วัฏจักรประชาธิปไตยในไทย : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

การเมืองสำหรับประเทศที่รายได้ปานกลางนั้น ระบอบเผด็จการทหารมักจะอยู่ได้ไม่นาน ต่างกับประเทศด้อยพัฒนาเช่นประเทศในแอฟริกา หรือประเทศที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นยุโรปตะวันตกหรือแม้แต่ยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เป็นระบอบการปกครองที่ถาวรก็สามารถทำได้ แม้แต่ประเทศอินเดียที่ระดับการพัฒนายังต่ำก็สามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยของตนไว้ได้ ในขณะที่ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน คนเชื้อชาติเดียวกันพูดภาษาเดียวกัน ฮินดีกับอูรดู เพียงแค่คนละศาสนาก็ไม่สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้

ประเทศหนึ่งจะเป็นประเทศที่สามารถสถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบตะวันตก หรือประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ หรือเผด็จการโดยพรรคการเมืองหรือเผด็จการทหาร ชนชั้นนำซึ่งมีอยู่เพียงหยิบมือเดียวไม่กี่ตระกูลมีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้คุมอำนาจทหาร เป็นผู้กุมความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝูงชนในเมืองที่มีความคิดคับแคบ มองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระยะสั้นของชนชั้นตัวเองเป็นหลัก ขณะเดียวกันในระดับโลก
ผู้ที่กุมกระแสความคิดทางการเมืองของประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ก็คือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทางทหาร ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 ประเทศ คือ ประเทศแรกคือสหรัฐอเมริกากับบริวารยุโรปตะวันตก ประเทศที่สองก็รัสเซียกับบริวารยุโรปตะวันออก จีนเป็นประเทศที่สามและพยายามสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำประเทศเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การเกาะกลุ่มดังกล่าวคือการก่อตั้งองค์กรความมั่นคงร่วมกันในช่วงสงครามเย็น เช่น นาฟต้า นาโต อาเซียน แต่ตอนนี้ก็ยังมีความหมายอยู่

หลังสงครามเย็น กระแสโลกาภิวัตน์และกระแสประชาธิปไตยมีสูงขึ้น มีการลุกฮือขึ้นของขบวนการนักศึกษาในประเทศไทยเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร แม้ว่าจะถูกกวาดล้างปราบปราม เพราะมีการแทรกแซงจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2519 แต่ก็สร้างกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยให้แพร่กระจายไปประเทศในอาเซียนและประเทศอื่นๆ

หลังจากขบวนการคอมมิวนิสต์ชนะสงครามในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา กระแสความกลัวทฤษฎีโดมิโนที่สร้างขึ้นโดยอเมริกาก็แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมทั้งเกาหลีใต้และไต้หวัน แต่ที่ไม่หวั่นไหวต่อทฤษฎีโดมิโนที่สหรัฐสร้างขึ้นก็คือ พม่า บังกลาเทศ อินเดีย รวมทั้งปากีสถานและประเทศเล็กๆ ในเชิงเขาหิมาลัย เช่น ภูฏานและเนปาล

Advertisement

ความกลัวทฤษฎีโดมิโนของอเมริกาที่บอกว่า คอมนิวนิสต์จะกรีธาทัพเข้ายึดประเทศไทยและประเทศในอาเซียน โดยใช้กองทัพปลดแอกของเวียดนามเข้ายึดภาคอีสาน แล้วจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว “provisional government” ขึ้นสู้รบกับกรุงเทพฯ ทำนองเดียวกันกับการยึดเวียดนามเหนือจัดตั้งรัฐบาลที่ฮานอย แล้วทำสงครามประชาชนกับเวียดนามใต้ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่ไซ่ง่อน แต่ความคิดที่จะเอากองทัพปลดแอกเวียดนามมายึดอีสานได้รับการคัดค้านโดย “ลุงคำตัน” ผู้บัญชาการ ท.ป.ท. (กองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย) จนในที่สุด “ลุงคำตัน” ถูกขับออกจากพรรคโดยชาตินิยมเวียดนามและรัสเซียในพรรค ต้องออกไปลี้ภัยในปักกิ่งและไปเสียชีวิตที่นั่น แต่เวียดนามดำเนินการในกัมพูชาและถูกจีนกรีธาทัพมาตีทางเหนือ โดยสงครามสั่งสอน

ในภาวะนั้น การต่อสู้ทางทหารยังแหลมคม การต่อสู้ทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยกับเผด็จการจึงกลายเป็นเรื่องรอง การปกครองโดยเผด็จการในประเทศไทยจึงสามารถดำรงอยู่ได้นาน ฟิลิปปินส์เคยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีอย่างเดียวกับพม่า ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ก็แก้รัฐธรรมนูญให้อำนาจตนเองสถาปนาระบอบเผด็จการ แต่เป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งโดยการสนับสนุนโดยสหรัฐ เช่นเดียวกับ นายพลซูฮาร์โต แห่งอินโดนีเซีย ในยุคสงครามเย็นจึงเป็นยุคเผด็จการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนรวมทั้งประเทศจีน ยกเว้นอินเดียและบังกลาเทศ

ขบวนการประชาธิปไตยในประเทศอาเซียนเก่าน่าจะเป็นขาลง เริ่มจากเกิดรัฐประหารโดยกองทัพบกไทย โดยอ้างว่าเพื่อเข้ามาแก้ไขความแตกแยกระหว่างชนในชาติ ซึ่งความจริงความแตกแยกนั้นตนเป็นคนสร้างขึ้นเอง โดยการไม่ยอมรับคำสั่งจากรัฐบาลพร้อมๆ กับร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์สร้างการชุมนุม กรุยทางให้เกิดเงื่อนไขให้ทหารทำการปฏิวัติ โดยอ้างว่าจะอยู่แก้ไขปัญหาชั่วคราว จนบัดนี้ล่วงเลยกว่า 3 ปีแล้วก็ยังอยู่และกำลังวางแผนกับผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะอยู่ยาวต่อไปอีกหลังจากเลือกตั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้นมีความสำคัญกว่าตัวบทในรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงวัฏจักรประชาธิปไตยตกต่ำตามวัฏจักรเศรษฐกิจ กระแสการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตกต่ำ ผู้นำประชาธิปไตยจากพรรคการเมืองฝีปากดีได้เข้าร่วมขบวนการเผด็จการทหาร ต่อต้านระบอบรัฐสภา เริ่มจากการปฏิเสธการเลือกตั้งซึ่งเป็นภาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การประกาศคว่ำบาตรประชาธิปไตยเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนบัดนี้ก็ยังมีท่าทีสนับสนุนให้หัวหน้าคณะรัฐบาลเผด็จการทหารเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้งในปี 2561 โดยการเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ของผู้ใหญ่ทางการเมืองแนวทางห้อยโหนบางคน

วัฏจักรขาลงของประชาธิปไตยของไทยมักจะสอดคล้องกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย เมื่อเศรษฐกิจเป็นวัฏจักรขาลงก็มักจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง จากที่เห็นในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 2520 ประชาธิปไตยก็สิ้นสุดลงเป็นเวลายาวนานจนจบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขาลง ในปี 2529 น้ำมันมีราคาลดลงอัตราดอกเบี้ยลดลง ก็สิ้นสุดยุครัฐบาล “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือจะเรียกว่า ยุครัฐบาลแห่งชาติก็ไม่ผิด เพราะไม่มีพรรคฝ่ายค้านมีแต่พรรคที่รอเข้าร่วมกับรัฐบาล

ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นรัฐบาล ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ที่สามารถโหนกระแสรัฐบาลทหารได้เข้าร่วมรัฐบาลโดยไม่ว่างเว้นมาตลอดกว่า 8 ปี

เมื่อหมดวัฏจักรเผด็จการทหารก็กลับมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะสิ้นสุดการให้อำนาจวุฒิสภามาร่วมลงคะแนนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หมุนเวียนสลับกันไป

บัดนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ฉบับถาวร ซึ่งมีบทเฉพาะกาลคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2520 ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งจะแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มีอำนาจมาร่วมลงคะแนนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ครั้งที่ 2 เมื่อก่อนจะสิ้นสุดอายุของบทเฉพาะกาล สิริรวมอายุของรัฐบาลซึ่งนับจากการใช้กำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนอยู่ได้ถึง 3 สมัย เป็นเวลาถึง 12 ปี โดยผู้ใหญ่ทางการเมืองเสนอกรุยทางให้มี “รัฐบาล
แห่งชาติ” เตรียมให้พรรคตนได้ห้อยโหนไว้แล้วเพราะไม่เคยชนะการเลือกตั้ง

เมื่ออำนาจที่แท้จริงมิได้มาจากปวงชนชาวไทยอย่างที่เขียนไว้ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ประชาชนเป็นแต่เพียงตัวประกอบหรือตัวตลกในเวทีการเมืองของประเทศไทย ระบอบประชาธิปไตยจึงไม่มีวันพัฒนา

ประชาชนถูกกลุ่มผู้ปกครองดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนโง่ ขี้โกง เห็นแต่อามิสสินจ้างในการ
กาบัตรเลือกตั้ง นักการเมืองก็ถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่า “นักเลือกตั้ง” มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ
ไม่เป็นที่ยอมรับของ “ผู้ดี” ที่ร่ำรวย เป็น “คนดี” มีการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอก ไม่จาก
อังกฤษก็อเมริกา ไม่ใช่แค่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือราชภัฏ หรือราชมงคล พูดภาษาอังกฤษสำเนียง “บักเสี่ยว”

การดูถูกเหยียดหยามระหว่างชนชั้นโดยอาศัยวงศ์ตระกูล ฐานะทางเศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่ในเมืองหรือบ้านนอก อาชีพนายทุน ขุนนางหรือกรรมาชีพ ยังคงมีอยู่ในจิตใจของคนไทยชนชั้นต่างๆ อย่างรุนแรง พอๆ กับคนผิวขาว ผิวเหลือง และคนผิวสีในอเมริกา เพียงแต่การศึกษา อาชีพ และฐานะทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้ผู้คนบางคนแต่ก็เป็นส่วนน้อยในการไต่เต้าบันไดทางสังคม

การที่พรรคการเมืองของชนชั้นรากหญ้าชนะการเลือกตั้ง ได้คนนามสกุลแปลกๆ ยาวๆ มาเป็นรัฐมนตรี ย่อมเป็นที่ไม่พึงพอใจ แต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เพราะเมื่อเลือกตั้งก็มีคนประเทศนี้เต็มทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อมีปฏิวัติรัฐประหารจึงได้กลับมาเห็นนามสกุลไทยๆ จากสายทหาร แม้จะมีนามสกุลยาวๆ ก็มาจากสายข้าราชการผสมโรง ก็พอรับได้เพราะมีการศึกษาสูง ปริญญาโท ปริญญาเอกจากอเมริกา อังกฤษ และเชื่อว่าเป็นคนดีมีความสามารถ

เนื่องจากรัฐบาลชนิดนี้มีอำนาจจากปากกระบอกปืน ฝืนต่อหลักการและกระแสของโลก แม้ว่าจะเป็นกระแสที่อ่อนลง อาจจะอยู่นานแต่จะอยู่ตลอดไปไม่ได้ ต้องจัดละครการเลือกตั้งให้คนโง่รากหญ้าได้มีส่วนอยู่บ้างในการเลือกตัวแทนของตน ต้องยอมลดความสำคัญสักนิด ยอมทนความวุ่นวายบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image