อุทัย พิมพ์ใจชน วิพากษ์ ร่างรธน.ยันต์ปราบผี-คนร่างมีอคติ แนะคสช. วิธีลงหลังเสือ ไม่ให้เสือกัด

“อุทัย พิมพ์ใจชน” โด่งดัง โดดเด่นเป็นที่ฮือฮาขึ้นมาอีกครั้งหลังเงียบหายไปพักใหญ่ เมื่อให้ฉายาร่างรัฐธรรมนูญ ว่า “ฉบับใส่หมวก” ในโอกาสรับเชิญไปปาฐกถา หัวข้อ “การพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ จัดโดยสภาพัฒนาการเมือง เพราะสื่อต่างนำไปเสนอเป็นข่าวและวิเคราะห์วิจารณ์

ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาอย่างโชกโชนของอุทัย นับตั้งแต่เป็น ส.ส.หนุ่มสมัยแรกจากชลบุรีเมื่อปี 2512 และเป็นเรื่อยมาอีกหลายสมัย โลดแล่นบนถนนประชาธิปไตยมาโดยตลอด ผ่านตำแหน่งสำคัญมาแล้ว ทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส.ว.กรุงเทพฯ ฯลฯ

เหตุผลที่อุทัยให้ฉายา “ฉบับใส่หมวก” คือ “มีชัยได้ใส่หมวกในตอนร่างฯ อาจจะใส่เพราะกันลม กันหนาว ก็แล้วแต่ แต่การใส่หมวกนั้นเป็นการปิดสิ่งที่ไม่อยากให้เห็น…”

การร่าง รธน. โดยคณะกรรมการร่างฯ หรือ กรธ. ใกล้จะถึงวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งต้องร่างให้เสร็จ เพื่อนำไปออกเสียงประชามติโดยแก้ไขอะไรอีกไม่ได้

Advertisement

มติชนสุดสัปดาห์ ได้สนทนากับอุทัยเพื่อรับฟังความเห็น ในช่วงโค้งสุดท้ายของร่าง รธน.

อุทัย เปิดฉากสนทนาแบบสบายๆ บอกว่า 84 ปีการเมืองไทยจาก 2475-2559 ประ เทศไทยมี รธน. ใช้มาแล้ว 19 ฉบับ จากประสบการณ์ทางการเมืองส่วนตัวขอแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบเท่านั้น

รูปแบบที่หนึ่ง รธน. เหมือนยันต์ปิดปากหม้อ ยันต์ปราบผี สมัยก่อนได้ยินเรื่องเขาเล่ากันว่า ตามบ้านนอก หมู่บ้านไหนมีผีมาอาละวาด ทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วย จะมีหมอผีมาอาสาปราบผี

วิธีการคือ สวดมนต์ ขึงด้ายสายสิญจน์ เรียกวิญญาณผีมาลงหม้อ เสร็จแล้วก็เขียนยันต์ปิดปากหม้อ บอกชาวบ้านว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องห่วงแล้ง ฉันได้จับผีร้ายลงหม้อ เขียนยันต์ไม่ให้มันผุดมันเกิด เอาหม้อไปถ่วงน้ำ

ชาวบ้านต่างดีอกดีใจ อยู่กันมาก็ร่มเย็นเหมือนกัน แต่ไม่นานผีก็ออกมาอีก มีหมอผีคนใหม่มาทำแบบเดิมอีก เป็นอย่างนี้ในหมู่บ้านที่เขาเชื่อว่ามีผี

“รัฐธรรมนูญในประเทศไทยมีอยู่แบบหนึ่ง เหมือนยันต์ปิดปากหม้อ เวลาบ้านเมืองมีปัญหา หรือนักการเมืองโกงกิน เลวร้ายก็มีคณะทหารมาไล่นักการเมืองออกไป เรียกว่าคณะปฏิวัติ เหมือนหมอผีเลย มาถึงก็ประกาศเลยว่า ฉันจะจับผีถ่วงหม้อ จะไม่ให้มันผุดมันเกิดอีก เขียนรัฐธรรมนูญก็เหมือนยันต์ปิดปากหม้อ ฉันจะจัดการนักการเมือง แล้วในที่สุด ผีมันก็เกิดอีก มันซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนี้ ไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย ก็เห็นกันอยู่ ผมก็ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่มีชัยกำลังเขียนอยู่นี่ก็เข้าแนวเดิมอีกนั่นแหละ กำลังจะเขียนเหมือนยันต์ปิดปากหม้อ ไม่ให้ผีออกมาอาละวาด…”

อุทัย ย้ำว่า การเขียน รธน. เหมือนทำยันต์ปิดปากหม้อ ไม่ให้นักการเมืองเลวเกิดขึ้นอีก จะปราบโกงอะไรต่างๆ ทำซ้ำๆ ซากๆ เหมือนกับแก้การเมืองแบบให้ยาผิด เป็นไข้ก็ยังใช้ยาเดิม เป็นอยู่อย่างนี้ คิดดูแล้วกัน มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เอาไปคิดดู

รูปแบบที่สอง คือ รธน. ที่ร่างโดยประชาชน หมายความว่ามีสภา เขาแต่งตั้งคนมาเขียน มาร่างฯ ถือว่าเป็นตัวแทนประชาชน แบบนี้มีส่วนดี แต่ความเลวไม่ได้อยู่ที่ รธน. มันไปอยู่ที่นักการเมือง

คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่อง รธน. เลยมีการปฏิวัติ

แล้วจะเขียนจะร่าง รธน. กันอย่างไร หลักอยู่ตรงไหน?

อุทัยตอบทันทีว่า บ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนต้องอยู่แบบไม่มีพันธะอะไรที่จะมาผูกพันได้ นอกจากเกิดแก่เจ็บตาย รธน. ควรจะเป็นเรื่องของการทำให้คนเป็นธรรมชาติที่สุด อยู่แบบธรรมชาติ สิ่งที่ควรมีใน รธน. สองอย่าง สามอย่างก็พอ

หนึ่ง ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ใดจะแบ่งแยกมิได้ เป็นเอกรัฐ

สอง มีการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และสาม ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย เขียนแค่นี้พอแล้ว ไม่กระเทือนใคร เสรีภาพก็มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเอา รธน.มาคุม รธน.เหมือนร่มโพธิ์ร่มไทร เมื่อไรฝนตก ค่อยมามุงหลังคาบ้านกัน เปรียบเหมือนกับไปออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา

“การร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ไม่ใช่ธรรมชาติ มันออกมาเหมือนกับเป็นกฎหมายอาญาของนักการเมือง เวลานี้ เขากำลังร่างกฎหมายอาญาของนักการเมือง ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญ นักการเมืองมันเลวก็จริงนะ มีเลวก็จริง แต่ว่ามันมีระยะเปลี่ยนผ่าน ให้ประชาชนตัดสิน ถ้าผิดจริงๆ ก็มีกฎหมายให้ตัดสิน มีกฎเกณฑ์ตัดสินอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวป้องกัน เหมือนกับยันต์ปิดปากหม้อที่ผมเปรียบเทียบทีแรก อย่าไปทำรัฐธรรมนูญให้เป็นยันต์ จะทำให้รัฐธรรมนูญเสียศักดิ์ศรี มันขัดกับหลักธรรมชาติ ขัดกับประชาธิปไตย มันไม่ใช่เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อประชาธิปไตย มันกลายเป็นเพื่อผู้ปกครองไปแล้ว บอกว่า ฉันหวังดีกับประเทศ หวังดีกับประชาชน คำว่าหวังดีอาจไม่ใช่ความหวังดีของประชาชนก็ได้”

หลังอรรถาธิบายในเชิงหลักการมาถึงตรงนี้ อุทัยก็เจาะลึกลงไปถึงคนร่างและกระบวนการร่าง รธน. ที่กำลังทำกันอยู่ขณะนี้โดยตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประการ

ประการแรก การเกิดของรัฐธรรมนูญ อย่างที่ผมบอก ปฏิวัติทุกครั้งก็เขียนร่างรัฐธรรมนูญแบบยันต์ปิดปากหม้อ แต่มันก็แก้ไม่ได้

ประการที่สอง ผู้มาเขียนร่างรัฐธรรมนูญ หัวเรือใหญ่เป็นนักกฎหมายมาตั้งแต่กำเนิด ไม่เคยสัมผัสกับวิถีชีวิตของประชาชน อยู่กับวิถีชีวิตของตัวเอง เป็นคนมีความรู้ มีความสบายก็คิดว่าคนอื่นควรจะอยู่ยังไง มากำหนดกฎเกณฑ์คนอื่นเขา ซึ่งหลักประชาธิปไตยเขาให้คนอยู่ด้วยกันกำหนดกันเอง นี่คุณไปกำหนดเขา มันขัดหลักประชาธิปไตยแล้วนะ เริ่มต้นจากคนที่จิตสำนึกขาดหลักประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น กฎหมายทุกฉบับเขาถึงให้พิจารณาและออกกันในสภา เพื่ออะไร เพื่อให้คนที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ ได้รู้ ได้เห็น ได้พอใจแล้วก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ โดยเสียงส่วนน้อยก็ต้องเคารพ นี่คือหลักประชาธิปไตย

อดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใส่หมวกและอีกสารพัดฉายา ร่างกันแค่ 21 คน ไม่ต้องนำเข้าสภาอะไรซึ่งผิดหลักผิดเกณฑ์ทั้งที่มาของคนร่างและกระบวนการพิจารณา คนร่างมีอคติ 2 อย่าง

“หนึ่ง อคติต่อนักการเมือง ผมไม่ปฏิเสธว่า นักการเมืองเลวมันมี สอง อคติต่อประชาชน เห็นประชาชนโง่ ยังปกครองตนเองไม่ได้ ยังเลือกผู้แทนฯ ไม่เป็น ฉันจะเลือกแทนให้ ฟังแล้วมันรับได้ไหมนี่”

เราถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะไปรอดหรือไม่เมื่อนำไปออกเสียงประชามติ สมมติเกิดผ่านประชาธิปไตยไปได้ แต่สุดท้ายจะใช้ไปได้อย่างยั่งยืนหรือไม่?

“ก็ดูรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 สิ เอาไปลงประชามติ ผ่านประชามติแล้วไปรอดไหม ก็ไปไม่รอด ตอนนั้นบรรยากาศบ้านเมืองผ่อนคลายกว่านี้ มีสิ่งผิดเพี้ยนจากหลักประชาธิปไตยน้อยกว่านี้ มาครั้งนี้ ถ้าเขาคิดว่าประชาชนยังโง่อยู่ เดี๋ยวก็รู้เองว่าประชาชนโง่หรือฉลาด”

ถามอีกว่า – การที่มีชัยให้ฉายาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง คนที่ไม่ชอบการทุจริตโกงกินก็คงจะชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ ใครไม่ชอบอาจจะกลายเป็นคนที่สนับสนุนการทุจริตโกงกิน มีความเห็นอย่างไร?

อุทัย ตอบว่า จะมีคนจำนวนหนึ่ง คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยปราบโกงได้โดยไปเชื่อตามคนร่างและผู้มีอำนาจที่ยัดความคิดนี้ให้ประชาชน การกล่าวหาโจมตีนักการเมืองว่าเลวและโกงที่คิดว่าเป็นจุดอ่อน ขณะเดียวกันก็เป็นจุดแข็งของการเมืองด้วย เหตุผลคือ การมีสภาผู้แทนฯ มีนักการเมือง เขามีข้อห้ามอยู่อย่างหนึ่งว่า เรื่องดีไม่ต้องพูด พูดแต่เรื่องเลว คนเลว เรื่องที่เป็นปัญหา เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน สมมติมีคนเสนอเรื่องดีปั๊บ มีใครเห็นเป็นอย่างอื่นไหม ถ้าไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องเสียเลย ผ่านทันทีภายใน 5 นาที 10 นาที แต่ถ้าถามว่า เรื่องนี้มีคนเห็นเป็นยังไง โอ๊ย มีคนเห็นไม่ดีเยอะเลย ให้พูดอภิปรายกันเต็มที่เลย 3 วัน 3 คืน สภามีไว้ให้พูด 2 อย่าง คือ หนึ่ง พูดเรื่องคนเลว กับสอง พูดเรื่องเลว พอเปิดประชุมสภาวันพุธพูดเรื่องคนเลว วันพฤหัสฯ มีเรื่องเลว พอวันพุธมีคนเลว มันพฤหัสฯ เรื่องเลว วันพุธคนเลว วันพฤหัสฯ เรื่องเลวๆๆๆๆ เฮ้ย สภามีแต่เรื่องเลวทั้งนั้นเลยนี่หว่า ไปเสียได้ก็ดี แต่หารู้ไม่ว่า มันเลวไม่กี่เรื่อง เพราะว่าถ้าเรื่องเลวก็ไปไม่รอดหรอก

ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาเกือบ 50 ปี มีอะไรจะเสนอกรรมการร่างฯ บ้างไหม?

“ผมว่าอย่าไปเสนอเลย เขาไม่ฟังหรอก เขามีธงของเขาอยู่แล้ว เขาเชื่อมั่นในตัวเขาอยู่แล้ว เขามีอคติอยู่ในตัวเองเต็มตัวอยู่แล้ว เป็นอคติเลย ไปพูดไปเสนอเขาไม่ฟังหรอก เขาไม่ฟังใครนอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พูด เขาก็ทำตามใจเขา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ พูด เขาก็ทำตาม พล.อ.ประยุทธ์”

สนทนาพาทีมาถึงรัฐบาลและผู้นำ คสช. – พล.อ.ประยุทธ์ ใกล้จะครบ 2 ปีนับแต่เข้ามามีอำนาจ อดีตนักการเมืองผู้คร่ำหวอดมีความเห็นอย่างไร?

อุทัย ตอบว่า “ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามามีอำนาจ แรกๆ ทำท่าจะเก่งทางการเมืองและเก่งทางการบริหาร ผมตกใจ เพราะผมมองว่า ท่านเป็นกรรมการห้ามมวย ตอนเข้ามา ท่านมาแบบกรรมการห้ามมวย ห้ามสองฝ่ายที่ขัดแย้งออกจากกัน ท่านแยกสองฝ่าย ผมถึงได้เฉยไง ธรรมดาผมนี่ไม่ชอบหรอกพวกปฏิวัติ ผมก็ดูท่านไป แต่เวลานี้ ท่านลงไปต่อยมวยเสียเอง ผมก็ตกใจนะ ท่านต่อย ท่านชกมั่วสิ เมื่อเป็นนายกฯ ชกมวย ก็ต้องชกทุกปัญหา แล้วท่านมีใครล่ะที่จะมาชี้ อันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่ เพราะว่านายกฯ พูดอะไรมันก็ใช่หมด คุณดูสภานิติบัญญัติฯ หรือ สนช. อยู่มาจะสองปี หาคนเลวไม่ได้เลยสักคน เป็นเรื่องน่าถามประชาชนนะว่า ท่านจะเอาสภาแบบไหน สภาผู้แทนฯ ที่ชี้คนเลว เรื่องเลวให้เราฟัง กับไม่มีคนชี้เลยอย่าง สปท. หรือ สนช. ที่ไม่พูดคนเลว เรื่องเลว มีแต่คนปรบมือ เวลาผู้มีอำนาจพูดอะไร ทำอะไร”

ต่อไปนี้จะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ พูดรับประกันไว้ จะเป็นไปได้หรือ รัฐธรรมนูญร่างกันแบบไม่ให้แก้ จะแก้เรื่องอะไรต้องเอาลงประชามติ เป็นอีกข้อสงสัยที่เอ่ยถามอดีตประธานรัฐสภา

อุทัยเฉลยว่า “ถ้าหยั่งรู้ดินฟ้าอากาศในอนาคตว่าจะเกิดอะไร ก็เป็นเทวดาน่ะสิ ผมว่ารับประกันไม่ได้หรอก เรื่องอนาคต อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด คุณจะไปรู้ได้ยังไง คุณคิดว่าคุณรู้ไหมว่าอนาคตของคุณจะเป็นยังไง อนาคตประเทศจะเกิดอะไร”

เราถามอีกว่า เรื่องคนมีอำนาจเปรียบเหมือนนั่งบนหลังเสือ ลงหลังเสือไม่ดีอาจถูกเสือกัดได้ ขอให้แนะนำผู้มีอำนาจถึงวิธีการลงหลังเสือให้ปลอดภัย ไม่โดนเสือกัดจะลงยังไง??

“ข้อที่หนึ่ง คุณต้องทำตัวเองให้บริสุทธิ์ไว้สิ ข้อที่สอง คุณต้องให้ความสำคัญกับประชาชนไว้ ตอนนี้ในร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ให้ความสำคัญ ในส่วนของแม่น้ำห้าสายก็เกาะเกี่ยวกันไป ประวัติศาสตร์หน้านี้จะบันทึกไว้อย่างไร ผมไม่รู้ แต่รู้ว่า กรรมใดใครก่อ คนนั้นก็รับไปนะ กรรมหนัก กรรมเบา ก็แล้วแต่ อันนี้เราไปคาดการณ์ไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนที่มามีอำนาจ ถ้าคิดว่า อำนาจจริงๆ มันเป็นของประชาชนเขา อย่าคิดว่า ต้องฉันเท่านั้นนะบ้านเมืองถึงจะไปรอด ถ้าคิดถึงประชาชน เรื่องของประชาชนก็ปล่อยให้ประชาชนเขาคิด เขาทำกันเอง ไม่ต้องกลัวเสือกัดหรอก ถ้าหากคุณยังคิดว่า ต้องฉันนะ ฉันเห็นว่าประชาชนยังทำอะไรไม่เป็น ไปไม่รอด ต้องผมคนเดียวที่จะแก้ปัญหาให้ ผมว่า ไม่ใช่เสือกัดหรอก เขาน่ะ เขากัดตัวเขาเอง เจ็บไปหมดน่ะ ฮ่ะๆๆๆๆ”

มีอะไรจะฝากความปรารถนาดีไปถึงผู้นำและคนมีอำนาจในแม่น้ำห้าสายบ้างไหมเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งไม่ดีในบ้านเมือง

“ผมพูดสั้นๆ ก็แล้วกันนะ การเมืองเรื่องของประชาชน ก็ให้ประชาชนเขาจัดการกันเอง ทหารมีหน้าที่รักษาความสงบไป ตรงไหนไม่สงบ คุณก็ประกาศกฎอัยการศึกไป คุณมีอำนาจของคุณอยู่ แต่อย่าลงมาต่อยมวยเสียเอง จะได้กลับไปให้คนเขาพูดว่า ในสมัยหนึ่ง ต้องเอาคนอย่างคนนี้สิ ต้องเอาอย่างคุณประยุทธ์สิ ถ้าทำไม่ดีก็มีคำเดียวคือถูกว่าเป็นทรราช คำนี้เขาใช้กันอยู่ ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะท่านเป็นคนดีนะ เท่าที่ดู เป็นคนดี ตั้งใจดี แต่ต้องระวังคนรอบข้างที่ห้อยโหนอยู่”

“ไอ้ห้อยไอ้โหนทั้งหลาย ต้องระวังให้ดี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image