บทนำมติชน – ท่าที กรธ.

ภายหลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้กับองค์กรต่างๆ พิจารณาและเสนอความเห็นปรับแก้กลับไป เพื่อให้ กรธ.นำไปประชุมกันอีกครั้งก่อนจะสรุปเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จัดทำประชามติประมาณวันที่ 31 กรกฎาคมต่อไป พร้อมกันนั้น กรธ.ได้เผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะ และได้รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายไปแล้ว

บัดนี้มีกระแสข่าวจาก กรธ.ระบุว่า หลายประเด็นที่องค์กรและสังคมสะท้อนกลับไปด้วยความห่วงใยได้รับการตอบรับจาก กรธ.ที่จะแก้ไข อาทิ ประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ หรือการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องสังกัดพรรคการเมือง หรือประเด็นเกี่ยวกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้นฟ้า รวมไปถึงการบัญญัติให้คดีที่ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถอุทธรณ์ได้ เป็นต้น ขณะที่อีกหลายประเด็น กรธ.ยังรอเวลาในการพิจารณา แม้จะเป็นประเด็นที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. หรือประเด็นที่คณะรัฐบาลเสนอ เช่น การเสนอให้เปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว.

นอกจากนี้การประชุมประธานแม่น้ำ 5 สายเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นผู้เรียก แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ก็ไม่เข้าร่วม ทางหนึ่งเพื่อตัดข้อครหาเรื่อง ?ใบสั่ง? จาก คสช. อีกทางหนึ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีความเห็นปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ มีความหวังว่า กรธ.จะเป็นตัวแทนความคิดในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ท่าทีของ กรธ.ครั้งนี้จะส่งผลต่อความมั่นใจในฐานะคนกลางที่ฟังความรอบด้าน และนำความต้องการส่วนตัวของแต่ละกลุ่มไปสังเคราะห์และหาหนทางให้ร่างรัฐธรรมนูญสมดุลในอำนาจจากความต้องการของกลุ่มคน 2 ขั้ว ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาจะเหมือนดั่งว่า กรธ.เข้าเกียร์ถอย แต่หากเป็นการถอยเพื่อเดินหน้าได้จริงๆ เป็นการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งจากคนในชาติและนานาอารยประเทศ ก็ถือว่าเป็นการถอยที่มีคุณค่า เพราะเป็นการถอยเพื่อให้สังคมได้เริ่มต้นใหม่ด้วยความยินยอมพร้อมใจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image