09.00 INDEX กระบวนการ สืบทอด ‘อำนาจ’ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ เมียนมา

หากกระบวนการรัฐประหารโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเดือนกันยายน 2500 คือ ความสำเร็จ

ความสำเร็จอันกลายมาเป็น “พิมพ์เขียว”

กระบวนการรัฐประหารโดย นายพลเนวิน แห่งสาธารณรัฐพม่าเมื่อปี 2505 ก็เป็นอีก “โมเดล”

อันกลายเป็น “พิมพ์เขียว” เป็น “ความฝัน”

Advertisement

เพราะว่าในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน

จากเดือนกันยายน 2500 กระทั่งเดือนธันวาคม 2506

โดยมีแต่”ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร”เพียงไม่กี่มาตรา โดยไม่จำเป็นต้องเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง

Advertisement

มีแต่”สภาร่างรัฐธรรมนูญ”

แม้เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็สามารถเป็น “นายกรัฐมนตรี”ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2516

นี่คือ “ความต่อเนื่อง”แห่ง”อำนาจ

กล่าวสำหรับ รัฐบาลทหารของพม่านั้นเล่า จากยุคของ นายพลเนวิน ก็สามารถดำรงอยู่แห่งอำนาจได้กระทั่งมถึงปัจจุบัน

จากพ.ศ.2505 ถึง พ.ศ.2559

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงมี “ปฏิมา” แห่งความสำเร็จและความล้มเหลวของการยึดอำนาจในอดีตมาเป็นเครื่องมือ

ศึกษา เรียนรู้

เพราะมีบทสรุปว่า รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ถือได้ว่าเป็นรัฐประหาร “เสียของ”

จึงไม่อยากให้ต้อง”เสียของ”อีก

รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เมื่อสำเร็จแล้วก็มอบตำแหน่งทางการเมืองให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ผลก็คือ

1 เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนก็ได้ชัยชนะ 1 เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยก็ได้ชัยชนะ

ตรงนี้แหละคือ “รูปธรรม” แห่งการ”เสียของ”

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงอุดรูรั่ว ช่องโหว่ตรงนี้โดยคณะรัฐประหารเข้าเป็นรัฐบาลเอง

หัวหน้าคสช.ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

จากนั้น จึงสถาปนาแม่น้ำ 5 สาย เริ่มจาก 1 คสช. 2 ครม. 3 สนช. 4 สปช.แล้วมาเป็นสปท. 5 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

เป็นองค์คณะในการกำหนด “ทิศทาง” แห่ง”อำนาจ”

ศึกษาบทเรียนจาก 1 รัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ขณะเดียวกัน 1 ศึกษาบทเรียนจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

และ 1 ศึกษาบทเรียนจาก “ทหาร” แห่ง”เมียนมา”

การร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็น “เครื่องมือ” 1 เนื้อหาของรัฐธรรมนูญจึงเป็นอีกเครื่องมือ 1

เมียนมาอาจกำหนดจำนวนทหารในรัฐสภาไว้เพียงร้อยละ 25

แต่ข้อเสนอของคสช.กำหนดไว้เลยว่า ส.ว.อันมาจากการแต่งตั้งของคสช.มีจำนวน 250 จากจำนวน ส.ส.มีอยู่ 500

เท่ากับมีอยู่ร้อยละ 50

เพียงเท่านี้ ส.ส.อันมาจากการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองก็ยากที่จะต่อกรได้กับ ส.ว.อันมาจากการแต่งตั้ง

อาศัยเสียงจาก ส.ส.เพียง 150 ก็บอกได้เลยว่าใครกุมอำนาจอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญอย่างนี้มิได้เพื่อการสืบทอดอำนาจ หากแต่เพื่อการประคับประคองบ้านเมือง ประคับประคองระบอบประชาธิปไตยในระยะ”เปลี่ยนผ่าน”

ที่สำคัญจะ”เปลี่ยนผ่าน”กันยาวนาน แค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image