หลากมุมนักวิชาการ ‘บิ๊กตู่’ พบ โดนัลด์ ‘ทรัมป์’ ที่ ‘สหรัฐอเมริกา’

ชี้มะกันเล่นบทวิน-วิน

นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางเยือนสหรัฐพบปะหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคมว่า งานนี้อเมริกาเป็นฝ่ายชวน เป็นคนติดต่อ วางกำหนดการ เราเพียงแต่ไปเท่านั้นเอง ดังนั้น คิดว่ากระทรวงต่างประเทศของอเมริกาคงมีนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเอเชียเหนือ สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงเป็นส่วนประกอบ ตอนนี้วิกฤตเกาหลีเหนือค่อนข้างดุเดือด ต่อจากเกาหลีเหนือยังมีเรื่องท่าทีของจีน เพราะฉะนั้น ทางวอชิงตันเริ่มส่งสัญญาณว่าอเมริกาจะต้องรักษาฐานะมหาอำนาจของเขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเอาไว้ ฝ่ายไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรเก่าแก่ซึ่งเชื่อว่าคงยินดีร่วมมือกับอเมริกาในการที่จะให้มีสันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาคนี้

ถามว่าจะเกิดการดึงไทยและอาเซียนเข้าสนับสนุนร่วมกดดันเกาหลีเหนือหรือไม่นั้น ฝ่ายต่างประเทศของไทย บอกว่าจะทำตามมติสหประชาชาติ แต่ถ้าจะมากไปกว่านั้น เช่น การบอยคอตบริษัทเกาหลีเหนือ ต้องคุยเป็นรายบุคคล สำหรับอเมริกาถ้าจับได้ว่ามีบริษัทไหนค้าขายกับเกาหลีเหนือจะมีการลงโทษ ถ้ามีบริษัทในเมืองไทยเข้าไปเกี่ยวก็โดนแน่ๆ ดังนั้น เขาอาจมีการส่งข่าวเตือนก็ได้

“ส่วนประเด็นภาพลักษณ์ของนายกฯในการไปเยือนสหรัฐ ถ้าเป็นสมัยก่อนจะดูดีขึ้น แต่ตอนนี้ทำเนียบขาวเปิดสำหรับทุกฝ่ายจึงไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไหร่ จะไปตอนนี้หรือตอนไหนก็คล้ายๆ กันในสายตาประชาคมโลก คือไม่มีอะไรพิเศษ เพราะหากพิจารณาจากท่าทีและบทบาทของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จะพบว่าไม่ได้ยืนหยัดในนโยบายสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง กระบวนการแบบที่สหรัฐเคยสนับสนุนมาก่อนไม่มีการพูดถึง ในทางตรงกันข้ามกลับส่งสาส์นแสดงความยินดีมีการเชิญประเทศอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ รวมถึงที่เป็นประชาธิปไตยแบบลุ่มๆ ดอนๆ ก็เชิญเข้ามา เหมือนกับว่าอเมริกาเล่นนโยบายวิน-วิน คือ เอาทุกอย่าง” นายธเนศกล่าว

แนะบิ๊กตู่พูดให้ชัดคืนปชต.

ด้านนายวิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. สะท้อนให้เห็นว่าอเมริกามีนโยบายที่เปลี่ยนไปเล็กน้อยจากประธานาธิบดีโอบามา เป็นประธานาธิบดี โดนันด์ ทรัมป์ คือ ทรัมป์ อาจจะไม่ได้เน้น ในแง่ของสิทธิมนุษย์ชน ในเรื่องของประเทศไทยที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่ไม่สนใจเลย แต่อาจจะให้ความสำคัญน้อยลงเพราะเขามีผลประโยชน์อื่นเข้ามา คือเรื่องของความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ซึ่งในความเห็นของทรัมป์ ตอนแรกเขาเข้าใจว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนน่าจะมีอิทธิพลต่อการบอยคอตได้ ซึ่งเขาอาจจะเข้าใจไม่ชัดเจนตั้งแต่ที่เชิญเมื่อเดือนเมษายน ไม่ใช่แค่ บิ๊กตู่ แต่เขาเชิญนายกทุกคนด้วย ทั้งมาเลเซีย ทั้งสิงคโปร์ เพื่อรวบรวมพรรคพวกเพื่อที่จะช่วยเขาในเรื่องความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ

Advertisement

ตรงนี้เป็นเหตุผลหนึ่ง ส่วนอีกเหตุผลคือ จากการที่ที่จีนมีบทบาทมากในภูมิภาคเซาท์อีสเอเชีย โดยเฉพาะไทยในระยะหลังค่อนข้างมีความใกล้ชิดกับจีนมาก จึงคิดว่านโยบายสหรัฐอเมริกาคงไม่อยากสูญเสียประเทศไทย เลยหลับตาข้างเดียวยอมนะแม้ว่าบิ๊กตู่จะไม่ใช่นายกที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตามกฎหมายสหรัฐบังคับให้รัฐบาลสหรัฐต้องลดความสัมพันธ์ ลดความช่วยเหลือ ลดการติดต่อต่างๆ ลง ซึ่งสหรัฐเขาก็ทำอยู่ แต่ตอนนี้มันมีหลักผลประโยชน์แห่งชาติเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้สหรัฐจำเป็นต้องดำเนินการครึ่งๆ คือยังไม่รับรองประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ขระเดียวกันก็รับรอง บิ๊กตู่ในระดับรัฐบาล คือสามารถที่จะเชิญไปพบกับหัวหน้ารัฐบาลและอาจจะมีการพูดคุยกันเรื่องปัญหา เรื่องสถานการณ์ส่วนภูมิภาคนี้ คือเรื่องทะเลจีนใต้ เรื่องความมั่นคงคือเกาหลีเหนือ และอาจจะมีเรื่องการค้าและการลงทุน ซึ่งาจจะมีบริษัทอเมริกันหลายบริษัทที่ยังสนใจประเทศไทยอยู่ หรืออยากจะเข้ามาลงทุนแต่ไม่กล้าเนื่องจากสหรัฐยังมีกฎหมายที่คุ้มกันตรงนั้นอยู่ ซึ่งทำให้บริษัทของเขาเข้ามาลงทุนได้ลำบาก

เพราะฉะนั้นครั้งนี้ถ้านายกฯ ได้พูดคุยให้ชัดเจนว่าถึงแม้เราจะยังไม่เป็นประชาธิบไตยก็ตาม แต่เรากำลังเดินไปตามโรดแมปที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย พูดง่ายๆ คือเราผ่านพ้นกระบวนการปฏิวัติแล้วตอนนี้เป็นเรื่องของการรอที่จะเข้าสู่กระบวนการประชาธิบไตยโดยสมบูรณ์ ตอนนี้รัฐธรรมนูญก็ออกมาแล้วเหลือแค่กฎหมายเท่านั้นที่จะตามมาและมีการปรับปรุงต่างๆ ถ้าสหรัฐเข้าใจคือตอนนี้ มันก็ไม่ใช่รัฐบาลทหารที่แท้จริงนะ เพราะเขาเป็นรัฐบาลรักษาการแล้วกำลังจะทำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ซึ่งการเยือนอเมริกาครั้งนี้มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้น เพราประเทศอื่นๆ ก็อาจจะไม่ได้รู้จักประเทศไทยมากมายนัก เขาก็ไม่มีเวลาสนใจ แต่พอไปพบประธานาธิบดีสหรัฐก็มีข่าวกระจายไปทั่วโลก ก็ทำให้คนรู้จักรัฐบาลไทย และสร้างความรู้สึกว่ารัฐบาลนี้มีความมั่นคงพอสมควร แล้วในแง่ของการมองว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีการปฏิวัติแล้วมีรถถังวิ่งอยู่ภายในประเทศ ซึ่งเราฟังก็อาจจะหัวเราะ แต่จริงๆ แล้วคนโดยเฉพาะในยุโรปอเมริกันเขายังนึกภาพประเทศไทยว่า มีการปฏิวัติ มีทหารปกครอง มีรถถังจอดอยู่ตรงนั้นตรงนี้ มีทหารถือปื่นเดิน เขานึกภาพแบบนี้อยู่ เพราะฉะนั้นครั้งนี้จะทำให้ภาพพจน์ของไทยเป็นรัฐบาลกึ่งทหาร กึ่งพลเรือน ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเนื่องจากอเมริกาก็เคยมี นายพลไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีที่เป็นทหาร

อาจารย์เตือนรับมือถกสหรัฐ

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวถึงการเยือนสหรัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทยในสายตาของสหรัฐเป็นอย่างมาก เพราะไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน นอกเหนือจากประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับหมายเชิญให้ไปเยือนสหรัฐ หากมองดูในแง่ยุทธศาสตร์จะพบว่าการที่ไทยและมาเลเซียได้รับเชิญ เนื่องจากความเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ประเทศไทยเป็นมหามิตรที่ดีกับสหรัฐมาอย่างยาวนาน เคยเป็นฐานทัพของกองทัพสหรัฐในสมัยสงครามเย็น แต่ในช่วงที่ผ่านมาประเทศจีนเริ่มขยายอิทธิพลมายังไทยและมาเลเซียมากขึ้น สหรัฐจึงต้องพยายามถ่วงดุล ไม่ให้อิทธิพลของตนเองห่างเหินไปจากภูมิภาค

นายสมภพกล่าวว่า สำหรับประเด็นที่จะมีการหารือกันครั้งนี้ คาดว่าจะครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง โดยด้านเศรษฐกิจถือเป็นประเด็นที่น่าจับตาไม่น้อย เนื่องจากประเทศไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลไทย และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ต้องเตรียมรับมือให้ดี ประเด็นของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยยังอยู่ในการเฝ้าระวังของสหรัฐ และรายงานการค้ามนุษย์ (ทิป รีพอร์ต) ที่ไทยถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 2 หรือการเฝ้าระวัง นอกจากนี้ คาดว่าไทยน่าจะเชิญชวนสหรัฐมาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย การผลักดันให้สหรัฐเข้ามาลงทุนในพื้นที่จึงมีความสำคัญมาก ส่วนเรื่องการซื้ออาวุธก็คาดว่าน่าจะมีการพูดคุยในครั้งนี้เช่นกัน

แนะใช้โอกาสให้เกิดการยอมรับ

นายภูมิ มูลศิลป์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า สิงที่ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเป็นเรื่องความเป็นมา ความเคลื่อนไหวของทวีปเอเชียในขณะนี้

หากมองบทบาทประเทศสำคัญๆ ในทวีปเอเชียจะพบความเคลื่อนไหว อาทิ ประเทศเกาหลีเหนือ มีการเคลื่อนไหวทางอาวุธสงครามต่อสหรัฐ และประเทศจีนที่ทรงอิทธิพลทางด้านการค้าพาณิชย์ สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้นาย

โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องพิจารณามองหาประเทศภาคีที่จะมีบทบาทต่อความเคลื่อนไหวนี้ได้ ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่บางเรื่องที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้หาเสียงเอาไว้ อาจจทำไม่ได้สมบูรณ์ทั้งหมด จะเห็นว่านโยบายของนาย

โดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายกีดกันเรื่องการค้าพาณิชย์กับประเทศภายนอก ตอนนี้การค้าขายอาจขาดทุน และนโยบายที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียงไว้ไม่เป็นไปตามที่คิด จึงต้องเปิดนโยบายพบปะกับทวีปเอเชีย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน

“ผมมองว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ คงจะเห็นไทยเป็นแกนกลางของประเทศอาเซียน เป็นพันธมิตรที่ดีในทวีปเอเชีย จึงหวังว่าการพบกันของผู้นำทั้งสอง อาจจะทำให้การค้าพาณิชย์ระหว่างจีนเปิดช่องทางผลประโยชน์ได้สักทางใดทางหนึ่ง การพบกันครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะจากเดิมสหรัฐมีท่าทีแซงก์ชั่นต่อรัฐบาลทหารไทย ก็อาจจะทำให้การแซงก์ชั่นลดลง ความตึงเครียดลดลง เป็นโอกาสที่ดีที่ พล.อ.ประยุทธ์เองจะใช้เวทีนี้ชี้แจงปัญหาที่ถูกแซงก์ชั่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการถูกจัดอันดับเป็นประเทศค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงานประมงไทย ดังนั้น จึงถือว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในนามผู้นำประเทศไทย จะได้ใช้โอกาสจากเวทีนี้เป็นโอกาสให้ต่างชาติ นานาชาติได้เห็นและยอมรับสถานการณ์ของประเทศไทยมากขึ้นด้วย” นายภูมิกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image