“พล.อ.อกนิษฐ์”ออกโรง แจง กม.ทรัพยากรน้ำ เน้นเก็บรายใหญ่ ไม่กระทบรายย่อย

“พล.อ.อกนิษฐ์” ยัน กม.ทรัพยากรน้ำ ไม่กระทบเกษตรกรรายย่อย ย้ำ ไม่ซ้ำซ้อนการใช้น้ำ “ชลประทาน-ประปา-น้ำบาดาล”

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ตุลาคม ที่รัฐสภา พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … แถลงว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกกฎหมายฉบับนี้ ในเรื่องการเก็บภาษีน้ำ ซึ่งไม่ใช่การเก็บภาษี แต่เป็นเพียงเก็บค่าใช้น้ำเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจาก กมธ.ยังเห็นว่ามีปัญหาที่จะต้องกลับไปทบทวน เพื่อให้เกิดความรอบคอบและต้องแบ่งประเภทการใช้น้ำให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ใช้น้ำ โดยพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับนี้จะใช้บังคับในเรื่องการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะนอกเขตชลประทาน เช่น แม่น้ำ คลอง ห้วย โดยจะไม่เกี่ยวกับการใช้น้ำประปา น้ำบาดาล และน้ำในเขตชลประทาน ซึ่งมีกฎหมาย 3 ฉบับกำกับอยู่แล้วคือ พ.ร.บ.ชลประทานหลวง 2485 พ.ร.บ.น้ำบาดาล และ พ.ร.บ.การประปา

“ยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้จะไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย โดยจะเก็บเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งรายละเอียดเรื่องการแบ่งเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่ จะต้องออกเป็นกฎทรวงอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ได้ให้กรมทรัพยากรน้ำจัดทำหลักเกณฑ์ เรื่องการกำหนดประเภทเกษตรกรอยู่ เพราะเดิมกฎกระทรวงที่กรมทรัพยากรน้ำเสนอมาแบ่งประเภทเกษตรกรโดยกำหนดจากจำนวนไร่ และจำนวนสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่กมธ.เห็นว่าเป็นรายละเอียดที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ” พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว

พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า จากเดิมที่มีข่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ปลายเดือนตุลาคม ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แม้กฎหมายฉบับนี้จะผ่านชั้นรับหลักการมาแล้วในวันที่ 2 มีนาคม 60 ซึ่งเป็นวันก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ จึงไม่ยังไม่ได้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กมธ.ก็ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ในการออกไปรับฟังความเห็นจากประชานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้รับฟังความเห็นแล้ว 29 จังหวัด ซึ่งทุกพื้นที่เห็นด้วยในการไม่ให้เก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้ในวันที่ 17-18 ตุลาคมจะไปรับความเห็นจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ดังนั้นคาดกว่ากฎหมายฉบับนี้จะเสร็จในเดือนมกราคม 2561 จากนั้นจะต้องมีการออกกฎกระทรวงรองรับการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวอีก 27 ฉบับ ดังนั้นคาดว่าจะต้องเวลาอีกพอสมควรกว่ากฎหมายจะบังคังใช้ได้อย่างสมบูรณ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image