‘การเมือง’ของ‘เด็ก’ : โดย กล้า สมุทวณิช

บางครั้งแอ่งน้ำเล็กๆ ที่เกิดจากรอยเท้า ก็อาจจะสะท้อนฉายภาพของดวงอาทิตย์ได้ทั้งดวง

แม้จะมาจากการเลือกตั้ง และการลงคะแนนเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย
เสียงข้างมากของสมาชิกสภา (ซึ่งเป็นเพียงสนามเดียวในประเทศที่ยังได้รับ “อนุญาต” ให้ดำเนินกิจกรรมเชิงการเมืองนี้) เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ก็เป็นอันต้องพ้นตำแหน่งทั้งสมาชิกสภานิสิต และประธานสภานิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไป ด้วย “ขาดคุณสมบัติ” ในการดำรงตำแหน่งเนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง

ภาพเล็กของ “การเมือง” ในมหาวิทยาลัย ก็สะท้อนภาพใหญ่ของการเมืองระดับชาติ

วิธีการที่ทำให้เนติวิทย์ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตนั้น ก็เป็นวิธีการในลักษณะเดียวกับที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติหลายต่อหลายคน ที่มีที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จะต้องพ้นตำแหน่งไปด้วยเหตุต่างๆ นานา ที่มาจากการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ว่ากันไปตามแต่กรณี

Advertisement

คำสั่งให้เนติวิทย์และคณะพ้นจากตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยนี้เปิดโปงให้เราเห็นว่า ที่แท้แล้วกิจกรรมการเมืองในรั้วของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีกระบวนการที่จำลองการปกครองในระบบรัฐสภาและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ในที่สุดก็เป็นเพียง “กิจกรรม” ของ “เด็กๆ” ที่ได้รับอนุญาตให้ “เล่นสมมุติบทบาท” ทางการเมืองกันได้ภายใต้ขอบเขตความยินยอมของ “ผู้ใหญ่” ซึ่งได้แก่ผู้มีอำนาจที่แท้จริงของสถาบันการศึกษา และหากเด็กๆ เล่นกันจนเลยขอบเขตที่เขาขีดไว้ในใจแล้ว ผู้ใหญ่ที่ว่าย่อมสามารถที่จะสอดมือเข้ามา “ทุบโต๊ะ” เพื่อจัดการจัดแจงให้เป็นไปตามความเหมาะสมเมื่อประสงค์ได้ทุกเมื่อ

เครื่องมือควบคุมที่ถูกนำมาใช้ในรอบนี้ คือการ “ตัดคะแนนความประพฤติ”

คะแนนความประพฤติอันมีที่มาฐานอำนาจจากระเบียบมหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต ที่มีไว้เพื่อ “รักษาไว้ซึ่ง ชื่อเสียง เกียรติคุณของมหาวิทยาลัย และเพื่อมารยาทอันดีงาม และความประพฤติอันเรียบร้อยของนิสิตซึ่งศึกษาในสถาบันแห่งนี้ และเพื่อให้บรรลุตามปณิธานของมหาวิทยาลัย…”

Advertisement

น่าสังเกตว่าจากคำปรารภข้างต้น เราจะเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการมี “วินัยนิสิต” ที่มุ่งหมายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของนิสิตในอันที่จะรักษาวินัยนั้น เป็นไปเพื่อการรักษา “ชื่อเสียงเกียรติคุณ” หรือ “หน้าตา” ของทางมหาวิทยาลัย ไม่ใช่มีไว้เพื่อตัวนิสิตเอง และไม่ใช่ว่าเพื่อให้นิสิตทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันได้โดยสงบไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน

เช่นนี้ ในสายตาของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ แม้ว่าพวกเขาจะเข้ารับการศึกษาในระดับที่เรียกว่า “อุดมศึกษา” ด้วยวัยที่ใกล้บรรลุนิติภาวะอยู่รอมร่อ นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่สามารถซื้อหาบุหรี่สุรา เลือกชมภาพยนตร์ได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำ หรือใช้สิทธิทางการเมืองระดับชาติได้หากจะมี แต่ในรั้วของมหาวิทยาลัย พวกเขาก็ไม่ต่างจาก “เด็กนักเรียน” ที่ยังคงต้องกำกับควบคุมด้วยวิธีเดียวกันกับที่เคยใช้มาตั้งแต่เมื่อครั้งพวกเขายังเรียนประถมหรือมัธยม

และหากเรานำเอาระเบียบว่าด้วยวินัยของนิสิตดังกล่าวมาพิจารณาในรายละเอียด เราเห็นมุมมองที่ยังเห็นนิสิตเป็น “เด็ก” ปรากฏอยู่ในระเบียบดังกล่าวหลายข้อ เช่น ข้อ 5 “นิสิตต้องปฏิบัติตาม
หลักศีลธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมอันดีของสังคมไทยในทุกโอกาส” ข้อ 7 “นิสิตต้องประพฤติตนเป็นสุภาพชนไม่ประพฤติในสิ่งที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ตนเอง บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือมหาวิทยาลัย” หรือข้อ 12 “นิสิตต้องไม่นำขนบธรรมเนียมประเพณีวิธีการอันไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมไทยมาปฏิบัติ”

ใช่แล้ว แม้ว่าอีกไม่ถึงสี่ห้าปี พวกเขาจะได้เป็น “บัณฑิต” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ทรงความรู้ ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ แต่มหาวิทยาลัยของเราก็ยังคงคาดหวังว่าบรรดาว่าที่นักปราชญ์ผู้รู้เหล่านั้นต้องเป็น “เด็กดี” ของพ่อแม่ผู้ปกครอง รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทย ไม่ใฝ่ใจในขนบธรรมเนียมประเพณีอันแปลกปลอม เรามองผู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยด้วยสายตาเช่นนี้เอง

และอันที่จริงแล้ว ไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยนั้นหรอกที่มองเห็นนิสิตเป็นเด็กน้อยที่ต้องกำกับดูแล แต่ “รัฐ” เองก็มองพลเมืองของตนด้วยสายตาเช่นนั้นดุจกัน

คุณสมบัติอย่างหนึ่งของความเป็น “ผู้ใหญ่” คือความสามารถในการปกครองตัวเอง เช่น ผู้ที่
บรรลุนิติภาวะแล้วในทางกฎหมาย ย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องมี “ผู้ปกครอง” อีกต่อไป

เช่นนี้ การ “ยึดอำนาจการปกครอง” ไปจากประชาชนโดยวิธีที่ไม่ชอบ ในอีกทางหนึ่ง คือการริบเอาความเป็นผู้ใหญ่ที่มีเจตจำนงและอำนาจในการกำหนดอนาคตด้วยตัวเองของเราไปด้วย

สิ่งหนึ่งที่อาจชี้ให้เห็นว่า คณะผู้ที่เข้ามาปกครองประเทศด้วยวิธีการดังกล่าวนั้น เห็นว่าประชาชนพลเมืองเป็น “เด็ก” ก็คือการประกาศ “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” ขึ้นมา ก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เป็นกติกาในทางการเมืองการปกครองเสียอีก

ค่านิยม 12 ประการดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ไปในทุกช่องทางที่อำนาจรัฐแผ่ไปถึง ปรากฏบนโปสเตอร์และคัดเอาต์ติดตามกำแพงผนังของสถานที่ราชการทุกแห่ง เป็นบทอาขยานให้เด็กๆ ในโรงเรียนท่องจำกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล แปรรูปกลายลักษณ์เป็นสื่อเสียงเพลง ภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว แม้แต่สติ๊กเกอร์ไลน์ เพื่อกล่อมเกลาให้พลเมืองไทยทุกคนจดจำให้ขึ้นใจ ตามนโยบายท่านผู้นำ

โดยที่หากเราเอาค่านิยมหลักทั้ง 12 ประการมาดูกันทีละข้อ จะเห็นว่ามันคล้ายจะถอดเพลง “หน้าที่ของเด็ก” หรือที่เราร้องเล่นกันคล่องปากว่า “เด็กเอ๋ย…เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน…” มาเขียนใหม่ให้มีบริบทที่ร่วมสมัยและละเอียดชัดเจนขึ้น เพื่อจะสามารถปรับใช้ได้กับ “คนโต” ที่ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ได้

ดังเช่นหน้าที่ของเด็กดีข้อ “หนึ่งนับถือศาสนา…” ค่านิยมหลักของคนไทยข้อแรกก็ว่า “มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ส่วนหน้าที่เด็กดีข้อต่อมา “สองรักษาธรรมเนียมมั่น…” ก็ตรงกับค่านิยมหลัก
ข้อ 5 “รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม” หน้าที่เด็กดีข้อ 3 “เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์” ก็ไปได้กับทั้งข้อ 3 “กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์” และส่วนท้ายของข้อ 8 “ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่” ฯลฯ

เราทั้งหลายถูกทำให้กลายเป็นเด็กที่ยังไม่พร้อมไม่ควรที่จะปกครองดูแลตัวเอง จนกว่าผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองจะเห็นสมควร สร้างมายาคติครอบงำว่า ความพินาศเสียหายทั้งหลายที่เกิดขึ้นตลอดทศวรรษที่สาบสูญนี้ เกิดจากการที่พลเมืองส่วนหนึ่งเป็น “เด็กไม่ดี” ที่ทั้งโง่เขลา ไม่รู้การควรไม่ควรจนตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี หรือที่พอจะมีปัญญาอยู่แต่ก็ดื้อด้านต่อต้านก่อความไม่สงบเรียบร้อย หรือไปเผยแพร่ความคิดชี้นำในทางที่ผิดให้พวกหัวอ่อนจนเกิดความวุ่นวาย

เช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่แม้ในอนาคต พวกเขาจะอนุญาตให้เราสามารถปกครองตัวเองได้ มีระบบการเมืองที่มาจากรัฐธรรมนูญ มีตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ด้วยทัศนคติที่ยังเห็นเราเป็นเด็กๆ อยู่นั้น การเมืองในระดับชาติก็จะไม่แตกต่างจากการเมืองในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย นั่นคือการเมืองเท่าที่เขาอนุญาตให้เราได้ “เล่น” บทบาทสมมุติในการปกครองตัวเอง ได้เลือกตั้ง ได้มีผู้แทน แต่ที่แท้แล้ว ตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งเหล่านั้นก็จะอยู่ภายใต้การ “กำกับดูแล” ของบรรดา “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายอยู่ดี

พวกเขาขีดขอบกำหนดกรอบเขตพื้นที่ “เล่น” ของเราเอาไว้แล้วล่วงหน้า ด้วยกลไกทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่วางไว้ เช่น เราจะมีผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยากจะตั้งรัฐบาลขึ้นได้ หากบรรดาตัวแทนของ “ผู้ใหญ่” ที่อยู่ใน “วุฒิสภา” ไม่ให้ความยินยอมเสียก่อน

พวกเขาวาง “ยุทธศาสตร์ชาติ” ไว้เป็นกฎหมาย จัดวางตัวผู้มาเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไว้เสร็จสรรพ จากบรรดา “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ก็ยังมี “แนวทางการปฏิรูปประเทศ” “หน้าที่ของรัฐ” และ “แนวนโยบายแห่งรัฐ” ที่วางเอาไว้ก่อนแล้วล่วงหน้าในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะผูกพันให้รัฐบาลในอนาคตจะต้องปฏิบัติตาม อย่างที่แทบจะไม่ต้องคิดนโยบายการบริหารประเทศใดๆ ให้ยุ่งยาก

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ แม้ว่าจะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ก็อาจจะสามารถพ้นตำแหน่งกันได้ง่ายๆ ทั้งด้วยการขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือแม้แต่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก็เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งได้ คล้ายกับเป็นการถูกตัดคะแนนความประพฤติจนต้องตกจากเก้าอี้

และยังเป็นการเมืองที่เปิดโอกาสให้บรรดา “เด็กช่างฟ้อง” สามารถเอาความไปฟ้องบรรดา “ผู้ใหญ่” เพื่อให้ลงโทษทางการเมืองเอาแก่อีกฝั่งอีกฝ่าย
ได้โดยง่ายด้วยช่องทางสารพัด พวกเด็กกลุ่มที่คิดว่าเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด ทำตามผู้ใหญ่ไว้
อย่าดื้อ ถ้าเขารักเขาเมตตาเราก็จะได้รับการดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดู ยินดีมีอิสระเพียงเท่าที่อยู่ในสายตาผู้ปกครองก็พอใจแล้ว

ด้วยเหตุนี้การเมืองระดับชาติในอนาคต ก็ไม่ต่างจากการเมืองของเด็กๆ ในรั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ภายใต้การกำกับดูแลของบรรดาผู้ปกครองที่ยังไม่ยอมปล่อยมือจากหัวของเรา อย่างที่มองไม่เห็นอนาคตเลยว่า สักวันหนึ่ง เราจะกลับไปเป็น “ผู้ใหญ่” ที่มีอำนาจปกครองตัวเองอย่างเป็นอิสระและมีเจตจำนงได้เหมือนเดิมอีกสักทีเมื่อไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image