กบ นกกระสา และขอนไม้ปริศนา : โดย กล้า สมุทวณิช

แล้วนิทานเรื่องกบเลือกนายก็มีผู้เล่าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

นิทานอุทาหรณ์ของเจ้าพวกกบช่างเลือกในสระที่ไม่พอใจเจ้านายขอนไม้ที่มั่นคงไม่เป็นอันตราย อยากได้นายใหม่ที่เก่งกาจว่องไว ในที่สุดเทวดาก็ส่งนกกระสาลงมาจับกินยกบ่อ-นิทานเรื่องนี้จบลงโดยสอนให้รู้ว่า จงพอใจในสิ่งที่ได้รับไว้แล้วเถิด อย่าเรียกร้องเอาสิ่งซึ่งอาจจะนำภัยอันตรายต่อตัวเองมาเลย

“กบเลือกนาย” เป็นหนึ่งในนิทานของ “อีสป” ทาสนักเล่านิทานผู้มีชีวิตอยู่ประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล ตำนานกล่าวว่า อีสปมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่ผูกเรื่องเล่านิทานได้อย่างสนุกสนานพร้อมกับมีคติสอนใจ ความสามารถในการเล่านิทานทำให้อีสปพ้นจากความเป็นทาสมาเป็นไท กลายเป็นนักเล่านิทานในสำนักของ
นักปราชญ์ นิทานของเขาได้รับการถ่ายทอดผ่าน
วิธีการต่างๆ ตามวิวัฒนาการแห่งการสื่อสารของมนุษย์ แปลออกไปในทุกภาษา ยืนยงคงกระพันมาจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะเด่นของนิทานอีสป คือเป็นนิทานเรื่องที่มีคนและสัตว์เป็นตัวละคร หรือบางเรื่องที่เป็นเรื่องของสัตว์ต่างๆ ในโลกของนิทานอย่างหลังนั้น สรรพสัตว์ของอีสปจะพูดกันได้ และมีความรู้คิด พฤติกรรมในแบบเดียวกับมนุษย์ นิทานอีสปทุกเรื่องจะจบลงด้วยประโยค “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” หรือ “คุณธรรมของเรื่อง” (Moral of the story)

Advertisement

“คุณธรรม” ของเรื่องนี้เอง ที่ทำให้นิทานอีสปถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมร่วมกันของชาวโลก เพราะนิทานอีสปนั้นช่วยสอนคุณธรรมหลายประการที่มีความเป็นสากล เช่น โทษของการพูดโกหกอันเป็นบาปของทุกศาสนาและวัฒนธรรมในนิทานเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ” การล่วงทุกข์ด้วยปัญญาและความเพียรของ “กาผู้กระหายกับเหยือกน้ำ” ผู้มานะที่มุ่งมั่นสม่ำเสมออาจเอาชนะผู้สามารถแต่ฉาบฉวยเหยาะแหยะได้ในนิทาน “เต่ากับกระต่าย” โทษของการผัดวันประกันพรุ่งในเรื่อง “มดกับตั๊กแตน”

สำหรับผู้ใหญ่ การเล่านิทานนอกจากจะเพื่อให้ความบันเทิงแก่เด็กๆ แล้ว นิทานยังมีหน้าที่แฝงประการสำคัญ คือเพื่อใช้เพื่อการปลูกฝังสั่งสอนทางวัฒนธรรม จริยธรรม ค่านิยม และแนวทางการประพฤติปฏิบัติที่แนบเนียน ดังนั้น เมื่อนิทานอีสปครบด้วยองค์ประกอบทั้งความสนุกสนานและการปลูกฝังคุณธรรมเช่นนี้ จึงกลายเป็นนิทานยอดนิยมที่ผู้ใหญ่นำมาใช้เล่าให้เด็กๆ ฟังอย่างไร้พรมแดน

ความที่ใครๆ ก็ได้ฟังผ่านหูและรู้จัก ในหลายครั้ง นิทานอีสปก็ถูกใช้ในลักษณะเป็นวาทกรรมอันทรงพลังที่ใช้เพื่อการส่งสารสั่งสอนผู้คนในสังคมได้อย่างสะดวกง่ายดาย เพราะเนื้อหาและคุณธรรมของนิทานนั้นได้รับการปลูกฝังไว้อยู่แล้วในความรับรู้ของทุกคนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งเพียงบอกชื่อนิทาน ก็สามารถกระตุ้นชุดความคิดที่เชื่อมโยงกับนิทานแต่ละเรื่องออกมาได้ทันที

Advertisement

ชุดความคิดอัตโนมัติที่เกิดจากนิทานอีสปนี้ทรงพลังอย่างยิ่ง เช่นทำให้เรานึกเจียมตัวเจียมตน
ว่าเรามีความสามารถและพลังที่จำกัดได้เพียงเท่าอึ่งอ่าง ริจะแข่งกับวัวก็มีแต่จะรังให้ตัวแตกตาย
หรือให้เราจำทนกับการอยู่กับสถานการณ์หรือผู้ปกครองที่เป็นเหมือนขอนไม้ที่ไม่ทำประโยชน์อันใด ดีกว่าการไปผจญภัยกับนกกระสาที่ร้ายกาจเสียยิ่งกว่า

ความเคยชินกับชุดความคิดและคุณธรรมที่นิทานเหล่านี้ปลูกฝังแก่เราไว้ เมื่อมันถูกเรียกคืนขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้ในลักษณะของวาทกรรมเช่นนี้ ทำให้ผู้ฟังอาจจะเผลอเชื่อตามไปได้โดยไม่รู้ตัว และหลงลืมไปว่า การยกใช้ “นิทาน” ขึ้นมาสั่งสอนนั้น เป็นการลดทอนข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเป็นสาระสำคัญ บิดเบือนลงให้แบนราบลง เพื่อนำไปสู่บทสรุปตามที่ผู้ยกนิทานขึ้นมาประสงค์จะชี้นำทำให้เชื่อ

เช่นการนำเรื่อง “กบเลือกนาย” มายกเทียบกับการเลือกตั้งนั้น ฟังเผินๆ ก็เป็นเรื่องโทษภัยของการ “เลือก” ผู้ที่มาปกครองเหมือนกัน ทั้งๆ ที่การ “เลือกนาย” ของ “กบ” กับ “เทวดา” นั้น เป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้งที่ “คน” เลือก “คน” ด้วยกันมาปกครองอย่างผิดฝาผิดตัว

เพราะแท้จริงแล้ว เจ้ากบในสระนั้นไม่ได้ “เลือก” นายในความหมายของการ “เลือก” อย่างแท้จริงเลย เพราะเจ้ากบนั้นไม่มีสิทธิใดเลยในการพิจารณาตัวเลือกที่จะมาเป็นนายพวกมัน แต่เป็น “เทวดา” ต่างหากที่ “ประทานนาย” มาให้แก่เจ้าพวกกบ เจ้ากบไม่ได้เลือกท่อนไม้มาตั้งแต่แรก และเมื่อเจ้ากบไม่พอใจในเจ้านายที่สวรรค์ประทานมาเช่นนั้นและขอนายใหม่ เทวดาก็ “เลือก” ส่งนกกระสามาให้ จะเห็นได้ว่าเจ้ากบไม่มีสิทธิใดในการพิจารณา ทั้งไม่รู้ล่วงหน้าด้วยว่าการ “เจ้านายใหม่” จะเป็นใคร การร้องขอในสิ่งที่ไม่อาจคาดหมายได้เช่นนี้ เราเรียกว่าเป็นการ “เลือก” ได้หรือ

ถ้า “กบ” จะ “เลือกนาย” ได้จริงแล้ว ตัวเลือกจะต้องปรากฏชัดอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ระหว่างท่อนไม้ กับนกกระสา รวมถึงก่อนที่จะตกลงปลงใจเลือก กบทั้งหลายจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงเรื่องที่ว่านกกระสานั้นกินกบเป็นอาหารเสียก่อน แล้วถ้าหากเช่นนั้นแล้ว เจ้ากบยังเลือกนกกระสาเพียงเพราะมันดูสง่างามว่องไวแล้ว ค่อยชี้หน้าว่าเจ้ากบนั้นโง่เง่า เลือกนายจนได้นกกระสาเข้ามากินตัวเอง

ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ผู้แต่งเรื่องนี้คืออีสปซึ่งเป็น “ทาส” การเลือกนายของทาสนั้นเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้งผู้แทนในระบอบประชาธิปไตย เพราะทาสนั้นไม่สามารถเลือกนายได้ ทำได้แค่ “เปลี่ยนนาย” จากนายทาสคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งเท่านั้น

ทาสไม่มีทางรู้ได้ว่านายใหม่ของตนนั้นจะเมตตาหรือจะโหดร้ายหรือไม่เมื่อเทียบกับนายเก่า เช่นนี้ในมุมของทาสอย่างอีสป การอดทนอยู่กับเจ้านายเก่าที่อาจจะมีข้อเสียที่ไม่น่าพึงใจบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าการไปเสี่ยงดวงเอากับนายทาสคนใหม่ที่ไม่อาจรู้ได้ว่าจะเป็นใครและเป็นอย่างไร เช่นนี้บทเรียนของนิทาน “กบเลือกนาย” ก็อาจจะใช้ได้ในบริบทเช่นนี้

ไหนๆ ก็คุยกันเรื่องนิทานแล้ว ก็อยากจะขออนุญาตเล่านิทานให้ฟังกันสักเรื่องหนึ่งเถิด นิทานนี้เป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตในสระแห่งหนึ่ง คล้ายๆ กับเรื่องกบเลือกนายนี่แหละ แต่ในสระที่ว่านี้ มีกบกับเขียดอาศัยอยู่ด้วยกัน หากนับกันที่จำนวนแล้ว พวกเขียดในสระมีจำนวนมากกว่า แต่พวกกบตัวใหญ่กว่า และมีเสียงดังกว่าเขียด กบกับเขียดจึงมักจะทะเลาะกันอยู่เสมอว่า ใครเป็น “เจ้าของสระ” กันแน่ ระหว่างฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่า แต่ตัวเล็กกว่า กับพวกที่ตัวใหญ่กว่า แม้มีน้อยแต่ก็เสียงดังกว่า

เพราะกบเสียงดังกว่า เสียงของกบจึงไปเข้าหูขอนไม้พูดได้ที่อยู่ในพงหญ้าใกล้ๆ สระน้ำนั้น เจ้าขอนลอยอาสาเข้ามาเป็นตัวกลาง บอกว่า มันจะช่วยตัดสินให้อย่างเป็นธรรมว่า สระนี้ควรเป็นสระของกบหรือเขียด เพื่อที่สัตว์ทั้งสองจะไม่ต้องทะเลาะกันอีกต่อไป กบพวกหนึ่งจึงไปเชิญให้เจ้าขอนปริศนานั้นเข้ามาอยู่ในสระ และอาศัยอยู่บนขอนลอยนั้น

เจ้าขอนไม้พูดได้นั้นสัญญาว่า สักวันหนึ่งมันจะให้คำตอบว่าใครควรเป็นเจ้าของสระนี้อย่างยุติธรรมแน่นอน เพียงข้อแม้อย่างเดียวคือ ก่อนหน้านั้น ขอให้กบและเขียดอย่าส่งเสียงร้องใดๆ ขึ้นมาเป็นอันขาด จนกว่าที่มันจะมีคำตัดสินให้

แน่นอนละว่า พวกเขียดนั้นไม่พอใจที่เจ้ากบไปพาขอนไม้อะไรที่ไหนก็ไม่รู้มาลอยอยู่ในสระโดยที่พวกมันไม่ได้ยินยอมด้วย แต่เรื่องแปลกก็คือว่า ทันใดที่มีเขียดสักตัวส่งเสียงแหลมขึ้นมาเมื่อไร เขียดตัวนั้นจะหายไปอย่างเป็นปริศนา หลายครั้งต่อหลายครั้งเข้า ทำให้บรรดาเขียดไม่กล้าส่งเสียงใดขึ้นมาอีกเลย ในที่สุด สระนั้นก็ตกลงในความเงียบงัน โดยมีพวกกบอาศัยอยู่บนขอนลอยอย่างเงียบๆ เพราะเชื่อว่าสักวันขอนนั้นจะให้คำตอบว่าพวกมันนั่นแหละที่เป็นเจ้าของสระ ในฐานะที่มันอุตส่าห์เชิญขอนให้มาลอยอาศัยอยู่ในสระ

ส่วนพวกเขียดนั้นเงียบเสียงเพราะกลัวว่ามันจะหายไปเหมือนเช่นพวกที่หายไปก่อนหน้านี้

กระทั่งนานวันเข้า ก็ยังไม่มีคำตอบจากขอนไม้ปริศนานั้น มันยังคงลอยตัวเอื่อยอยู่ในสระเรื่อยๆ อย่างสบายใจ ท่ามกลางจำนวนกบเขียดที่เริ่มลดน้อยลงทุกที จนคราวนี้ กบบางตัวที่เกาะอยู่บนขอน
เริ่มส่งเสียงกันเบาๆ ว่าเจ้าขอนนี้ลอยอยู่นานแล้วนะ เมื่อไรกันที่เราจะได้รู้เสียที ว่าใครเป็นเจ้าของสระนี้กันแน่

ทีนี้ทั้งกบและเขียดบางส่วนก็เริ่มส่งเสียงร้องออกมาเซ็งแซ่ เจ้าขอนปริศนานั้นจึงเปิดปากพูดขึ้นว่า ข้าลอยตัวอยู่อย่างนี้ พวกท่านไม่พอใจอะไรหรือ เคยฟังนิทานเรื่อง “กบเลือกนาย” หรือไม่เล่า

แล้วเจ้าขอนลอยนั้นก็เล่านิทานเก่าแก่ เรื่อง “กบเลือกนาย” ให้กบและเขียดฟัง เนื้อเรื่องก็เป็นอย่างที่เราๆ รู้กันนั่นแหละ จบแล้ว มันก็สำทับกับบรรดากบเขียดในสระว่า ถ้าไม่พอใจขอนไม้อย่างข้า ระวังไว้เถิด เดี๋ยวเจ้าจะได้นกกระสามาจับพวกเจ้ากินจนหมดสระ ข้าไม่รู้ด้วยนะ

เขียดใจกล้าตัวหนึ่ง ร้องถามว่า เช่นนั้นท่านคือขอนไม้ในนิทานหรือ

ใช่แล้ว เจ้าขอนลอยนั้นตอบ ก่อนจะอ้าปากเห็นเขี้ยวแหลมยาวเป็นแถว ฉกงับกัดกลืนเขียดเจ้าปัญหาตัวนั้นลงไปในท้อง แล้วสระนั้นก็เงียบงันลงอีกครั้งหนึ่ง กบบางตัวพอใจนั่งๆ นอนๆ อยู่บนขอนไม้เพราะไม่อยากถูกนกกระสามากินเหมือนในนิทาน กบบางตัวยังอยู่สบายไม่รู้ร้อนรู้หนาว กบบางตัวเห็นชั่วจังหวะที่ขอนนั้นเปิดปากกินเขียดเคราะห์ร้าย แต่พวกนั้นก็ไม่กล้าส่งเสียงอะไร ด้วยเกรงชะตากรรมเดียวกันนั้นจะมาเยือนตน พลางสงสัยว่า เจ้ากบกลุ่มที่ไปพาขอนปริศนาเข้ามาลอยอยู่ในสระนี้ รู้หรือไม่ว่านี่ไม่ใช่ขอนไม้ แต่เป็น “จระเข้” สัตว์นักล่าที่กินทั้งกบและเขียดได้ไม่ผิดกับนกกระสา ทั้งยังพรางตัวได้แนบเนียนกว่าด้วยซ้ำไป

นิทานยุติลงดื้อๆ เพียงเท่านี้ เพราะผู้เล่าเองก็ไม่รู้ว่าในที่สุดแล้วตอนจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image