‘บิ๊กตู่’พบนักลงทุนญี่ปุ่น หยอดมุขชอบกินอาหารญี่ปุ่น ระวังเนื้อมัตสึซากะหมดประเทศ

“บิ๊กตู่” หยอดหวานนักลงทุนญี่ปุ่น ให้มั่นใจลงทุนในไทย ยันทุกรัฐบาลต้องเดินหน้าอีอีซี เพราะออกเป็นกฎหมาย หยอดมุขชอบกินอาหารญี่ปุ่น เตือนระวังเนื้อหมดประเทศ

เมื่อ‪เวลา 15.00 น.‬ วันที่ 11 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นำคณะนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นกว่า 570 คน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องในโอกาสที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำเนินมาสู่ปีที่ 130 โดยทั้งสองประเทศได้กำหนดแผนการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างกรุงเทพฯ-โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคทั่วประเทศเข้าด้วยกัน

นายฮิโรชิเกะ เซโกะ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเยี่ยมประเทศไทย พร้อมกับคณะนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในประเทศญี่ปุ่นมากมาย นั่นหมายความว่านักธุรกิจญี่ปุ่นในแนวหน้าแทบจะรวมอยู่ในไทยในตอนนี้ สำหรับไทยมีอุตสาหกรรมที่รวมตัวกันอยู่มากมาย ถือเป็นฮับการผลิตแห่งเดียวในอาเซียน บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีฐานการผลิตในไทยมานาน ถือว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญ ที่ผ่านมามีความร่วมมือในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะมีการพัฒนาขึ้นเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงต่อไป

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้พบปะพูดคุยกันวันนี้ เมื่อสักครู่ได้มีการหารือด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรไมตรีต่อกัน และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คนไทยทั้งประเทศติดตามการมาเยือนในครั้งนี้ และส่วนตัวรู้สึกตื่นเต้นไม่คิดว่าจะมีนักลงทุนจะมามากขนาดนี้ ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ยาวนานกันมา 130 ปี โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันความสัมพันธ์เป็นอย่างดี และที่ผ่านมาได้ร่วมมือกันในทุกระดับ ซึ่งจะสานความสัมพันธ์เช่นนี้ต่อไปอีก 130 ปี ในระยะที่ผ่านมาไทยได้เดินหน้าประเทศไปสู่ระยะการเปลี่ยนผ่าน ให้มีการพัฒนาเจริญเติบโต แน่นอนว่าเราจะไม่ลืมเพื่อนชาวญี่ปุ่นของเรา

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนการนำเสนอวิสัยทัศน์ต่างๆ ร่วมกัน พรุ่งนี้มีกำหนดปาฐกถาพิเศษของรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่น รวมถึงการทำบันทึกความเข้าใจร่วม 7 ฉบับ และกำหนดหัวข้อทางเศรษฐกิจต่างๆ ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวทีเหล่านี้ จะแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของเรา หมายถึงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมากน้อยแค่ไหน เราต้องหารือร่วมกันว่าจะทำอะไรกันต่อไป อะไรคือกิจกรรมเร่งด่วน ก่อนที่จะมีกิจกรรมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย บนโลกนี้ยังมีที่ให้เราเสมอ อาเซียนก็มีที่ให้ญี่ปุ่นเสมอ ไทยก็เช่นเดียวกัน

“วันนี้ขอยืนยันกับท่านด้วยหัวใจของตัวเอง ขอให้มั่นใจว่าจะทำทุกอย่างให้ไทยญี่ปุ่นไว้ใจกันมากที่สุด เพื่อวันข้างหน้า เพื่อผลประโยชน์ที่เท่าเทียม ต้องเป็นไปในลักษณะวินๆ ในเรื่องการค้าการลงทุนระหว่างกัน ขอบคุณจริงๆ ที่ครั้งนี้เดินทางมาไทยถึง 3 วัน แสดงว่าท่านให้เกียรติเรามาก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า สำหรับการลงทุนเดิมของไทยญี่ปุ่นมีมายาวนาน การค้าขายทางเรือ การพัฒนาทางทหาร มีมาตลอด มีการตั้งรกรากในเมืองไทยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีหลักฐานตามประวัติศาสตร์อยู่ และปัจจุบันมีการตั้งรกรากอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างเรามีสูงมาก โอกาสการลงทุนก็สูงมาก โดยที่ผ่านมาเป็นญี่ปุ่นที่สนับสนุนให้ไทยได้เติบโตได้ถึงวันนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย วันนี้เราจะร่วมมือกันอีกครั้งให้กับประเทศไทยและอาเซียน เราจะร่วมลงทุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก้าวให้ทันโลก เราจะพัฒนาร่วมกันในลักษณะไตรภาคี มาสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรา และจะไปช่วยประเทศที่กำลังจะพัฒนาอื่นๆ ต่อไป วันนี้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีนโยบายเรื่องเหล่านี้ ซึ่งตรงกับวาระการพัฒนา 15 ปี ของสหประชาชาติ เราเริ่มวันนี้ก็จะเร็วขึ้น

Advertisement

“ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ไทยทำวันนี้จะยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช่เพราะตัวเอง แต่เพราะเราได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทุกๆ 5 ปีจะมีการพิจารณาแผนเพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกรัฐบาลที่มาจากนี้ก็ต้องทำต่อ เพราะเป็นกฎหมาย ขอให้ฟังตัวเองในฐานะผู้นำรัฐบาลในวันนี้และวันนี้รัฐบาลนี้จะปฏิรูปทุกเรื่อง และเราได้ศึกษาไว้ทั้งหมดแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ไทย-ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมกันได้ทุกเรื่อง รัฐบาลทำให้มันเกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์แน่วแน่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐ หรือ การลงทุนร่วมกับเอกชน มีระยะเวลาที่กำหนด ไม่ช้าเกินไป มีกระบวนการทางพีพีพี หรืออีอีซี ฟาสต์แทร็ก มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ บางอย่างที่เราต้องการ หรือต้องมีการพูดคุยกันเพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศก็ต้องมีการหารือกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องทำให้รวดเร็ว ขจัดอุปสรรค ไม่ว่าจะกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อทำให้ธุรกิจเหล่านี้เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส เชื่อถือได้

“การทำงานคร้งนี้ ส่วนตัวคิดว่า หากร่วมมือกันช้าเกินไป จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ในฐานะที่ญี่ปุ่นก้าวหน้าไปไกลแล้ว don’t left everyone behide หรืออย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องสร้างห่วงโซ่มูลค่าให้มากยิ่งขึ้น ท่านก็รู้ดีว่าไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง เราคุยกันถึงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล เกษตรสมัยใหม่ การลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต นี่คือสิ่งที่เราคิดไปข้างหน้า และเชื่อว่าคนญี่ปุ่นมีศักยภาพในการมีวิสัยทัศน์ ซึ่งโลกใบนี้ต้องการ เราคิดเพื่อโลกใบนี้ ไม่ใช่เพื่อเรา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า สำหรับ 4 โครงการหลักที่เอกชนร่วมลงทุนปลายปีนี้ หรือช้าสุดในปี 2561 อาจใช้เวลาก่อสร้างนาน ก็ต้องทำให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไทยก็ต้องเร่งให้เกิดขึ้น เรามีแผนใช้งบประมาณ 5 ปี ให้อีอีซีเกิดขึ้นอย่างไร ฉะนั้น ขอให้เริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือ‪เมื่อรืนนี้‬ กลับไปตัดสินใจลงทุนเลย ก็จะทำให้โครงการเกิดเร็วขึ้น จะได้มั่นใจ เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 แสน 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เราจะสานต่อสิ่งที่ไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมทำกันมา จะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน และนำไปสู่การพัฒนาภูมิภาค ซึ่งเราถือเป็นตลาดใหญ่ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น CLMVT ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 500 เปอร์เซ็นต์ในรัฐบาลนี้

“ขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด หรือเลือกตั้งเมื่อใด ก็ต้องสานต่อโครงการอีอีซีนี้ไว้ เพราะเป็นกฎหมาย เป็นพระราชบัญญัติ ในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวัน บรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในปีแรก แผนสภาพัฒน์ครอบคลุมไปอีก 5 ปี ขอให้ทุกคนมั่นใจ เรามีกรรมการอีอีซี เดินหน้ามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล การเยี่ยมเยือนพบปะต่างประเทศ หรือต้อนรับนักลงทุน และจัดตั้งสำนักงานในการขับเคลื่อน สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง สิ่งสำคัญที่สุดคือ สิทธิมนุษยชนกับการประกอบธุรกิจ ไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ไปแล้วว่า ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย จะทำอย่างไรให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน ทำให้คนรู้สึกปลอดภัย ไทยยืนยันว่าจะร่วมมือกันในลักษณะนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ขณะที่เรื่องเอสเอ็มอี ได้พูดคุยกับผู้นำของญี่ปุ่น พบว่า 1.2 ล้านคน ขณะที่ไทยมีเกือบ 3 ล้านราย เชื่อมั่นในศักยภาพญี่ปุ่นที่จะเข้ามาพัฒนาเอสเอ็มอีของเราให้เข้มแข็ง วันนี้มีการจัดตั้งบริษัทสตาร์ตอัพเกิดขึ้นมากมาย เราต้องสร้างทายาททางธุรกิจให้เกิดขึ้น วันนี้ได้นำแบบอย่างของญี่ปุ่นมาหลายนอย่าง เช่น องค์ความรู้พัฒนาเอสเอ็มอี การเชื่อมโยงประสานงานติดต่อ การอบรมทางธุรกิจ รวมถึงแผนงานส่งเสริมต่างๆ จัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยแล้ว อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาอะไรก็ตามแต่ ต้องขจัดอุปสรรคไปให้ได้ โดยมองผลประโยชน์โดยรวมของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะประชาชนคือลูกค้าของเราในการประกอบการ ถ้าทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะเกิดความมั่นใจทั้งไทยและญี่ปุ่น ส่วนโลกก็ทราบดีอยู่แล้วการเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีค่อนข้างรวดเร็ว ต้องสร้างความเข้าใจให้ดีที่สุด

“ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลพูด หรือตัวเองพูด ต้องทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ลดความหวาดระแวง เพื่อผลประโยชนที่เป็นธรรม จะไม่ให้ใครเข้ามาใช้ประโยชน์บิดเบือนทำให้ทุกอย่างแย่ไป ท้ายที่สุด ขอยืนยันด้วยเกียรติยศของนายกรัฐมนตรี ในฐานะเคยเเป็นทหาร และเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นเป็นสุภาพบุรุษ มีระเบียบวินัย ให้เกียรติคนอื่น ไทยก็ให้เกียรติท่านตรงนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ในช่วงท้าย นักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้ถามคำถามกับนายกรัฐมนตรี รวม 3 คำถาม โดยถามว่า ไทยคาดหวังจะให้ญี่ปุ่นช่วยในการลงทุน เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้ามาตลอด มีการแลกเปลี่ยน เยี่ยมเยียนตลอดกันเสมอมา สำหรับควาามสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่วันนี้ แต่เราทำมาทั้งหมดตลอด 130 ปี เราคาดหวังต่อกัน คือความร่วมมือระหว่างกัน วันนี้ตัวเองคุยกับญี่ปุ่น คือ ไทยกับญี่ปุ่น ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น ขอให้เชื่อมั่น ส่วนตัวคาดหวังการลงทุนเทคโนโลยีแบบใหม่ให้มากขึ้น แลกเปลี่ยนนวัตกรรม วันนี้ถือว่า ตัวเองคุยกับเพื่อนที่ใกล้ชิด ท่านคาดหวังอะไรจากผม ผมก็คาดหวังอะไรจากท่าน ก็คาดหวังสิ่งที่เป็นอนาคต ที่ต้องเริ่มวันนี้ ไทยกำลังปฏิรูป เปลี่ยนแปลงประเทศเรา ให้มีความพร้อมในการดูแลประเทศอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา ต้องทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางโดยเร็ว แน่นอนว่า เราทำคนเดียวไม่ได้ ก็คาดหวังจากท่านด้วยคำยืนยันนี้

นักลงทุนชาวญี่ปุ่น ถามอีกว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้ท่านมั่นใจว่าเราจะรักษาในเรื่องการลงทุนให้มีความต่อเนื่อง เรียนว่าเรามีแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในช่วง 5 ปีแรก และในระยะต่อไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ก็จะมี นอร์ธอีซี เซาธ์อีซี เวสต์อีซี เชื่อมโยงเศรษฐกิจตะวันออก เราได้เอาแผนทั้งหมดของประชาคมต่างๆ มาเชื่อมโยงหมดแล้ว และเราก็สร้างเป็นแผนพัฒนาประเทศของเรา เราสร้างความเชื่อมโยงให้การบริการ การลงทุนในพื้นที่ และยึดโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ถึงบอกว่า อยากให้ญี่ปุ่นพิจารณาประเด็นสำคัญว่าเรามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพสนับสนุนการลงทุนในแถบภูมิภาคนี้ หากเชื่อมโยงตรงนี้ได้ ก็นำไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด และนำไปสู่คลัสเตอร์จังหวัดอื่นๆ นำไปสู่การยึดโยงประเทศรอบบ้านอีกด้วย ขอให้ทุกคนมั่นใจ

ส่วนเรื่องการลงทุน ขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้ศึกษารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และทราบว่าท่านสนใจสร้างรถไฟทางคู่ และท่าเรือ ท่าอากาศยาน ท่านก็จะมีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้ ใน 5 ปีแรกจะมีแต่โครงการเหล่านี้ แผนทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะตัวเองดูตัวอย่างพัฒนาจากญี่ปุ่น ดูว่าสามารถเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมได้อย่างไร ไทยก็พยายามคิดบ้าง เพื่อพัฒนาประเทศ ก็ขอให้มั่นใจ เชื่อมั่นตัวเอง เชื่อมั่นประเทศไทย และทุกอย่างเป็นกฎหมาย เปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่แล้ว

นักลงทุนชาวญี่ปุ่น ถามต่อไปว่า ไทยคาดหวังให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต การส่งออก และพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย สิ่งที่ต้องการคือเราจะพัฒนาเอสเอ็มอีเราอย่างไร วันนี้ได้มีการแยกประเภทเป็นหลายกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีศักยภาพเข้มแข็ง กลุ่มที่พร้อมขยายในประเทศ กลุ่มที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งหมดเพื่อให้เขาเรียนรู้ระบบการค้าสากล ก็หวังว่าจะทำให้ทั้งสามกลุ่มเชื่อมโยงกันได้ หากเอสเอ็มอีเราพร้อมลงทุนในต่างประเทศ ก็หวังว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงกันทั้งสองประเทศ แลกเปลี่ยนมูลค่าการส่งออกระหว่างกัน หากเราทำให้เอสเอ็มอีเข้มแข็ง นั่นคือการเข้มแข้งจากภายใน ก็จะเสริมให้ความเข้มแข็งของประเทศมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เราไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการส่งออกอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความเข้มแข้งภายในอีกด้วย เช่นเดียวกันเราต้องคุ้มครองนักลงทุนชาวต่างชาติ ไม่ทำให้เดือดร้อน ขอให้เชื่อมั่น และเราคาดหวังเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่น เพราะถือเป็นต้นแบบระดับโลก มีหน่วยงานมากมายในการวางแผน ออกแบบนโยบายที่ชัดเจน มีกลไกการบริหาร การพัฒนาองค์ความรู้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นทำมาแล้ว วันนี้ไทยนำมาใช้อยู่ และมีความร่วมมือระหว่างกันอยู่ หากทำให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น ก็จะมีศักยภาพด้วยกันทั้งคู่ เป็นประเทศที่เข้มแข็งและนำพาประเทศอื่นเดินหน้าไปพร้อมกัน ส่วนไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร ไบโอชีวภาพ ฯลฯ ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไร ที่จะพัฒนาไปได้ ก็ฝากความหวังไว้กับนักลงทุน ที่เป็นมิตรของเราประเทศหนึ่งมายาวนาน ขอให้เชื่อมั่นก็แล้วกัน

โดยในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวชอบอาหารญี่ปุ่น เมื่อไรก็ตามที่เบื่ออาหารต่างๆ ทานอะไรไม่ได้ ก็จะทานอาหารญี่ปุ่น เพราะทานง่าย ร้านอาหารในเมืองเต็มไปหมด ศูนย์การค้าก็เยอะแยะไปหมด ก็ห่วงว่าญี่ปุ่นจะไม่มีเนื้อรับประทานอีกต่อไป หลายประเทศทานเนื้อ มัตสึซากะหรือโกเบ ญี่ปุ่นก็ต้องรีบผลิตเดี๋ยวจะไม่มี และในวันข้างหน้าไทยฝากผลไม้ เนื้อหมูแช่แข็งไปญี่ปุ่นด้วย ก็เหมือนกับที่ได้หารือกันไปก่อนหน้า

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายนายกฯกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ไม่มีคำตอบใดๆ ไม่ต้องมาถามอะไรทั้งสิ้น จะรอดูหน้า 1 พรุ่งนี้อย่างเดียวเรื่องอีอีซี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image