เปิด 7 ข้อ พงศ์พร ให้เหตุผล ยื่นค้านถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจฯ ไม่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมาครม.มีมติอนุมัติให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) รับโอน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ไปแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สปน. จากนั้นวันที่ 6 กันยายน นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 214/2560 ให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ตำแหน่งที่ 15 สปน. โดยในวันเดียวกัน นายจิรชัยได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 215/2560 มอบหมายให้ พ.ต.ท.พงศ์พร รับผิดชอบการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 8 ประกอบด้วย จ.สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้พ.ต.ท.พงศ์พรได้มีหนังสือถึงนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เพื่อทักท้วงการโอนตนเองไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ความว่า กระผมขอเรียนว่า

1.การรับโอนและการให้ไปช่วยราชการข้างต้นนั้น มิได้เป็นไปโดยความรู้เห็นหรือความสมัครใจของเจ้าตัว

2.เมื่อมติคณะรัฐมนตรี มีผลให้กระผมพ้นจากตำแหน่ง นับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯฉะนั้น กระผมจึงยังอยู่ในตำแหน่งนี้และมีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งทุกประการ จนกว่าจะเข้าเงื่อนไขดังกล่าว

Advertisement

3.การขอและการให้ยืมตัวกระผมไปช่วยราชการ ทั้งที่รู้ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติข้างต้น อาจขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และอาจกระทบพระราชอำนาจได้

4.การอนุมัติให้ยืมตัวของท่าน พิจารณาเพียงว่าสำนักนายกรัฐมนตรีไม่เสียหาย แต่มิได้พิจารณาว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง (พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 46) เสียหายหรือไม่

อนึ่ง การให้ยืมตัวหัวหน้าส่วนราชการขณะที่มีรองหัวหน้าส่วนราชการซึ่งใกล้เกษียณ (1 ตุลาคม 2560) เหลือเพียงนายคนเดียวน่าจะทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีภารกิจกว้างขวางเสียหายได้

Advertisement

5.การอนุมัติให้ยืมตัวผมไปราชการ มิใช่กฎหมาย จึงไม่ทำให้กระผมพ้นจากตำแหน่งและเจ้าหน้าที่ในตำแหน่ง อีกทั้งในความเป็นจริงกระผมยังปฏิบัติราชการในตำแหน่งได้ โดยมิต้องนั่งประจำที่สำนักงานพระพุทธศาสนา ฉะนั้น การรักษาราชการแทนตามคำสั่งที่อ้างถึงจึงยังไม่เกิด เพราะการรักษาราชการแทนเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่การแต่งตั้งของผู้ใด นอกจากนี้การแต่งตั้งตามคำสั่งที่อ้างไม่จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากขณะนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพียงคนเดียว (พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 46)

6.การถือปฏิบัติตามคำสั่งที่อ้างถึงในขณะนี้ จะทำให้เกิดการปฏิบัติราชการโดยปราศจากอำนาจทางกฏหมาย ทำให้เสียหายแก่ราชการร้ายแรงได้

7.การแจ้งให้กระผมไปช่วยราชการ ยังมิได้กระทำโดยผู้บังคับบัญชา

ทั้งนี้ กระผมได้มีหนังสือเรียนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ พศ.00001/09328 ลงวันที่ 4 กันยายน 2560 เพื่อแย้งกรณีดังกล่าวไว้ด้วยแล้ว รายละเอียดตามเอกสารที่แนบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image