เปิดใจ”บิ๊กกี่”ผู้มีบารมี-คอนเน็กชั่น ค้นสูตรรวม พท.-ปชป. จับมือปรองดอง?

สัมภาษณ์พิเศษ

ชื่อ “พล.อ.นพดล อินทปัญญา” หรือ “บิ๊กกี่” นายทหารวงศ์เทวัญ ไม่ใช่แค่ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เขายังเป็นเพื่อนสนิท “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.กลาโหม พี่ใหญ่แห่งค่ายบูรพาพยัคฆ์ ตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 6 เป็นเลขานุการ พล.อ.ประวิตร เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

เป็นคนมองโลกในแง่ดี เมื่ออยู่ในดงการเมือง จึงมีเพื่อนพ้องทั้ง 2ขั้ว 2ค่ายการเมือง เหลือง-แดง ล้วนอยากสนทนากับ “บิ๊กกี่”

Advertisement

เขาตอบ “ประชาชาติธุรกิจ” กว่า 20 คำถาม ถึงความเป็นตัวตน และผลแห่งคอนเน็กชั่นพิเศษ ที่เขาแนบแน่น

ทั้งเรื่องความสนิทกับ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์” ความสัมพันธ์กับ “บิ๊กคสช.” ข้อกังขาเรื่อง “ดีลรัฐธรรมนูญ” ยุค “บวรศักดิ์” และ “ข้อมูลใหม่” ให้ ส.ว.คุมอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน และการเคลื่อนตัวของ “ทักษิณ ชินวัตร”

– จุดเริ่มต้นของคอนเน็กชั่นการเมืองเกิดขึ้นได้อย่างไร

Advertisement

ความสัมพันธ์กับทหารมีทั้งโรงเรียนเตรียมทหาร(ตท.) รุ่น 6 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) รุ่น 17 พอจบมาก็มีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งคือ พวกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วปอ.4010 ก็มีเพื่อนอีกเยอะ ระหว่างทำงานก็มีเพื่อนเยอะ พอมายุ่งกับการเมืองเป็นเลขานุการ รมว.กลาโหมของ พล.อ.ประวิตร ก็รู้จักนักการเมืองพอสมควร แล้วค่อนข้างเป็นคนมองโลกในแง่ดี ไม่เคยมองคนเป็นศัตรู คนคุยกับผมจึง Happy เป็นคนพูดตรงๆ ไม่มีอ้อมค้อม Yes ก็ Yes No ก็ No

– อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประวิตรกับคุณหญิงสุดารัตน์อย่างไร

พูดจากใจเลยนะ กับ พล.อ.ประวิตรเรียนพร้อมกันทุกหลักสูตร จบจากโรงเรียนนายร้อยไปรับราชการที่โคราชก็อยู่บ้านเดียวกัน เรียนหลักสูตรชั้นนายพันด้วยกัน เรียนหลักสูตร วปอ.ด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน แทบจะพูดได้ว่าไม่มีอะไรต้องปิดบังเลยคู่นี้ กินข้าวด้วยกันทุกเช้า ไม่ใช่เพิ่งกินนะ กินตั้งแต่โบราณกาลแล้ว บ้าน พล.อ.ประวิตรกับข้าวอร่อย ซื้อข้าวแกง 5 อย่าง 10 อย่าง ล้อมวงกินทุกวันตั้งแต่ 6 โมงครึ่งถึง 7 โมงครึ่ง เพียงแต่ปัจจุบันสมาชิกเพิ่มขึ้นเยอะ พล.อ.ประวิตรเป็นคนมีน้ำใจ มีใครมาอยากกินก็กิน ท่านพูดว่ากินให้ตายก็ไม่จน ดีกว่ากินหูฉลาม ส่วนมื้อกลางวันถ้าไม่ติดประชุม สนช.ก็กินด้วยกัน

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ รู้จักกันมานานแล้วตั้งแต่ผมเป็นนายทหารกองทัพภาคที่ 1 เอากำลังไปสลายการชุมนุมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เห็นคุณหญิงสุดารัตน์อยู่ในเต็นท์ของ พล.ต.จำลอง ก็มองไปมองมา แล้วที่สนิทกันมากตอนที่นายกฯทักษิณ (ชินวัตร) ลงเลือกตั้งเพื่อเป็นนายกฯสมัยที่ 2 พล.อ.ประวิตรเป็นผู้บัญชาการทหารบก จึงให้ผมเป็นนายทหารประสานงานด้านการเมืองกับพรรคต่างๆ รวมถึงคุณหญิงสุดารัตน์ ปีนั้นพรรคไทยรักไทยได้คะแนน 300 กว่าเสียง

แต่ พล.อ.ประวิตรและคุณหญิงสุดารัตน์เคยเจอกันไหม พูดจากใจเลย เจอกันไม่เกิน 1 ครั้งในงาน แต่ไม่รู้จักกัน มีแต่ผมสนิทกับ พล.อ.ประวิตร และคุณหญิงสุดารัตน์เท่านั้นเอง

– เมื่อความสัมพันธ์กับนักการเมืองแนบแน่น คุยกับนักการเมืองเรื่องอะไร

นักการเมืองตอนนี้ไม่มีการเมือง ต่างคนต่างทำมาหากิน โอกาสคุยเรื่องการเมืองไม่มี ส่วนใหญ่กินไวน์ (หัวเราะ)

– ได้พูดคุยกับพรรคการเมืองในแนวทางปรองดองหรือไม่

เคยคุยกันแต่มันหลากหลาย อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าอีกฝ่ายสองมาตรฐาน แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าฝ่ายหนึ่งเล่นแรง ถ้ารู้สูตรให้เสื้อเหลือง เสื้อแดงหมดไป กปปส. เสื้อแดงหมดไป พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อพัฒนาประเทศ ใครมีสูตรนี้ช่วยมาบอกด้วย คนไทยทุกคนอยากให้บ้านเมืองสงบ แต่ไม่รู้ทำอย่างไร

– แต่คุณทักษิณผู้มีอิทธิพลที่สุดของพรรคเพื่อไทย เคลื่อนไหวโจมตีรัฐธรรมนูญและ คสช. ได้คุยกับคุณสุดารัตน์ถึงการเคลื่อนไหวของคุณทักษิณหรือไม่

ถ้าคุณหญิงสุดารัตน์ไม่หลอกผมนะ เขาบอกว่าปัจจุบันไม่ใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่เคยเจอท่านนายกฯทักษิณ ไม่เคยเข้าประชุมพรรค จะว่าไปรู้จักคุณทักษิณได้อย่างไร เขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยนะ แล้วไปบอกว่าสนิทกับนายกฯทักษิณ ถ้าไม่มีข้อมูลก็เสียหมดสิ มันยิ่งไปกันใหญ่ เขาบอกผมก็เชื่อ ผมเช็กดูแล้วว่าเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

– เท่ากับว่า พล.อ.นพดลกับคุณหญิงสุดารัตน์จะเป็นข้อต่อปรองดองกับคุณทักษิณไม่ได้

ไม่ได้ ผมไม่มีอำนาจ ผมมีอำนาจเป็น 1 ใน 220 คนในการออกกฎหมาย ผมไม่ใช่ฝ่ายบริหาร

– เมื่อรู้จักนักการเมืองมาก เวลาต้องถอดถอนนักการเมืองวางบทบาทอย่างไร

ไม่มีบทบาทอยู่ที่ข้อมูลและหลักฐาน เช่น เรื่องการถอดถอน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งข้อมูลและหลักฐานมาให้ สนช. มีการถอดถอนทั้งหมด 7 ครั้ง มีมติไม่ถอดถอน 5 ครั้ง ถอดถอน 2 ครั้ง มีกรณีคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) คุณบุญทรง (เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์) คุณภูมิ (สาระผล รมช.พาณิชย์) คุณมนัส (สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ) 4 คน โดยฟังจาก ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง สนช.มีวิจารณญาณที่จะตัดสิน ถ้ามีใบสั่งมาต้องถอดถอนทั้ง 7 ครั้งสิ

คิดว่าการทำงานของ สนช.ค่อนข้าง Perfect ตั้งแต่เข้ามาเป็น สนช.ตั้งแต่ ส.ค. 2557 มีกฎหมายเข้าสภา 174 ฉบับ ผ่านการพิจารณาไปแล้ว 154 ฉบับ มั่นใจว่าสถิตินี้อีกนานไม่มีใครทำลายได้ การทำงานของ สนช.ไม่มีข้อบกพร่อง

– การถอดถอนมีใบสั่งนักการเมืองมาขอร้องหรือไม่

(สวนทันที) คุยธรรมดามีอยู่แล้ว นักการเมืองร้อยคนก็ต้องมีเพื่อนใน สนช.สักคน แต่ต้องดูเสียงส่วนใหญ่ สมมุติผมเทคะแนนให้นักการเมือง 1 คน แต่ 219 เสียงไม่เอาด้วย มันก็ต้องแพ้อยู่ดี ถามว่าเราไปสั่งได้ไหม ไปสั่งเขาก็ด่าเอาสิว่าพี่มีอำนาจอะไรมาสั่งผม แล้วยังผิดระเบียบของ สนช.ด้วย

ไม่เหมือนพรรคการเมืองเขาสั่งเลย ในอดีตที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่คุมเสียงข้างมาก มีทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองใหญ่ๆ มีอำนาจบริหารอย่างเดียว ไม่มีอำนาจนิติบัญญัติ ใจผมอยากให้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่มีอำนาจบริหารอยากทำอะไรก็ทำได้ ถ้ากลัวผิดกฎหมายก็ออกกฎหมายได้…อย่างนี้ไม่ใช่ ถ้ามีการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา พรรคการเมืองที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาจะมีทั้งอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ…มันอันตรายนะ จบเห่ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย

– ความพยายามของ คสช.ให้ ส.ว.สรรหา เพื่อให้ ส.ว.เป็นองค์กรคานอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่

พล.อ.ประวิตรจึงบอกว่าช่วงเปลี่ยนผ่านท่านอยากให้ ส.ว.มาจากการสรรหา ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง คิดว่าท่านมอง ส.ว.เหมือน สนช.ว่าเป็นกลางจริงๆ ช่วยจริงๆ ไม่ใช่ช่วยพรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าช่วยพรรคเพื่อไทยคุณยิ่งลักษณ์ก็หลุดกรณีถอดถอนจำนำข้าวสิ

– แต่ปม ส.ว.สรรหาถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ

ส.ว.มีอำนาจตรงไหนเล่า ถามตรงๆ มีอำนาจตรงไหน เพราะ ส.ว.มีแค่อำนาจกลั่นกรองกฎหมาย สืบทอดอำนาจ สืบทอดอะไร อำนาจอะไร

– ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่ กำหนดหน้าที่ ส.ว.มากกว่าแค่กลั่นกรองกฎหมาย เช่น ต้องให้ ส.ว.เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธาน ส.ว.มีส่วนคุมกลไกสำคัญ ๆ เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ไม่มี ส.ว.มีอำนาจไปคุมรัฐบาลตรงไหน ส.ว.ไม่มีอำนาจไปลงคะแนนเลือกนายกฯ แล้วจะมีอำนาจอะไร คนเห็น ส.ว.มีแต่กระบองยักษ์…ไม่มี มีแต่ปากกากับสมอง คิดกฎหมาย ร่างกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้ดี

– สมาชิก คสช. ควรไปอยู่ใน ส.ว.บ้างหรือไม่

จะอยู่ ไม่อยู่ จะไปห้ามเขาทำไม ถ้าเขาจะอยู่ หรือจะไปเขียนบังคับเขาทำไมให้เขาอยู่ เป็นเรื่องของกรรมการสรรหา เขาจะสรรหาใครก็เรื่องของเขา ไม่ต้องไปห้าม สนช.เป็น ห้าม คสช.เป็น ไม่จำเป็น ใครจะมาเป็นก็ได้ถ้ากรรมการสรรหาเลือก แต่ไม่รู้ว่ากรรมการสรรหาคือใคร อาจเป็นประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง เขาจะสรรหาใคร ไม่ใช่ห้ามคนนี้เป็น ห้ามกลุ่มนี้เป็น ใครเป็นก็เป็นสิ

– ข้อดีและความจำเป็นของ ส.ว.สรรหาต้องมีในรัฐธรรมนูญคืออะไร

ในขณะนี้เราแก้พรรคการเมืองที่มีอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ ช่วงเปลี่ยนผ่าน ส.ว.จึงมาจากการสรรหา โดยสรรหาอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันหมด ต้องหลากหลายเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยดี ไม่เช่นนั้นกลับเป็นแบบเดิม

– สนช.จะมีส่วนช่วยให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้อย่างไร

เขาตกลงในที่ประชุม ครม. คสช.แล้ว ครม. คสช.มีหน้าที่อย่างเดียวเชิญชวนให้ประชาชนออกไปลงประชามติ ไม่มีหน้าที่ชี้นำ ไม่มี Yes หรือ No เพราะถ้าฝั่งหนึ่ง Yes ฝั่งหนึ่ง No ทะเลาะกันอีก แตกแยกกันอีก ดังนั้น กฎหมายลูกประชามติที่จะผ่าน สนช.ห้ามเชียร์ ห้ามไม่เชียร์รัฐธรรมนูญ เชียร์รัฐธรรมนูญดีไม่ดีก็ผิดกฎหมาย ด่ารัฐธรรมนูญเลวก็ผิดกฎหมาย คิดว่าเป็นอย่างนี้

– ในฐานะที่มีคอนเน็กชั่นการเมืองจะไปบอกพรรคการเมืองให้หยุดต้านรัฐธรรมนูญหรือไม่

คิดว่าตัวนักการเมืองอยากให้ผ่านประชามติ ส่วน คสช.ก็อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน แต่เวลา สนช.ไปพบปะชาวบ้าน ชาวบ้านไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ยังอยากให้เป็นอย่างนี้อยู่…จะกลับกัน เพราะเราบอกชาวบ้านว่า สนช.ทำงานแบบนี้สปท.แบบนี้ ชาวบ้านก็เห็นว่าดี และ อบต. อบจ.ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ อยากให้อยู่แบบนี้ มีแต่นักการเมืองอยากให้ผ่านเพื่อจะเลือกตั้ง

จะหาว่าพรรคการเมืองแอนตี้ไม่ให้ผ่านคนละเรื่องกัน เพราะพรรคการเมืองใหญ่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติใจจะขาด และในอนาคตรัฐธรรมนูญต้องมีการแก้ไขได้ เมื่อเป็นแล้วเข้ามามีอำนาจก็แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดี ให้เหมาะสมมากขึ้น

– ลือกันว่า พล.อ.นพดลว่าเป็นตัวเดินเกมอยู่เบื้องหลังตั้งแต่ สปช.คว่ำรัฐธรรมนูญอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ผมไปมีอำนาจอะไรใน สปช. ผมอยู่ใน สนช.ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยประชุมสักครั้ง แต่มีอะไรก็บิ๊ก ก.ไก่ บิ๊ก ก.ไก่

– ถ้าให้นิยามตัวเองในฐานะที่มีสัมพันธ์พิเศษกับทุกขั้ว จะให้นิยามว่าอะไร

เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง มองโลกในแง่ดี

– เป็นข้อต่อฝ่ายการเมือง เป้าหมายสูงสุดคืออะไร

พอหมดเวลาในปี 2560 ก็เลิกแล้ว เป้าหมายสูงสุดคืออยากเห็นประเทศชาติปรองดองแล้วกลับไปนอนบ้านแล้ว

– พล.อ.นพดลเป็นทหารวงศ์เทวัญ มองการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพในกองทัพของสายบูรพาพยัคฆ์อย่างไร

ไม่มีหรอก มันเพื่อนกันทั้งนั้น พล.อ.ประวิตร บูรพาพยัคฆ์ ผมวงศ์เทวัญ กินข้าวกันมา 30 ปีแล้ว ซึ่งมันขึ้นอยู่กับตัวนักเรียนนายร้อยที่จบไปตัวเก่งๆ อยู่ที่ไหน มีโอกาสเจริญก้าวหน้า เพียงบางช่วงในอดีตกองทัพภาคที่ 1 ได้เป็นใหญ่ แต่สมัยก่อนชายแดนรบกันมาตลอด นายทหารรุ่นเดียวกันที่อยู่ชายแดนได้ 2 ขั้นเท่านั้นเอง เมื่อก่อนไม่ต้องรบก็เท่า ๆ กัน ผลัดกันไปผลัดกันมาแบบนี้

– หมายความว่านักรบภาคตะวันออกได้โอกาสโชว์ผลงานมากกว่า

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขมรบุก ตอนนั้นป้อม (พล.อ.ประวิตร) ป๊อก (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย) มีโอกาสรบ ก็แซงเพื่อนได้ 2 ขั้น ส่วนกรุงเทพฯ วงศ์เทวัญ ทหารในกองทัพภาคที่ 1 ไม่ต้องรบกับใคร โอกาสได้ 2 ขั้นจึงน้อยกว่าทางนู้น แต่ปัจจุบันไม่มีการรบแล้วมันก็เท่ากัน มันอยู่ที่ฝีมือ สมอง เป็นนักรบ นักพัฒนา ผู้ที่มีความประพฤติดี ก็ได้เลื่อนขั้นเร็วหน่อย

– มีโอกาสไหมที่วงศ์เทวัญจะกลับมาเหมือนเดิม

มีโอกาสทุกภาค อยู่ที่ว่าคนไหนทำงานเก่ง รอบรู้ โรงเรียนนายร้อยที่จบไปมาตรฐานมันใกล้เคียงกัน พอไปอยู่เหล่ามีพี่เลี้ยงดี มีทหารรุ่นพี่คอยสอน บางที่ที่มันจะกินแต่เหล้าหน่วยนั้นก็แย่หน่อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image