‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ กับบทเรียนเพื่อการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยใน ‘หลากมิติ’

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการจัดงาน 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ., มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, และคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. จัดงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ร่วมงานแน่นขนัดตั้งแต่ช่วงเช้า ในช่วงเที่ยงมีการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้มาร่วมงาน จากนั้นเวลา 13.30 น. มีงานอภิปรายทางวิชาการและเปิดตัวหนังสือ ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.การอภิปรายแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 อภิปรายในหัวข้อป๋วยกับสังคมการเมืองไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน

 

  • ป๋วย ในสายตานักนิติศาสตร์

หัวข้อที่ 1 ในช่วงแรกคือบทความเรื่อง กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ชื่อ ‘ป๋วย’ โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อ.นิฐิณี ทองแท้ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

Advertisement

นายสมชายกล่าวว่า หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อ.ป๋วยเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาสนามม้า และได้รับเลือกเป็น สนช. ด้วยคะแนนอันดับ 2 รองจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้อันดับ 1 ตีความได้ว่า อ.ป๋วยได้รับความนิยมจากปัญญาชนและชนชั้นนำขณะนั้นอย่างกว้างขวางพอสมควร สิ่งที่ท่านอภิปรายในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ เสรีภาพในความคิดและมโนธรรม, การมีส่วนร่วมของประชาชน และเยาวชน คนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้ง

“น่าคิดว่าคนไม่สนใจบทบาทการเป็น สนช. ของ อ.ป๋วย เพราะรัฐธรรมนูญ 2517 ไม่มีความสำคัญ หรือว่า อ.ป๋วยไม่แสดงบทบาทเลย” นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวต่อไปว่า ท่านเสนอให้มีเสรีภาพในความคิดและความเชื่อถือ ถือว่ามีนัยสำคัญมาก เพราะเป็นเสรีภาพที่ไม่อิงกับความเชื่อทางศาสนาอีกต่อไป ซึ่งมีคนอภิปรายข้อเสนอนี้ว่าเป็นเสรีภาพสุดขอบฟ้า กว้างขวางจนอาจนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ บางคนมองว่าอาจทำให้แนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมได้รับการยอมรับ สุดท้ายข้อเสนอนี้ก็ต้องปรับแก้
การที่เราจะทำประโยชน์ให้สังคม เราสามารถทำได้หลายแบบ ทหารเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้นในการรับใช้ชาติ คิดว่าข้อนี้สำคัญกับการเมืองในปัจจุบัน การทำประโยชน์ให้สังคม ไม่ได้หมายถึงการเป็นทหารรับใช้ชาติเพียงอย่างเดียว คิดว่าเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้ามาก ซึ่งหลังจากนั้นไม่มีใครเสนอเช่นนี้ มีคนเห็นด้วย 24 คน ไม่เห็นด้วย 150 กว่าคน

Advertisement

นายสมชายกล่าวต่อไปว่า การดำรงตำแหน่ง สนช.ของ อ.ป๋วย สะท้อนบทบาทอันจำกัดของการใช้ความรู้ในพื้นที่ สนช. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่สัมพันธ์กับประชาชน แม้ว่าท่านจะแสดงความคิดเห็นบนรากฐานของความรู้ อภิปรายในประเด็นที่ตัวเองไม่เห็นด้วย ซึ่งในช่วงท้ายของการประชุม สนช. จะเห็นท่าทีของ อ.ป๋วยที่ดุเดือดมากขึ้น

“เป็นสถานที่ที่อยากพูดก็พูดเลย เพราะที่นั่นไม่ใช่พื้นที่ของการใช้เหตุผล พูดอย่างไรก็ไม่เปล่ยนทิศทางของการลงมติ น่าจะเป็นอนุสติให้ปัญญาชนจำนวนมาก ที่คาดหวังจะเข้าไปอยู่ใน สนช. กมธ. หวังจะใช้องค์ความรู้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะขนาด อ.ป๋วยเองที่ได้รับการยอมรับยังประสบความล้มเหลวอย่างมาก” นายสมชายกล่าว และว่า ความเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยในสังคมไทยช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้นจำกัดมาก ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ทว่าเนื้อหาหลายส่วนที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ายังถูกปฏิเสธไป มองว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญสะท้อนสังคมขณะนั้นๆ

“ถ้าเป็นป๋วยวัยหนุ่มจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน คสช. หรือกลไกหนึ่งในการรัฐประหาร แต่ถ้าเป็นป๋วยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา น่าจะถูกเรียกไปปรับทัศนคติ และกลายเป็นผู้ต้องหาคดีมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” นายสมชาย ตอบคำถามที่ว่า หากป๋วยยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน จะทำหน้าที่อะไร

 

  • ป๋วย ในสายตานักรัฐศาสตร์

ต่อมา ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มธ. อภิปรายในหัวข้อ สันติวิธีของป๋วย อึ๊งภากรณ์: ยุทธวิธี เป้าหมาย และความหวัง

น.ส.จันจิรากล่าวว่า อ.ป๋วยเป็นคนแรกๆ ที่เขียนเรื่องสันติวิธี ซึ่งตั้งแต่ปี 2516-2559 เราจะเห็นกระบวนการภาคประชาสังคมใช้สันติวิธี เห็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองใข้คำว่าสันติวิธีสู้กันไปมา เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ “ร่ำรวยสันติวิธี” ทำให้คิดว่า หาก อ.ป๋วยอยู่ พ.ศ.นี้จะคิดอย่างไร

อยากชวนคิด 3 ประเด็น คือ อ.ป๋วยคิดถึงสันติวิธีในฐานะยุทธวิธีต่อต้านรัฐประหาร, สันติวิธีในฐานะโครงสร้างใหญ่ของสังคมไทย เป็นวิธีการสู่เป้าหมายคือสันติประชาธรรม, และคำว่าสันติประชาธรรมของ อ.ป๋วย หลายคนมองว่าเป็นเรื่องอุดมคติ แล้วอุดมคตินี้สำคัญต่อบ้านเมืองอย่างไร

“อ.ป๋วยคิดถึงสันติวิธีในฐานะยุทธวิธีต่อต้านรัฐประหารกับผู้มีอำนาจขณะนั้น ช่วง พ.ศ.2516-2519 ท่านเห็นและพยายามเสนอแนวคิดว่าประชาชน สามารถใช้วิธีที่ไม่รุนแรงปกป้องการฉีกรัฐธรรมนูญ และสามารถทำให้คนตื่นรู้กับการปกป้องสังคมไทยจากภัยรัฐประหาร” น.ส.จันจิรากล่าว และว่า คิดว่าความคิดของ อ.ป๋วยก้าวหน้ามาก เพราะเมื่อเกิดการยึดอำนาจในปลายประเทศ อย่างไรเสียก็ต้องพึ่งพาคนที่อยู่ข้างล่าง หากประชาชนรวมตัวกันแล้วใช้วิธีการต่างๆ แสดงความไม่ยินยอม ทำให้ผู้ยึดอำนาจปกครองด้วยความยากลำบาก เช่น ประเทศบูร์กินาฟาโซ ที่ทหารยอมคืนอำนาจให้ประชาชน

“อ.ป๋วยคิดถึงสันติวิธีในฐานะเครื่องมือการต่อสู้ของประชาชน แบ่งเป็นระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือเมื่อเกิดการฉีกรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องรวมตัวกันให้มากพอ ใช้สันติไม่ร่วมมือกับผู้มีอำนาจในการเลิกใช้รัฐธรรมนูญ ส่วนระยะยาวคือต้องให้ความรู้กับประชาชนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญอีก” น.ส.จันจิรากล่าว และว่า ฟังดูง่ายแต่ในความเป็นจริงมีความซับซ้อนกว่ามาก แต่สิ่งเหล่านี้ต้องพากเพียรทำต่อไป และแสดงออกว่าสันติวิธีเป็นวิธีการของคนกล้า ต้องกล้าพูดต่อผู้มีอำนาจ

น.ส.จันจิรากล่าวต่อไปว่า อ.ป๋วยไม่เพียงเห็นสันติวิธีในฐานะเครื่องมือการต่อสู้ แต่คิดไปไกลกว่านั้น คือสันติวิธีต้องนำไปสู่การสร้างสังคมประชาธรรม คือสังคมที่มีทั้งความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็นต่าง คนรากหญ้าได้ลืมตาอ้าปาก สิ่งที่ท่านเสนอสร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลขณะนั้นและฝ่ายซ้ายที่ต่อสู้เพื่อสังคมทว่าใช้ความรุนแรง ซึ่ง อ.ป๋วยมองว่า การใช้ความรุนแรงจะนำมาขึ้นความรุนแรงที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้น

เวลาที่เราอยากได้ประชาธิปไตยแต่ใช้ความรุนแรงนั้น เราไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อไหร่จะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งฝ่ายที่เปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีการความรุนแรงก็จะพยายามขจัดศัตรู ซึ่งนำมาสู่ความรุนแรงอีก การใช้วิธีการที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายก็ไม่อาจไปถึงเป้าหมายได้ ถ้าวิธีการเป็นประชาธิปไตย เป้าหมายก็จะเป็นประชาธิปไตย อ.ป๋วยต้องการให้สันติวิธีเป็นเครื่องมือหล่อหลอมสังคมที่เราอยากได้ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องอุดมคติ กินไม่ได้ ท่านก็ตอบว่าอุดมคติไม่ได้มีไว้กิน แต่มีไว้ทำ

“อ.ป๋วยเคยเขียนว่า ผมเชื่อว่าอุดมคติเป็นของส่วนตัว การบังคับให้คนคิดเหมือนกัน ทำให้ผมสยอง ว่าเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะทำลายล้างอุดมคติของปัจเจกชน เราต้องสนับสนุนให้ประชาชนแต่ละคนใช้ความคิดอย่างมีเสรีภาพ โดยไม่ต้องหวาดหวั่นว่าเป็นความคิดนอกลู่นอกทาง” จันจิรากล่าว และว่า ตีความได้ว่า อ.ป๋วยสมจริงที่สุดเพราะสังคมมนุษย์แตกต่างกัน อ.ป๋วยบอกว่า ถ้าสังคมไทยอยากผ่านพ้นจากวังวนเดิมๆ อาจต้องคิดถึงการออกแบบสังคมใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมามีส่วนร่วมกัน

 

  • ป๋วย ในสายตานักเศรษฐศาสตร์

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์ อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โศกนาฏกรรมของประเทศไทยและป๋วย คือท่านประสบความสำเร็จอย่างมากในการจรรโลงเศรษฐกิจ ปรับปรุงให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและเจริญเติบโตในอัตราที่สูง ขณะเดียวกันท่านก็รู้สึกว่าระบบเศรษฐกิขของไทยอาจเบ้ไป งานของท่านทั้งด้านการศึกษาและงานพัฒนาชนบทจึงเป็นความพยายามเพื่อแก้ความไม่สมดุลดังกล่าว ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติและเข้ามาปกครองประเทศ มีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งป๋วยเข้ามาทำอะไรหลายอย่างจนเศรษฐกิจรุดหน้าไปมาก ต่อมาท่านก็กังขาต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ รู้สึกว่าต้องถอยห่าง แต่ท่านมีเวลาในการทำงานพัฒนาชนบทค่อนข้างน้อยและประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย เพราะการพัฒนาชนบทไม่ง่ายเหมือนการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นโจทย์ใหญ่มากที่ท่านพยายามแต่ค่อนข้างประสบความล้มเหลว แต่ท่านก็พยายามอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจปัญหาชนบทตลอดเวลา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ท่านไม่ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้มีอำนาจ เพราะการพัฒนาชนบทเป็นการเน้นถึงความเหลื่อมล้ำ ท่านจึงมีปัญหามาโดยตลอด ทั้งที่แนวการปฏิบัติของท่านเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท เป็นแนวที่ค่อนข้างเสรีนิยมพอสมควร

อัมมารกล่าวสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลัง อ.ป๋วยเดินทางออกจากประเทศไทย คือ เกิดระดับผู้นำในต่างจังหวัดมากขึ้น มาเป็นชนชั้นนำรุ่นใหม่ แทนที่รุ่นเก่าที่ผูกพันกับนายธนาคาร มีการขับเคี่ยวของรุ่นเก่ารุ่นใหม่ เกี่ยวข้องกับนิยายที่เราได้ยินตลอดเวลาคือเสื้อเหลืองเสื้อแดง คือผู้นำในต่างจังหวัดและผู้นำในกรุงเทพฯที่มีมาแต่ดั้งเดิม

 

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราภิธานคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าอยากให้คนรุ่นใหม่มีความสามารถช่วยตัวเองได้ เราต้องเริ่มจากการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เพียงการเข้าใจระบอบประชาธิปไตย แต่รวมถึงคำถามที่ว่า เราวิพากษ์วิจารณ์ระบบอุปถัมภ์ได้ไหม สิ่งเหล่านี้คงมีวิธีการสอนคือให้มีจิตอาสานึกถึงคนอื่น ทำงานให้สังคม เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องคิดมาก

อย่างการพัฒนาชนบท เราให้คนต่างจังหวัดคิดเองได้ไหม เรามีความชอบธรรมอย่างไรที่จะให้คนต่างจังหวัดมาเชื่อเรา คิดว่าปัจจุบันคนต่างจังหวัดรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯดีกว่าคนกรุงเทพฯ ขณะที่คนกรุงเทพฯรู้เรื่องสิงคโปร์ นิวยอร์ก ลอนดอน ว่าเป็นอย่างไร แต่รู้เรื่องต่างจังหวัดน้อยมาก ฉะนั้น เรื่องการพัฒนาชนบทเราไม่ต้องช่วยเขาคิดหรอก เขาคิดเองได้ ประเด็นสำคัญคือกรอบของระบบการเมือง ระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกรอบใหญ่ของสังคม มีบทบาทกับชีวิตของทุกคน มันสอดคล้องกับการให้คนต่างจังหวัดมีโอกาสคิดเองไหม มีโอกาสทำอะไรอย่างที่เขาอยากทำไหม

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวต่อไปว่า พอเราพูดถึงเทคโนแครต จะเป็นประเทศที่เป็นอำนาจนิยม ซึ่งไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของคนธรรมดาอีกต่อไป เพราะเขาถูกเลือกเข้ามา แต่ที่พูดนี้ขอยกเว้น อ.ป๋วย แต่พูดถึงเทคโนแครตรุ่นหลังจากนั้น ที่มักทำงานกับรัฐบาลอำนาจนิยม เขาไม่ต้องตอบสนองประชาชน แต่ตอบสนองความต้องการชนชั้นนำ ตอบสนองความต้องการของคณะทหารที่มาเป็นรัฐบาล ความต้องการของธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ สหรัฐ หรืออำนาจภายนอกที่เข้ามามีบทบาทขณะนั้น เทคโนแครตไม่ใช่แมวสีอะไรที่จับหนูก็ได้ แต่เป็นมือปืนรับจ้าง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image