คณิต จี้ เร่งปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม เผยเคยเสนอปฎิรูปศาลแต่ไร้การตอบรับ

จี้ปฏิรูปยุติธรรมปูทางปรองดอง อจ.แนะการเมืองเป็นเจ้าภาพ หวัง”รธน.”วางอำนาจสมดุล

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาวิชาการ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการปฏิรูปประเทศ” ครั้งที่ 3 เรื่องความปรองดอง โดยนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้การปรองดองเกิดความสำเร็จนั้น คือ 1.รัฐบาล โดยรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ติดต่อประสานงาน เชื่อมโยง นำไปสู่การพูดคุยกันให้ได้ เพราะถ้ารัฐบาลไม่ทำไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีจักรกลสำคัญในการเจรจา 2.ตัวความเป็นธรรม สังคมมองว่าความเป็นธรรมในประเทศน้อยไปหน่อย ดังนั้นจะต้องแก้ความรู้สึกไม่เป็นธรรมในสังคม รัฐบาลจะต้องปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดอย่างเท่าเทียมกัน และตรงไปตรงมา ทั้งนี้ ส่วนที่ถามว่านักการเมืองเป็นปัญหาหรือไม่นั้น ก็ต้องยอมรับว่า นักการเมืองก็เป็นปัญหา โดยปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดทุกวันนี้ เกิดจากคนและเกิดจากนักการเมืองด้วย เพราะนักการเมืองแย่งอำนาจกัน

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมยังไม่เป็นโล้เป็นพายเท่าที่ควร ทั้งที่กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมสมบูรณ์ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่คนไทยมีความเข้าใจในกฎหมายไม่ดีพอ จึงต้องหันไปโทษสถาบันการศึกษาที่สอนไม่จริง และสอนไม่ลึก ที่ผ่านมามีความพยายามปฏิรูปการเมืองแต่กลับไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหา ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ทำข้อเสนอผ่านการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ให้มีการปฏิรูปศาล แต่เมื่อเสนอไปก็ไม่มีการตอบรับ และจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ทำการปฏิรูปศาล หรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยที่ผ่านมาตนได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมอบให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะคิดว่าถ้าไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ความสงบเรียบร้อยในประเทศก็เกิดยาก และหากไม่มีความสงบการสร้างความปรองดองก็เลิกพูดได้เลย ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องกฎหมายแต่เป็นเรื่องของคน ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องในหลายๆ เรื่อง ทั้งการทำงานของศาลสูงที่ควรจะเป็นระบบพิจารณาข้อกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องไม่ใช่การขยายปีก เพราะเท่าที่ตนติดตามยังเป็นการสร้างองค์กร ขยายปีกอำนาจ ทั้งที่การปฏิรูปในบางเรื่องก็เป็นการจำกัดอำนาจ

พล.ท.บุญธรรม โอริส รองผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) กล่าวว่า ศปป.ตลอดปี 58 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดองมาตลอด โดยคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนอยู่ร่วมกันได้ โดยการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่การปรับทัศนคติ โดยได้เปิดเวทีกว่า 4,000 เวที ให้ประชาชนและนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม สื่อมีบทบาทมากในปัจจุบัน และยากแก่การแก้ไข ในกระบวนการปรองดองเรื่องสื่อจึงสำคัญจึงได้เชิญสื่อทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาทำความเข้าใจ แต่ไม่ใช่ปิดหูปิดตา นอกจากนี้ ยังได้มีการเชิญแกนนำและผู้นำทางความคิดมาพูดคุย ยกเว้นแกนนำที่นิยมความรุนแรงที่จะไม่คุยด้วย และยังมีการเปิดเวทีในการสร้างการรับรู้โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ หากติดตามข่าวจะพบว่าขณะนี้ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองแทบจะไม่มีแล้ว ยกเว้นคดีสำคัญๆ ที่เรื่องอยู่ในศาล

Advertisement

พล.ท.บุญธรรมกล่าวว่า การปรองดองไม่ได้เกิดจากการที่รัฐธรรมนูญบังคับ แต่อยู่ที่จิตสำนึก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันความขัดแย้งยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ แม้ไม่ได้เขียนเรื่องความปรองดองเอาไว้ตรงๆ แต่ก็ครอบคลุมทั้งหมด ดูแล้วก็สบายใจ ทั้งนี้ ในอนาคตเราต้องมีผู้นำซึ่งเป็นผู้ที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เรื่องการสร้างความปรองดอง ที่คณะทำงานที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. เป็นประธานมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าศึกษานั้น จาก 10 ประเทศ พบว่าความขัดแย้งถ้าถูกปฏิเสธทางการเมืองว่าไม่มีหรือซุกใต้พรม หรือไม่มีพื้นที่ให้แสดงความเห็น ปัญหาจะรุนแรง จึงต้องค้นหาสิ่งที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน ต้องมีกระบวนการหาความจริงที่ให้คนทุกฝ่ายศรัทธาและเชื่อถือ และต้องมีกลไกของการให้อภัย แต่ต้องมีการลงโทษทางกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และในที่สุดต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างหรือองค์กรเพื่อป้องกันเหตุของความขัดแย้ง เช่น เรื่องความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ เจตจำนงของผู้นำทางการเมืองต้องมีความชัดเจน การเมืองต้องเป็นการเมืองที่ต้องการเห็นเห็นความปรองดอง เป็นการเมืองของบ้านเมืองไม่ใช่การเมืองของการเมือง

Advertisement

นายวุฒิสารกล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ การเมืองเป็นเรื่องของความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน คือ เชื่อในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน เช่น พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอยที่ใช้เสียงข้างมากในสภาจริง แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย ดังนั้น การแก้ปัญหาความปรองดอง ตนยังเชื่อว่าคือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรม ผู้นำทางการเมืองจะต้องแสดงความต้องการที่จะทำให้เกิดความปรองดอง ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อเป็นข้อมูลให้คนยอมรับ ต้องให้อภัยกันเพื่อให้ผ่านเรื่องนี้กันไปให้ได้ และกำหนดกติกาทางการเมืองที่ยอมรับร่วมกันได้ ทั้งนี้ ความเชื่อของตน ความปรองดองไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนความเชื่อ แต่ทำอย่างไรให้คนที่เห็นแตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช้ความรุนแรง เสน่ห์ของสังคมประชาธิปไตย คือความเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนรัฐธรรมนูญจะเข้าไปช่วยอะไรได้บ้างนั้น เห็นว่ารัฐธรรมนูญยังมีข้อจำกัด คือ มาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ใครมาร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องดำเนินการตามกรอบนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญจะเป็นตัววางรากฐานความปรองดอง ต้องวางอำนาจให้สมดุล ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่คนใช้รัฐธรรมนูญต่างหากที่จะทำให้เกิดความปรองดอง การบังคับใช้กฎหมายต้องยุติธรรม จะสร้างความปรองดองได้ ต้องสร้างศรัทธาที่ต้องการเห็นการปรองดองจริงๆ รัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image