วิธีใหม่เอี่ยมที่จะปลดประธานาธิบดีทรัมป์ ออกจากตำแหน่งโดยไม่ต้องอิมพีชเมนต์ : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2330 ซึ่งในเดือนนี้ก็จะมีอายุครบ 230 ปี นอกจากนี้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญอเมริกาก็ยังสั้นมีเพียง 7 หมวด 23 มาตราเท่านั้น น่าอิจฉานะครับเมื่อเทียบกับประเทศไทยของเราในระยะเวลา 85 ปี ไทยเรามีรัฐธรรมนูญอยู่ถึง 20 ฉบับ โดยเฉลี่ยเราใช้รัฐธรรมนูญฉบับละ 4 ปีกว่าๆ เท่านั้นเอง เรียกว่าประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญฟุ่มเฟือยที่สุดในโลกเลยทีเดียว มิหนำซ้ำรัฐธรรมนูญของบ้านเราล้วนแล้วแต่ยาวๆ ร่วม 300 กว่ามาตราเสียเป็นส่วนใหญ่ แบบว่าฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมแล้วเขียนใหม่ก็เติมโน่นเติมนี่เข้าไปให้ดูใหม่ขึ้นมาเท่านั้นเอง

ความจริงรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาก็ย่อมล้าสมัยไม่เหมาะสมกับกาลเวลา เนื่องจากรัฐธรรมนูญอเมริกาถูกเขียนมาตั้งแต่สมัยยังไม่มีเรือกลไฟ ไม่มีรถไฟ ไม่มีรถยนต์ ไม่มีเครื่องบิน ไม่มีคอมพิวเตอร์ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สมสมัยขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกามาแล้ว 27 ครั้ง โดยสิบครั้งแรกเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรวดเดียว 10 มาตรา ที่รวมเรียกว่า Bill of Rights ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมเรื่องสิทธิของพลเมืองทั้งสิ้น อาทิ สิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิในการพูด เขียนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ฯลฯ

สำหรับบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีก 17 มาตรานั้น ก็ใช้เวลา 200 กว่าปีที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงแก้ไข อาทิ การเลิกทาส การให้สิทธิสตรีเลือกตั้งได้ และเคยออกบทแก้ไขเพิ่มเติมที่ห้ามการจำหน่ายสุรา
ทั่วประเทศเพราะเห็นว่าสุราเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่ในที่สุดก็ต้องยกเลิกบทแก้ไขเพิ่มเติมนี้เสีย เนื่องจาก
ก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี กล่าวคือ ทำให้คนตาบอดเนื่องจากดื่มสุราเถื่อน และเกิดกลุ่มอาชญากรรมมากมายแย่งชิงผลประโยชน์ในการผลิตสุราเถื่อนซึ่งเป็นที่มาของมาเฟียในปัจจุบันนั่นเอง

ส่วนบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราล่าสุดคือมาตราที่ 27 ที่ผ่านการให้สัตยาบันแล้วเมื่อ พ.ศ.2535 คือการที่สมาชิกรัฐสภาของสหรัฐลงคะแนนเสียงขึ้นเงินเดือนและผลประโยชน์ให้กับตัวเองให้มีผลใช้บังคับได้เมื่อการเลือกตั้งคราวต่อไปเสร็จสิ้นลง ซึ่งเป็นการป้องกันสมาชิกรัฐสภาสหรัฐขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองบ่อยนักนั่นเอง

Advertisement

อีทีนี้มากล่าวถึงวิธีใหม่เอี่ยมที่จะปลดประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งโดยไม่ต้อง
อิมพีชเมนต์ เนื่องจากเกิดมีขบวนการเคลื่อนไหวที่จะปลดประธานาธิบดีทรัมป์มาตั้งแต่ประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่งแล้วเมื่อ
เดือนมกราคมปีนี้ แล้วทรัมป์ก็ขยันสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน การสร้างศัตรูนี้รวมทั้งบรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาสหรัฐ ที่ถูกนายทรัมป์โจมตีอย่างเสียๆ หายๆ ในความล้มเหลวที่จะยกเลิกกฎหมายสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่ใช้บังคับตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งทรัมป์สังกัดอยู่ด้วย

โดยนายทรัมป์ถูกตั้งคณะกรรมาธิการอิสระซึ่งมีอดีตผู้อำนวยการ เอฟ.บี.ไอ. นายโรเบิร์ต มุลเลอร์ เป็นประธาน เพื่อสืบสวนและสอบสวนการเปิดเผยความลับของสหรัฐอเมริกาให้กับรัสเซียของทีมงาน
หาเสียงของทรัมป์ซึ่งมีหลักฐานเด่นชัดขึ้นทุกวัน แต่วิธีการอิมพีชเมนต์นั้นใช้เวลานานและยุ่งยากหลายขั้นตอนดังที่เคยเขียนไว้แล้ว (มติชน 9 สิงหาคม พ.ศ.2560)

ปรากฏว่ามีผู้แทนราษฎรสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครต จากมลรัฐแมรีแลนด์ ชื่อ นายแจมี รัสกิน ผู้ที่เคยเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนเชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อดำเนินการปลดประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง โดยอ้างถึงบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐมาตราที่ 25 วรรค 4 ที่สามารถประกาศว่าประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้และให้รองประธานาธิบดีขึ้นรักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีแทนได้ มีเนื้อความดังนี้

Advertisement

“เมื่อใดรองประธานาธิบดีและเสียงข้างมากของเจ้าหน้าที่ชั้นสูงฝ่ายบริหาร หรือของหน่วยงานอื่นที่รัฐสภากำหนดไว้ตามกฎหมาย แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานชั่วคราววุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าประธานาธิบดีไม่สามารถที่จะใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตนได้ ให้รองประธานาธิบดีเข้าใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีทันที”

ความจริงบทแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ 25 นี้ออกมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 แล้วก็ 50 ปีแล้วละครับ แต่เนื่องจากรัฐสภาสหรัฐไม่ได้ออกกฎหมายลูกออกมาอย่างเป็นทางการว่าวิธีการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งนั้นมีขั้นตอนตามกฎหมายอย่างไร ซึ่งนายแจมี รัสกิน จึงได้เสนอกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อเร็วๆ นี้ ให้รองประธานาธิบดีพร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ร่วมกันตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยแพทย์ 4 คน จิตแพทย์ 4 คน และอีก 3 คน ประกอบด้วย อดีตประธานาธิบดี หรืออดีตรองประธานาธิบดี และอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ว่าประธานาธิบดีทรัมป์นั้นสุขภาพกายและสุขภาพจิตยังเหมาะสมที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งประธานาธิบดี และเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวลงความเห็นว่าประธานาธิบดีเป็นเสมือนบุคคลไร้ความสามารถโดยทางจิตหรือทางกายแล้ว ก็ให้รองประธานาธิบดีขึ้นรักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป

หากกฎหมายที่นายแจมี รัสกิน ผ่านรัฐสภาออกมาเป็นกฎหมายของสหรัฐได้สำเร็จก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้โดยไม่ต้องใช้วิธีการอิมพีชเมนต์ ซึ่งยังไม่เคยปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้เลยแม้แต่คนเดียวตลอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image