ยางใต้ ยื่น5ข้อ ชง”บิ๊กตู่”แก้ยางให้ตรงจุด ให้เวลา30 วัน ต้องถึง 60บาท/โล

“สมาคมฯชาวสวนยาง 16 จว.ภาคใต้” เสนอ 5 ข้อแก้ยางราคาตกต่อ “นายกฯ” ชี้ “บิ๊กเบี้ยว” ยังเข้าใจกลุ่มชาวสวนยางไร้เอกสารสิทธิผิด วอนรัฐช่วยเหลือให้ถูกจุด
 
เมื่อเวลา 10.43 น. วันที่ 20 มกราคม ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายสำนักงานก.พ.) กลุ่มสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 15 คน นำโดยนายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกร ชาวสวนยาง  16  จังหวัดภาคใต้ ได้เดินทางมายื่นหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยยื่นหนังสือผ่านนายพันศักดิ์  เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน
นายสุนทร กล่าวว่า ทางกลุ่มฯมีมติเสนอแนวทางแก้ปัญหาราคายางตกต่ำต่อรัฐบาล 5 ข้อ คือ 1. ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ สามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 4  แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558  2 .ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง  1,500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ 3. ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ได้รับสิทธิตามแนวทางช่วยเหลือ เพื่อรับซื้อยางประเภทต่างๆ จากเกษตรกรรายย่อยโดยตรงของรัฐบาล ในราคาชี้นำตลาด  45 บาทต่อกิโลกรัม  4 .ให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบคุณภาพยางในสต๊อก 3.7 ล้านตัน ก่อนนำเข้าเก็บรักษาในโกดังของทหาร ด้วยวิธีผ่ายางลูกขุน เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริง กรณีมีข้อกล่าวหาการทุจริตยางที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดการหมุนเวียนเอายางในสต๊อกมาขาย  5. ให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบความจริงกรณีข่าวว่ามีการลักลอบส่งออกยางโดยไม่จ่ายภาษี จำนวน 5 แสนตันต่อปี ที่ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา
เมื่อถามว่า ทางกลุ่มฯพอใจกับราคาที่รัฐบาลชี้นำยางพาราในราคา 45 บาทต่อกก. นายสุนทร กล่าวว่า จากมติเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เราให้เวลารัฐบาล 30 วันที่จะทำอย่างไรให้ราคายางไปถึงกก.ละ 60 บาทให้ได้ เพราะฉะนั้นวิธีการชี้นำราคาจาก 45 บาทให้ไปถึง 60 บาท ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี เพราะทำให้ราคาในตลาดขยับขึ้นเกือบ 10 บาทต่อกก. หากเทียบกับปลายปี 2558 แต่คนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนที่กรีดยางและผู้ที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์กว่า 500,000 ครัวเรือน ซึ่งตามมติครม.ที่ผ่านมาเรื่องโครงการชี้นำราคายาง ซึ่งไม่ปิดกั้นยางจากพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ซื้อยางในราคา 45 บาทไม่เกิน 150 กก.ต่อครัวเรือน กลายเป็นผู้ที่จดทะเบียนกับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เท่านั้น ซึ่งผู้ที่ปลูกยางที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่ได้รับประโยชน์ด้วย สรุปว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดกลับไม่ได้อะไรเลย
“ที่พวกเราขึ้นมา เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขให้ตรงจุด ซึ่งวันเดียวกันนี้เวลา 13.00 น. ทางกลุ่มฯจะเดินทางไปหารือร่วมกับ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด กยท. เพื่อเสนอข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ เพราะในประกาศของการยาง ผู้ที่ร่างกฎหมายลูกดังกล่าวกำลังทำผิดกฎหมาย เพราะหากมีผู้เสียหาย เขาก็มีสิทธิที่จะฟ้องศาลปกครองในมาตรา 157 ได้ เพราะเขาเสียสิทธิ เนื่องจากชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็เป็นผู้จ่ายภาษี Cess เช่นกัน และเมื่อจ่ายภาษีก็ต้องได้รับความคุ้มครอง” นายสุนทร กล่าว
เมื่อถามว่า ภายหลังจากยื่นของเสนอให้นายกฯ หากไม่มีความคืบหน้าจะดำเนินการอย่างไร นายสุนทร กล่าวว่า ทางกลุ่มฯก็คงต้องขับเคลื่อน เนื่องจากเราถูกละเมิดสิทธิและไม่ได้รับสิทธิ ทั้งๆที่เราถูกคุ้มครอง หากจะต้องฟ้องศาลปกครองตามมาตรา 157 เราก็ต้องทำ และหากรัฐบาลไม่ให้ความสนใจกับข้อเรียกร้อง เราก็คงต้องออกมาเคลื่อนไหวกดดัน ซึ่งเราจะประชุมหารือกับแนวร่วมกลุ่มอื่นๆ ด้วย ก่อนที่จะกำหนดกรอบเวลาเคลื่อนไหว
“ผมได้มีโอกาสได้คุยกับบอร์ด กยท.ที่เป็นตัวแทนของเกษตรกร พบว่าประธานบอร์ด กยท.ยังเข้าใจผิดว่า หากจดทะเบียนให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จะเป็นการส่งเสริมให้คนทำผิดกฎหมาย และยังเข้าใจอีกว่าคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นพวกนายทุน ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ที่ผ่านมาจากแผนแม่บทการโค่นยาง ไม่มีนายทุนที่มียางกว่าพันไร่ถูกโค่น มีแต่เพียงชาวสวนยางรายย่อยที่มีสวนยางไม่เกิน 15 ไร่” นายสุนทร กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image