เผยพาณิชย์ดีสุดเปิดเผยข้อมูล กก.ปฎิรูปชี้ถ้าหยุดขรก.โกงได้ จะมีเงินสร้างไฮสปีดเทรน

ป.ป.ช. จัดเสวนา “สะอาด โปร่งใส ภาครัฐร่วมใจ สู่ไทยแลนด์ 4.0” เลขาฯ ก.พ.” เผย พณ. เปิดเผยข้อมูลมากสุด แนะภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลทางราชการมากขึ้น ให้ปชช.ใช้ประโยชน์-ตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 18 ปี โดยภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “สะอาด โปร่งใส ภาครัฐร่วมใจ สู่ไทยแลนด์ 4.0”

โดยนางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่จะทำให้การทำงานของภาครัฐมีความสะอาด โปร่งใส คือการเปิดเผยข้อมูลทางราชการของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าหน่วยงานรัฐที่มีการเปิดเผยข้อมูลทางราชการสูงสุดคือกระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลเรื่องการจัดแจ้งบริษัทการค้า แต่ข้าราชการจะต้องคำนึงว่าในการเปิดเผยข้อมูลที่ว่านี้ จะต้องเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ ไม่มีกั๊ก เป็นข้อมูลจริงที่ครบถ้วนถูกต้อง ไม่มีการแก้ไขใดๆ และเปิดเผยได้อย่างทันเวลา จึงจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์และเกิดการตรวจสอบอย่างแท้จริง ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ต้องไปดูรายละเอียดว่าข้อมูลใดที่เปิดเผยได้และข้อมูลใดที่จะต้องปกปิด นอกจากนั้นประชาชนต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆในการเข้าถึงข้อมูลทางราชการ รวมทั้งต้องมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล สามารถใช้สมาร์ทโฟนดูได้ นอกจากการเปิดเผยข้อมูลทางราชการแล้วการปรับตัวของข้าราชการก็มีส่วนสำคัญ ทั้งการบูรณาการในเรื่องดิจิตอลมากขึ้น การสร้างข้าราชการ 4.0 ที่ทำงานในระบบดิจิตอลมากขึ้น มีความพร้อมตลอดโดยอาศัยช่องทางการสื่อสารในระบบดิจิตอลในการทำงาน ซึ่งขณะนี้ ก.พ.เองกำลังดำเนินการให้เกิดข้าราชการ 4.0 โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าข้าราชการจำนวน 40,000 ราย โดยแบ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ 30 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริหารระดับกลางในหน่วยงานต่างๆ 30 เปอร์เซ็นต์ และข้าราชการระดับล่างอีก 40 เปอร์เซ็นต์

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในทุกวันนี้เครือข่ายประชาชนเริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด ที่ประชาชนเข้ามาสะท้อนปัญหาด้านต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งตนมองว่าการสร้างวัฒนธรรมการร้องเรียน สร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบของประชาชน ทั้งการตรวจสอบข้าราชการ หรือตรวจสอบประชาชนด้วยกันเอง จะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบในอนาคต อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าหากการตรวจสอบของภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ก็จะกลายเป็นแรงบีบให้ข้าราชการจะต้องเปลี่ยนแปลงการทำงาน แต่หากการตรวจสอบของประชาชนไม่เข้าแข็ง การเปลี่ยนแปลงโดยตัวของข้าราชการเองคงจะเกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตามมองว่าข้าราชการจะต้องมีการบูรณาการการทำงานให้มากขึ้น อย่างยึดติดรูปแบบ ควรเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด

Advertisement

ด้านพล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า การทุจริตในวงราชการถือเป็นปัญหาใหญ่ ที่เป็นเหมือนกาฝากของประเทศ เพราะเคยมีรายงานจาก สตง.ว่าในบางปีมีงบประมาณแผ่นดินรั่วไหลถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท สาเหตุหลักของการรั่วไหลก็คือข้าราชการ หากเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตในวงข้าราชการลงได้ ไม่มีเงินงบประมาณรั่วไหล ก็จะมีเงินมากพอที่จะทำโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลย

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เล็งเห็นว่าปัญหาการทุจริตในวงราชการมีสาเหตุจากผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวมที่ทับซ้อนกัน ที่ผ่านมาจึงมีการเขียนมาตรการป้องกันเรื่องนี้ไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญปี 35 และกฎหมาย ป.ป.ช.ด้วย แต่ที่ผ่านมาการบังคับใช้ยังไม่เคร่งครัด เพราหากพูดกันตามตรงแล้ว ความผิดในมาตรา 103 ของกฎหมาย ป.ป.ช.เรื่องการรับทรัพย์สิน ก็ทำให้ผู้บริหารเกือบทุกหน่วยงานมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว อย่างไรก็ตามในครั้งนี้มีการทำกฎหมายให้ครอบคลุมเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ… ที่กำลังดำเนินการอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image