นับถอยหลังโรดแม็ป คสช. กระชับคดีรุกไล่ “ยิ่งลักษณ์” การเมืองแรง “ช่วงเปลี่ยนผ่าน”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นศาลในคดีจำนำข้าว (แฟ้มภาพ)

วาระอำนาจพิเศษของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ล่วงมาแล้ว 1 ปี 6 เดือน

เหลือเวลาอีก 1 ปี 4 เดือน ต้องคืนประชาธิปไตย ด้วยการเลือกตั้ง ตามโรดแม็ปที่ประกาศไว้บนเวทีนานาชาติ รับรู้กันทั่วทั้งโลก

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ตอกย้ำ “การลงจากอำนาจ” ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยถ้อยแถลงที่ระบุว่า “ต้องเลือกตั้งปี 2560 ไม่ว่าผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะออกมาเป็นเช่นไร”

นับแต่นี้ต่อไปคือช่วงเวลา “นับถอยหลัง” ลงจากอำนาจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.

Advertisement

ทว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลผ่านมา 1 ปี 6 เดือน ไม่นับระยะเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุม 22 พฤษภาคม 2557 ที่จะครบ 2 ปี ใน 2 เดือนข้างหน้า โจทย์ใหญ่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.” ยังไม่ได้สะสางคือการแก้ปัญหาวิกฤตความขัดแย้ง

ทั้งในที่ประชุม ครม. และวงประชุมขุนทหาร คสช. ต่างรู้ดีว่า เลือกตั้งเมื่อไหร่ กลุ่มอำนาจเก่าที่ถูกเขี่ยพ้นกระดานอำนาจเมื่อปี 2557 มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

กลไกการตัดตอนพรรคใหญ่ทั้งระบบการเลือกตั้งใหม่เลือกตั้งบัตรใบเดียว ได้ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ องค์กรอิสระถูกประเคนอำนาจมากขึ้นจนกลายเป็นอำนาจที่ 4 ถูกติดตั้งในร่างรัฐธรรมนูญของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่จะนำไป “หักดิบ” ประชามติในวันที่ 31 กรกฎาคม

Advertisement

ประกอบกับคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ในข้อ 16 โดยให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2 ช่วงเฉพาะกิจและช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จึงเกิด “ข้อเสนอพิเศษ” ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม “พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์” ต้องการให้รัฐธรรมนูญมีชัย ติดตั้ง ส.ว.ลากตั้ง เพื่อเป็นกลไกประคองสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน 3-4 ปี

หวังคุมเกมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตอย่างน้อย 5 ปี อย่างมาก 20 ปี ล็อกเพิ่มอีกชั้นด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ยังระบุ ให้ ส.ว.ลากตั้ง เลือกนายกรัฐมนตรีได้

อนึ่ง “ข้อเสนอพิเศษ” ให้ ส.ว. มาจากการลากตั้ง เคยเป็นวาระ “ลับ และล้มเหลว” แนบท้ายข้อเสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาแล้ว แต่โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

พลันที่การร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนมือมาอยู่ในความรับผิดชอบของ “มีชัย” วาระ ส.ว.ลากตั้ง กลับกลายเป็นวาระเปิดเผยบนดิน ยืนยันข้อเสนอให้มี ส.ว.ลากตั้ง เพิ่มความเสี่ยงให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่ถูกวิจารณ์ว่ามี “ข้อด้อย” มากกว่า “ข้อดี” เพิ่มความเสี่ยงถูกต่อต้านมากขึ้น เพราะถูกมองว่าเป็นวิธีต่อท่ออำนาจ อาจนำไปสู่อุบัติเหตุการเมือง ไปไม่ถึงเส้นทางประชามติ

แม่น้ำทุกสายจึงต้องรอดูท่าทีของ “มีชัย” ที่ยังแทงกั๊กแบ่งรับแบ่งสู้โมเดล ส.ว.ลากตั้ง ของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ว่าจะยอมปรับร่างรัฐธรรมนูญตามออเดอร์หรือไม่

นับแต่นี้ต่อไปทางลงจากอำนาจ คสช. ถ้าวางหมากพลาดเพียงครั้งเดียว อาจพังทั้งกระดาน

เช่นเดียวกับอนาคต “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในกับดักคดีอาญา-คดีแพ่ง และหล่มสำนวนในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

แทบทุกสัปดาห์ อาจเห็นหน้ายิ่งลักษณ์ ที่หน้าศาลใดศาลหนึ่ง

คดีแรกที่จะต่อสู้ฎีกากันถึงช่วงปลายปี คือ คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่อยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คิวการไต่สวนจะทอดยาวไปกระทั่ง 18 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นการไต่สวนนัดสุดท้าย และคาดหมายว่าวันชี้ชะตา “ยิ่งลักษณ์” จะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม

ตัดสินกันแค่ศาลเดียวแล้วจบ แม้จะมีช่องทางให้จำเลยยื่นอุทธรณ์คดีหากมีหลักฐานใหม่ได้ แต่ความหวังพลิกกลับมาชนะก็ยากแสนยาก

นอกเหนือจากความผิดทาง “อาญา” ในโครงการจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ยังถูกซ้ำดาบสอง ด้วยการเรียก “ค่าเสียหายทางแพ่ง” ที่รัฐบาล คสช. งัด “กฎหมายความผิดทางละเมิด” ฟ้องค่าเสียหาย “ยิ่งลักษณ์” และพวก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการที่กระทรวงการคลัง ก่อนส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ชุดที่มี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะอนุกรรมการ เคยสรุปตัวเลขผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2547 – 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งหมด 15 โครงการ

หากนับเฉพาะโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 4 โครงการ จะมีผลขาดทุน 5.18 แสนล้านบาท

แปลว่า “ยิ่งลักษณ์” และพวก อาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนับแสนล้านบาท

มรสุมทางคดีของ “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่หมดแค่ “จำนำข้าว” เพราะยังคดีมีอย่างน้อยอีก 7 คดี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

คดีที่ 1 สำนวนคดีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในข้อกล่าวหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ก้าวก่ายแทรกแซง การแต่งตั้งข้าราชการ

2. ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อนุมัติออกร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … หรือโครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวทิ้งไปเนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้แล้ว

3. สำนวนคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีแต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม โดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับและกฎหมาย โดยเด้ง “พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์” ออกจากปลัดกระทรวงกลาโหม ไปช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

4. คดีจ่ายเงินเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548-2553 ทำให้รัฐเสียหาย

5. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาพร้อมคณะรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยออกประกาศเรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายใน ในพื้นที่เขตพระนคร ระหว่างการชุมนุมของ กปปส. โดยมิชอบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต กรุงเทพฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้รัฐเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 175 ล้านบาท

6. ยิ่งลักษณ์ และ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกร้องเรื่องการใช้งบประมาณ 240 ล้านบาท โรดโชว์โครงการ Thailand 2020

7. ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีแสดงทรัพย์สิน “ยิ่งลักษณ์” อดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว 5 ราย อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์

นอกจากนี้ ยังมีการฟ้องร้องทางแพ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท กับ “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ในความผิดทางละเมิด จากการ “ดื้อแพ่ง” จัดเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ 2,400 ล้านบาท

กําหนดวันชี้ชะตา “ยิ่งลักษณ์” ในกระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้นส่งท้ายปี 2559 และอาจกินเวลาในต้นปี 2560

เช่นเดียวกับชะตากรรมของรัฐบาล คสช. ที่นับถอยหลังลงจากอำนาจในปี 2560 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุการเมืองได้ทุกเมื่อ

ดังนั้น ในระหว่างนี้การจัดการกับแนวต้าน และแนวร่วมของ “ยิ่งลักษณ์” จึงเพิ่มดีกรีหนักขึ้น

ก่อนที่จะนับถอยหลังสู่จุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหญ่ทั้งในฟากของ คสช. เองและฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งยากที่จะคาดเดาได้ว่า จะมีบทสรุปเช่นไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image