยันว่า นายกฯ ควรเป็นส.ส.

“ ถ้าจะเอาเรื่องของสถานการณ์พิเศษเรื่องคนข้างนอกมาเป็นข้อยกเว้น ผมคิดว่าจะเป็นเหตุผลที่อธิบายกันได้ง่ายกว่า แต่เมื่อเริ่มต้นเช่นนี้ ซึ่งเป็นพัฒนาการของประชาธิปไตย จึงเป็นปัญหา และเรื่องนี้ปัญหาก็จะย้อนกลับไปที่เดิมว่า เริ่มจากนายกฯคนนอก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ตอบโจทย์ เพราะถ้านายกฯเป็นส.ส.ก็สามารถเป็นได้ 500 คนแล้ว การบอกว่า นายกฯเป็นคนนอกได้ แต่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ คำถามคือ สมมติว่าอยากได้นายกฯในภาวะวิกฤตที่บอกว่า ไม่ให้มีฝักมีฝ่าย แต่เสนอโดยพรรคการเมือง จะเป็นไปได้หรือ นี่คือการคิดไม่ครบ และไม่ยึดที่หลัก ผมยืนยันว่าถ้าทบทวนแล้วบอกว่า นายกฯมาจากส.ส.ในภาวะวิกฤต โดยมติพิเศษ โดยความเห็นชอบของพรรคการเมืองต่างๆ จะจำเป็นต้องเอาคนนอก ให้กำหนดเงื่อไขมา ถึงจะไปได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามอีกว่า ส่วนตัวยินดีที่จะคุยกับพรรคการเมืองอื่น ๆ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกคนควรยินดีคุยกันด้วยเหตุและผล แต่ก็ติดประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้น คสช.ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงออกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะถ้าปิดโอกาสตอนนี้ พอถึงเวลาไปเปิด ใครจะรับรองได้ว่าประเทศจะไม่กลับไปยุ่งเหมือนเดิม ทั้งนี้ เพื่อให้ใช้สิทธิเสรีภาพมีความชัดเจนและสังคมจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เสรีภาพแบบมีความรับผิดชอบ เพราะตนไม่เชื่อว่าบ้านเมืองจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยจากหน้ามือในหลังมือทันทีนั้น เป็นไปไม่ได้

ส่วนที่ กรธ.บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดวิกฤตทางการเมืองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ในการชี้ขาดข้อกฎหมายอยู่แล้ว ฉะนั้นหากบอกว่า การแก้ปัญหาวิกฤติสืบเนื่องจาก กฎหมายมีความคุมเครือ อย่างนี้ตนคิดว่าบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเหมาะสม แต่คงไม่ใช่ให้ศาลมากำหนด หรือตัดสินใจทิศทางทางการเมืองโดยไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ทั้งนี้ เห็นว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ กรธ.จะต้องทบทวน เช่น ระบบเลือกตั้งและสิทธิเสรีภาพ โดยกรธ.อย่ายึดถือว่าสิ่งที่ทำมานั้น ดีที่สุด เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image