บก.ฟอรั่ม วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2560

หลังคาคลุม

เรียน บก.ฟอรั่ม

มติชนรายวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 60 สถานีคิดเลขที่ 12 “น้ำวน” เราเพิ่งมาเริ่มกันใหม่ บทรายงานของโต๊ะเศรษฐกิจในมติชนสุดสัปดาห์ระบุว่า หลังมีการรัฐประหาร 2557 มีการผลักดัน 9 โครงการ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ 12 ปี (2558-2509) มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท ทุกอย่างยังลอยอยู่ในอากาศ สิ่งที่แก้ไขอยู่ขณะนี้เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าเท่านั้น นี่เป็นทุกข์เป็นดังน้ำวนของคนไทย

จนกระทั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 46/2560 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 60 ที่ผ่านมา คสช.ใช้มาตรา 44 จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำธรรมชาติในเวลาเดียวกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว คสช.ควรสั่งยุบคณะทำงานกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับน้ำทุกคณะ “ทิ้ง” ให้หมดด้วย เพราะเปลืองงบประมาณปราศจากผลงาน ดีแต่พ่นน้ำลายจินตนาการให้วันเวลาผ่านไป

Advertisement

อีกทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก็ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ถ้า 9 โครงการงบ 2.4 ล้านบาทเกิดขึ้นจริง น่าจะโอนงบ 2.4 แสนล้านบาทไปสร้างกำแพง (เมืองจีน) กันน้ำทะเลหนุนจาก จ.สมุทรปราการ ถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะคุ้มค่ากว่าไหม?

ประการต่อมา พื้นที่ประสบน้ำท่วมอยู่ขณะนี้ 17 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ปทุมธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี เห็นควรของบประมาณฉุกเฉินจากรัฐบาล เมื่อรัฐให้งบมาแล้วให้แต่ละจังหวัดเริ่มงานทันที 1 มกราคม 61-30 มิถุนายน 61 หรือถึง 30 กันยายน 61

จะใช้ Model จาก อบต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ผสมผสานกับ Model ธนาคารน้ำประเทศฟิลิปปินส์ ทะเลสาบ (Lake) ประเทศฟินแลนด์ หรือจะขุดแม่น้ำเพิ่มอีก 1-2 ลาย ขุดบ่อ อ่างเก็บน้ำ ทำคลองชลประทาน รางน้ำแบบใยแมลงมุม ให้ผู้ว่าฯและประชาชนจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้จัดทำโครงการงบประมาณ บริหารจัดการกันเอง (ขอพูดย้ำไม่มีใครรู้ดีกว่าคนพื้นที่) แต่ให้เกียรติอยู่ในความดูแลเสนอแนะของสำนักงบประมาณ ปี 61 ไม่เสร็จก็ต่อไปให้ครบมี 4.0=20 ปี

Advertisement

ปัญหาน้ำท่วมขัง กทม. เมื่อ 13 ตุลาคม 60 เห็นผู้ว่าฯโชว์เดี่ยวกลางสายฝน อื่นๆ หายกันไปไหนหมด? หลายปีผ่านมา กทม.ไม่เคยพัฒนาข้อมูล ยังทำงานแบบรูทีน ฝนตกน้ำท่วมขังที่ไหน นานเท่าไร กี่วัน กี่ชั่วโมงไม่รู้ทั่วกรุงเทพฯ ถ้าลอกคูคลอง รางระบายน้ำ ทำประตูน้ำ 1,682 คลอง พอฝนจะมาพร่องน้ำออกจากคลองเพื่อรองรับน้ำฝน

ผู้ว่าฯกทม.ลองออกคำสั่งครั้งต่อไปฝนตกท่วมขังเขตไหนระบายไม่หมดภายใน 1 ชม.ต้องถูกปลด รับประกันน้ำไม่ท่วมครับ อย่าให้คิดว่าตามที่ท่านศรีสุวรรณ จรรยา แถลงการณ์ว่า ผู้ว่าฯกทม.ไร้ประสิทธิภาพและความสามารถเป็นเรื่องจริง ผู้ว่าฯกทม.คิดจะขยายท่อน้ำจาก 60-70 ซม. ให้ใหญ่ขึ้น ผมคิดว่าทำหลังคาคลุม กทม.เลยดีไหม?

ขอแสดงความนับถือ
ไพฑูรย์

ตอบคุณไพฑูรย์

เข้าใจได้ว่า เป็นความอัดอั้นของประชาชนที่รอคอยการแก้ไขปัญหา เพราะหลายพื้นที่แช่น้ำกันยาว แต่ในภาคกลางข่าวว่า ในต้นเดือน ธ.ค.นี้ น่าจะแห้ง ชีวิตกลับคืนสู่ปกติกันโดยถ้วนหน้า
ขณะนี้ผู้มีบทบาทในบ้านเมืองมาจากระบบราชการเป็นส่วนมาก ฉะนั้น จะมีวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง ยึดระเบียบแบบแผนต่างๆ มากกว่านักการเมืองที่จะพยายามเน้นความรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาให้ทันความต้องการของประชาชน
ถ้าจะสร้างหลังคาคลุม กทม.กันจริง กว่าจะสร้างเสร็จ อาจยืดยาวไปมากกว่าที่คิดครับ

ชี้แจง

เรื่อง ชี้แจงข่าวกรณีกลุ่มเครือข่ายผู้ประกันตน ชี้ปฏิรูป 2 ปียังไม่สมบูรณ์

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน

ตามที่อ้างถึง หนังสือพิมพ์มติชน เสนอข่าว สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเพื่อพัฒนานโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะ และการมีหลักประกันทางสังคมสำหรับคนทำงาน (คสปค.) จัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผู้ประกันตนไม่ได้รับความสะดวก โรงพยาบาลให้บริการมีจำนวนน้อย การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม มาตรา 8 และสิทธิประโยชน์แรงงานนอกระบบ (ผู้ประกันตนตามมาตรา 40) นั้น

สำนักงานประกันสังคม ขอนำเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1.สำนักงานประกันสังคม ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 โดยผู้กันตนสามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติหรือโรคซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลไปยังสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและกำกับติดตามกรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรับบริการได้

2.คณะอนุกรรมการการพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบประกันสังคมเห็นชอบในหลักการข้อเสนอร่างปรับปรุงขยายเกณฑ์อายุของผู้ประกันตนให้สามารถได้รับการตรวจสุขภาพได้เร็วขึ้นจากเดิม 55 ปีขึ้นไป เป็น 50 ปีขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับวัยทำงานก่อนเกษียณอายุและการขอรับเงินบำนาญของผู้ประกันตนโดยเพิ่มรายการและอัตราค่าตรวจสุขภาพ ได้แก่ การซักประวัติเพื่อค้นหาความผิดปกติและปริมาณความเสี่ยงด้านสุขภาพ เมื่อซักประวัติพบว่ามีความเสี่ยงจะนำเข้าสู่กระบวนการรักษา ประเมินความเสี่ยงวัยทำงาน ตรวจการทำงานของไตและตับ ไขมันในเส้นเลือด เป็นต้น ทั้งนี้ รายการและอัตราค่าตรวจสุขภาพดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเสนอคณะกรรมการการแพทย์ต่อไป

3.สำนักงานประกันสังคม ได้จัดทำร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. …โดยเนื้อหาหลักกำหนดให้มีเพียง 1 เขตเลือกตั้ง และให้ผู้ประกันตนทั่วประเทศลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครพร้อมกันและกำหนดให้มีคณะกรรมการเลือกตั้งฯ เพื่อดำเนินการกำหนดที่เลือกตั้ง รับสมัคร การเลือกตั้งกำกับดูแลการลงคะแนน นับคะแนน และประกาศผล ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณาร่างกฎหมายสำนักงานประกันสังคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเห็นชอบในหลักการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงาน

4.สำนักงานประกันสังคม ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 โดยการพัฒนา 2 แนวทางคือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ไม่เพิ่มเงินสมทบ (ทางเลือกเดิม) และเพิ่มทางเลือกใหม่โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์และเพิ่มเงินสมทบ
จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ
นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์
ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติราชการแทน
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

เดือดร้อน

เรื่อง คัดค้านโครงการทางหลวงชนบท (จากสะพานนนทบุรี 1-ถนนกาญจนาภิเษก) จ.นนทบุรี
เรียน บก.ฟอรั่ม หนังสือพิมพ์มติชน

เนื่องจากพวกเราหลายชุมชนได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากโครงการทางหลวงชนบทที่จะสร้างต่อเชื่อมจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (ถนนนนทบุรี 1-ถนนราชพฤกษ์) มาออกถนนกาญจนาภิเษก ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งมีการทำประชาคมเมื่อกลางปี 2558-2559 และช่วงเวลานี้อยู่ระหว่างการทำสำรวจสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยที่ผ่านมาแต่แรกเริ่มประชาพิจารณ์กับชุมชนในพื้นที่และใกล้เคียง พวกเราหลายชุมชนได้คัดค้านโครงการดังกล่าวนี้มาตลอด และได้ทำหนังสือคัดค้านโครงการนี้ พร้อมกับรายชื่อผู้คัดค้านที่ได้รับผลกระทบประมาณ 900 รายชื่อ รวมถึงเหตุผลหลายประเด็นเพื่อให้ยุติและยกเลิกโครงการคือ

1.อ้างถึงที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบทมีจุดประสงค์และแผนงานเดิมแต่แรก ตามแผนแม่บทโครงการนี้ปี 2547-2549 คือโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนนนทบุรี 1-ถนนราชพฤกษ์ เมื่อเสร็จแล้วจะต้องสร้างต่อเชื่อมไปออกถนนวิภาวดีรังสิต (ใกล้วัดเสมียนนารี) เพื่อระบายการจราจรติดขัดในเมืองนนทบุรีโดยรอบบริเวณถนนติวานนท์ (สี่แยกแคราย), ถนนรัตนาธิเบศร์, ถนนงามวงศ์วาน และถนนนครอินทร์ (สะพานพระราม 5 ขาเข้า) ที่มีรถติดขัดหนาแน่นมากเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรละแวกนี้ได้ตามแผนแม่บทโครงการ ซึ่งมีแนวทางตัดถนนเชื่อมจากโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งถนนนนทบุรี 1-อ้อมหลังกระทรวงสาธารณสุขไปสิ้นสุดที่ถนนวิภาวดีรังสิต (ใกล้วัดเสมียนนารี เพื่อเป็นการแก้ปัญหาจราจรในฝั่งขาเข้าเมืองนนทบุรี ให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่โครงการถนนต่อเชื่อมจากฝั่งถนนนนทบุรี 1 ไปออกถนนวิภาวดีรังสิตดังกล่าวนี้ กรมทางหลวงชนบทไม่สามารถดำเนินการต่อเชื่อมถนนตัดใหม่ไปออกถนนวิภาวดีรังสิตตามเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่สำคัญดังกล่าว เนื่องจากปี 2551 มีชุมชนคัดค้านโครงการนี้ จนกระทั่งมีประกาศจากกระทรวงคมนาคมให้ยุติยกเลิกโครงการนี้ไปแล้ว

2.ในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 5 ปี (2551-2557) ก่อนที่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนนนทบุรี 1 จะสร้างเสร็จ (ปลายปี 2557 กรมทางหลวงชนบทไม่มีการวางแผนสำรวจหาแนวเส้นทางใหม่ที่เหมาะสม เพื่อมีถนนต่อเชื่อมไปออกถนนวิภาวดีรังสิตเลยเพื่อให้ตรงตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์แต่แรกของทุกฝ่าย ในการแก้ปัญหาจราจรกลางเมืองนนทบุรีให้สำเร็จ แต่กลับหันมาสำรวจวางเส้นทางใหม่จากถนนราชพฤกษ์ (ใกล้วัดโบสถ์ดอนพรหม) มาออกถนนกาญจนาภิเษก (ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี) ซึ่งเป็นการโยกย้ายโครงการที่เป็นการขัดเป้าหมายจุดประสงค์หลักเดิม ตามแผนแม่บทโครงการนี้ของกรมทางหลวงชนบท ในการแก้ปัญหาจราจรแออัดในฝั่งเมืองนนทบุรี มาเป็นโครงการใหม่เส้นทางใหม่ที่พวกเราคัดค้านอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นการสร้างโครงการใหม่เพื่อใช้งบประมาณแบบไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งไม่มีความจำเป็นหรือความต้องการของคนในพื้นที่โดยรวมและใกล้เคียง และเป็นการสร้างผลกระทบกับชุมชนต้นทางและปลายทาง และชุมชนใกล้เคียงโดยรอบ และจุดสำคัญจะสร้างปัญหาการจราจรติดขัดมากขึ้นให้กับถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) จ.นนทบุรี ที่ต้องรองรับโครงข่ายคมนาคมต่างๆ เช่น ทางหลวงพิเศษ (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก (ปากทางวัดศรีประวัติ จ.นนทบุรี), รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่) ในระยะทางเพียง 8 กม. รวมถึงมีห้างสรรพสินค้าใหญ่หลายแห่งบนถนนหลวงสายนี้ และทราบว่าจะมีโครงการทางหลวงพิเศษยกระดับบนเกาะกลางถนนกาญจนาภิเษก (จากบางใหญ่-ถนนพระราม 2) เพื่อต่อเชื่อมกับทางหลวงพิเศษ (บางใหญ่-กาญจนบุรี) ในอนาคตซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมเส้นทางหลวงพิเศษตะวันตก-ตะวันออก (ท่าเรือทวาย-แหลมฉบัง)

3.ในขณะนี้กรมทางหลวงชนบทได้เริ่มดำเนินการสำรวจถนนต่อเชื่อมใหม่จากหัวถนนนครอินทร์ (แยกต่างระดับบางคูเวียง) บนถนนกาญจนาภิเษก จ.นนทบุรี ไปสิ้นสุดที่ ต.ศาลายา จ.นครปฐม เริ่มเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งชุมชนพื้นที่และใกล้เคียงส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นพื้นที่เหมาะสมและคุ้มค่าการลงทุนในทุกด้าน และโครงการนี้อยู่ห่างเพียง 1.5 กม.จากโครงการถนนต่อเชื่อมจากถนนราชพฤกษ์ (วัดโบสถ์ดอนพรหม)-ถนนกาญจนาภิเษก (ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี) ที่พวกเราคัดค้านตั้งแต่เริ่มแรกสำรวจโครงการ ที่ผิดเป้าประสงค์หลักและแผนแม่บทโครงการปี 2549

โดยพื้นที่และตำแหน่งถนนนครอินทร์เพื่อการต่อเชื่อมถนนตัดใหม่ ในภาพรวมเป็นแนวเส้นทางที่เหมาะสม มีความคุ้มค่าและได้ประโยชน์มากที่สุด สามารถต่อเชื่อมทางได้เร็วและง่ายกว่าถนนโครงการต่อเชื่อมจากถนนราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษกที่พวกเราได้คัดค้านและให้ยกเลิกโครงการ ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงชนบทกำลังดำเนินการสำรวจเส้นทางต่อเชื่อมใหม่จากถนนกาญจนาภิเษก (จุดที่คัดค้าน) ไปออกบริเวณ ต.ศาลายา จ.นครปฐมอีกด้วย ทุกฝ่ายน่าจะมองเห็น และเปรียบเทียบ 2 โครงการดังกล่าวนี้ที่อยู่ใกล้กันมาก (เพียง 2 ป้ายรถเมล์) ต้นทางและปลายทางต่อเชื่อมใหม่ ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงสายเดียวกันทั้งหมด ตามที่ได้ชี้แจงและร้องเรียนเป็นหนังสือไปยัง รมว.คมนาคมและกรมทางหลวงชนบท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558-เดือนมิถุนายน 2559 จำนวน 3 ฉบับ แต่มีการชี้แจงจากกรมทางหลวงชนบทเพียง 1 ฉบับ ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นการชี้แจงข้อมูลตามที่บริษัทที่ปรึกษาสำรวจและรับฟังความคิดเห็นชุมชนในพื้นที่ที่มีข้อมูลไม่รอบด้าน ไม่ชัดเจนเรื่องผลกระทบต่างๆ รวมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นการคิดวิเคราะห์หรือวางแผนผังโครงข่ายถนนตัดใหม่เฉพาะจุดไม่มองภาพรวมรอบด้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบกับชุมชนและด้านการจราจรกับถนนสายหลักโดยเฉพาะถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก) จ.นนทบุรี ที่ต้องรองรับโครงข่ายคมนาคมต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น

พวกเราจึงขอให้กระทรวงคมนาคมโดยท่านรัฐมนตรีว่าการ โปรดรับพิจารณาทบทวนใหม่โครงการที่กล่าวถึงข้างต้น ที่ได้ทำหนังสือและลงชื่อคัดค้านไว้แล้วเมื่อปี 2558 สมควรยุติและยกเลิกโครงการถนนต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนนนทบุรี 1 (ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี) เพื่อความถูกต้องตามแบบแผนแม่บทเดิม และเป็นการประหยัดงบประมาณการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า (หลายพันล้านบาท) ไม่เหมาะสมกับพื้นที่และสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตกับถนนสายหลักโดยรอบ ซึ่งเป็นโครงการถนนตัดใหม่ที่ซ้ำซ้อนและใกล้เคียงกับถนนนครอินทร์-ศาลายาเป็นอย่างมาก รวมถึงสามารถลดผลกระทบกับชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และผลกระทบด้านการจราจรขนส่งที่จะเกิดขึ้นให้มีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น เป็นการสร้างความเจริญให้ถูกที่และสร้างถนนให้ถูกทาง และขอให้มีความชัดเจนโดยเร็ว และแนวทางที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมทั้งหมด เพราะพวกเรารอผลสรุปมาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่ส่งผลกระทบการลงทุนและจิตใจของผู้อยู่ในชุมชน กับโครงการที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมกับพื้นที่

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง
ชาวชุมชนบริเวณวัดโบสถ์ดอนพรหม
ชาวชุมชน ต.บางกร่าง, ต.บางเลน, ต.บางม่วง
ชาวชุมชนการค้าบริเวณถนนกาญจนาภิเษก อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image