ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดำรงตำแหน่งประธาน จัดทำรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จสิ้นแล้ว มีจำนวน 261 มาตรา สัปดาห์นี้ไปจนถึงวันที่ 26 มกราคม จะพิจารณาเนื้อหา บทเฉพาะกาล รวมถึงทบทวนถ้อยคำ บทบัญญัติแต่ละหมวด และจัดทำสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับย่อ จากนั้นส่งร่างแรกให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ต่อประชาชนให้ได้รับทราบวันที่ 29 มกราคม ในส่วนเนื้อหาร่างแรกที่ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ประธาน กรธ.แถลงว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน พยายามให้เกิดเป็นผล เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างจริงจัง ยกระดับองค์กรอิสระสูงขึ้น ให้ความสำคัญทุกเสียงประชาชน เฉลี่ยความสุข และสิทธิทุกคะแนนมีความหมายหมด
รัฐธรรมนูญร่างแรกมีเนื้อหาไม่ต่างจากชั้นการพิจารณาที่ยังไม่ได้ข้อยุติและมีเสียงเรียกร้องให้ทบทวน แก้ไข บางส่วนเป็นการสืบทอดจากฉบับที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปฏิเสธ-ตีตกกลางสภา ซึ่งแม้ว่า กรธ.มั่นใจเป็นร่างที่ดี แต่สมาชิกพรรคการเมือง นักวิชาการส่งเสียงคัดค้าน ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากเนื้อหาต่างๆ อาทิ ที่มานายกรัฐมนตรี ส.ว.แต่งตั้ง การขยายอำนาจองค์กรอิสระให้มีอำนาจเหนือรัฐสภา เหนือกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง บทบัญญัติต่างๆ เหล่านี้ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยสากล อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมองว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้มีผลประโยชน์ได้เสียทางการเมือง กับภาคประชาชน โดยระบุว่าฝ่ายการเมืองมีอคติ จึงไม่มีทางที่จะเห็นดีด้วย
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทการปกครองประเทศสูงสุด ผู้มีหน้าที่ร่างต้องเปิดใจกว้างฟังเสียงสะท้อน โดยเฉพาะเสียงเห็นต่าง ไม่ควรเลือกฟังในสิ่งที่อยากฟังเท่านั้น ซึ่งขัดต่อแนวทางที่ว่าได้ให้ความสำคัญทุกเสียงที่ กรธ.ชูเป็นจุดขาย การให้ความสำคัญควรเริ่มตั้งแต่ต้น เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย คณะกรรมการฯต้องรู้จักแยกแยะว่าเหตุใดนักการเมืองถึงคัดค้าน ทั้งที่อยากเลือกตั้งเร็ว ต้องพิจารณาว่าเหตุผลที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยนั้นคืออะไร คือรับไม่ได้กับเนื้อหาที่ขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยเป็นหลัก หากมุ่งดำรงรักษาจุดยืนนี้ไว้เป็นสำคัญ การร่างแบบนี้ก็ย่อมจะมีปัญหามีผู้ไม่เห็นด้วย กรธ.มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกต้อง ออกมาใช้ได้จริง ทุกฝ่ายยอมรับ นับจากนี้ต่อไปประชาชนต้องช่วยกันจับตา ว่าเวลาที่เหลืออยู่จะมีการทบทวนหรือไม่ คสช.และรัฐบาลจะเลือกยืนยันหรือแก้ไข การตัดสินใจควรยึดมั่น ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการและเหตุผลมากกว่าการเมือง